กรุงเทพฯ--7 ส.ค.--มหาวิทยาลัยรามคำแหง
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ร่วมกับสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ แถลงข่าวการจัดประชุมวิชาการนานาชาติทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ครั้งที่ 46 โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.วรรณา มุสิก คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ศาสตราจารย์ ดร.ศุภวรรณ ตันตยานนท์ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และศาสตราจารย์ ดร.สมเกียรติ งามประเสริฐสิทธิ์ ประธานจัดการประชุมฯร่วมชี้แจงรายละเอียด เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2563 ณ ห้องประชุม 2 ชั้น 2 อาคารวิทยบริการและบริหาร
การประชุมวิชาการนานาชาติฯครั้งนี้ จัดขึ้นในหัวข้อ “Power of Science to Achieve SDGs : พลังของวิทยาศาสตร์สู่เป้าหมายการพัฒนาแบบยั่งยืน” ระหว่างวันที่ 5-7 ตุลาคม 2563 ณ อาคารหอประชุมพ่อขุนรามคำแหงมหาราช โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จทรงเป็นองค์ประธานเปิดการประชุมในวันที่ 5 ตุลาคม 2563 และจะทรงประทับรับฟังปาฐกถาพิเศษจาก ศาสตราจารย์ ดร.จอห์น วอร์เนอร์ จากประเทศสหรัฐอเมริกา และนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี 2563 และเสด็จเยี่ยมชมนิทรรศการด้วย
โอกาสนี้ รศ.ดร.วรรณา มุสิก คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง จัดการเรียนการสอนมานับถึงปีนี้ เป็นปีที่ 46 ซึ่งสอดคล้องกับการประชุมวิชาการนานาชาติ STT46 คณะวิทยาศาสตร์มีศูนย์วิจัยฯ และกลุ่มวิจัยฯ ที่มีความหลากหลาย เช่น นวัตกรรมทางเคมี การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศระดับภูมิภาคและพลังงานทดแทน การเรียนรู้การเกษตรอินทรีย์วิถีพอเพียงตามแนวพระราชดำริ ไลเคน ความหลากหลายทางชีวภาพในทะเล ฯลฯ การประชุมครั้งนี้ คณะวิทยาศาสตร์จะนำเสนอผลงานการวิจัยของอาจารย์และนักศึกษาจากสาขาวิชาต่าง ๆ รวมทั้ง Symposium ที่น่าสนใจ เช่น Biodiversity of Marine Benthic Fauna, Science-based Sustainable Tourism, Marine Plastic Abatement, Lichens: Diversity, Ecology and Biomonitoring, Natural Products for Drug Discovery เป็นต้น
คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ กล่าวอีกว่า ด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โควิด-19 และการปรับตัวสู่ New Normal การจัดประชุมครั้งนี้ จึงมีมาตรการในการคัดกรองผู้เข้าร่วมการประชุมทั้งภาคบรรยาย ภาคโปสเตอร์ และการชมนิทรรศการในงานปีนี้อย่างเข้มงวด เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของกระทรวงสาธารณสุข ผู้จัดการประชุมจึงจัดให้มีการเข้าร่วมงานประชุมทั้งภาคบรรยาย ภาคโปสเตอร์ และการชมนิทรรศการ โดยแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ
รูปแบบ Online คือการเข้าร่วมการประชุมในรูปแบบออนไลน์ผ่านช่องทางต่าง ๆ ที่ผู้จัดการประชุมจัดเตรียมไว้เพื่อรองรับการรับเข้าร่วมการประชุมจากสถานที่ต่างๆรูปแบบ Onsite คือ การเข้าร่วมประชุม ณ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ทั้งที่อาคารหอประชุมพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และอาคารศรีศรัทธา โดยมีมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม และความสะอาดของห้องประชุม ซึ่งจะลดความแออัดของผู้เข้าร่วมประชุม โดยจัดเว้นระยะห่างระหว่างโต๊ะ และเก้าอี้ และดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ โดยคำนึงถึงมาตรการและข้อกำหนดที่ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ขณะที่ ศ.ดร.ศุภวรรณ ตันตยานนท์ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นสมาคมวิชาการที่ดำเนินกิจกรรมด้านการส่งเสริมวิทยาศาสตร์มาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 72 ปีแล้ว กิจกรรมที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี คือ การประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย จึงได้ยกระดับของการประชุมจากเดิมระดับชาติเป็นระดับนานาชาติ เพื่อให้ชาวต่างชาติสามารถเข้ามาร่วมประชุมเป็นจำนวนมากได้ เรียกชื่อการประชุมว่า The 46th International Congress on Science, Technology and Technology-based Innovation (STT46) โดยมีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นเจ้าภาพร่วมในการจัดประชุม ซึ่งได้พิจารณาเลือกหัวข้อการประชุม คือ “Power of Science to Achieve SDGs” “พลังของวิทยาศาสตร์สู่เป้าหมายการพัฒนาแบบยั่งยืน” เป็นหัวข้อที่สำคัญตรงตามวัตถุประสงค์ของสหประชาชาติ ซึ่งจะทำให้ความเป็นอยู่ของมนุษย์ดีขึ้นและยั่งยืน
ด้าน ศ.ดร.สมเกียรติ งามประเสริฐสิทธิ์ ประธานจัดการประชุมฯ กล่าวว่า การประชุมในปีนี้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธานเปิดงาน ในวันที่ 5 ตุลาคม 2563 ณ อาคารหอประชุมพ่อขุนรามคำแหงมหาราช มหาวิทยาลัยรามคำแหง และจะทรงประทับรับฟังการบรรยายในพิธีเปิดจากนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำ 2 ท่าน ท่านแรกเป็น Plenary Speaker : Professor Dr. John Warner “All fields of Science Addressing The UN Sustainable Development Goals” และการบรรยายจากนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นของประเทศไทย ประจำปี 2563
ประธานจัดการประชุมฯ กล่าวด้วยว่า การจัดงาน STT 46 เป็นการจัดประชุมนานาชาติเต็มรูปแบบ โดยการบรรยายทั้งหมดเป็นภาษาอังกฤษ มีวิทยากรรับเชิญและผู้เสนอผลงานจากในและต่างประเทศทั่วทุกภูมิภาคของโลก โดยจะแบ่งออกเป็น 5 session ย่อยทางด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐานและนวัตกรรม Symposium เฉพาะทางอีก 15 รายการ สำหรับรูปแบบการนำเสนอ จะเป็นการบรรยายแบบปากเปล่าและแบบโปสเตอร์ที่บริเวณจัดงาน ผสมผสานกับการบรรยายผ่านระบบออนไลน์ด้วยระบบ zoom, Facebook live และ YouTube สำหรับผู้นำเสนอชาวต่างประเทศที่ไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้ในช่วงเวลาดังกล่าว