กรุงเทพฯ--7 ส.ค.--กระทรวงสาธารณสุข
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย (WHO) องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNICEF) และมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย รณรงค์การส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในเดือนวันแม่แห่งชาติและสัปดาห์นมแม่โลก ภายใต้แนวคิด "Support Breastfeeding for A Healthier Planet : รักลูก รักเรา รักษ์โลก สนับสนุนให้ลูกกินนมแม่” เพื่อให้ประชาชนเห็นความสำคัญและประโยชน์ของการ เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน รวมทั้งขับเคลื่อนนโยบายและมาตรการในการส่งเสริม สนับสนุน และปกป้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของประเทศไทย
นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังการแถลงข่าวรณรงค์การส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สัปดาห์นมแม่โลกในเดือนวันแม่แห่งชาติ ภายใต้แนวคิด "Support Breastfeeding for A Healthier Planet : รักลูก รักเรา รักษ์โลก สนับสนุนให้ลูกกินนมแม่” ณ โรงแรม มิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร ว่า สัปดาห์นมแม่โลกในปีนี้ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย (WHO) องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNICEF) และมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย เพื่อเน้นย้ำให้ทุกคนในสังคม ช่วยกันสนับสนุนให้เด็กทุกคนได้กินนมแม่ รวมทั้งสื่อสารให้ประขาชนตระหนักถึงความสำคัญและประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน และกินอาหารตามวัยควบคู่กับนมแม่ โดยขับเคลื่อนนโยบาย มาตรการในการส่งเสริม สนับสนุน และปกป้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยมีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน เพียงร้อยละ 23.1 และมีเด็ก ที่ได้กินนมแม่ต่อเนื่องจนถึง 2 ปี เพียงร้อยละ 13
นายแพทย์อรรถพล กล่าวต่อไปว่า การสื่อสารให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ถือได้ว่าเป็นส่วนสำคัญ เพราะนมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารกที่ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโต พัฒนาการทั้งกาย ใจ สติปัญญา และเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน อีกทั้งยังมีประโยชน์ต่อแม่ ช่วยลดการตกเลือดหลังคลอด มดลูกเข้าอู่เร็ว น้ำหนักตัวกลับสู่สภาพเดิมได้เร็วขึ้น ลดโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ นอกจากนี้ นมแม่ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะนมแม่เป็นอาหารจากธรรมชาติ ไม่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการผลิต การบรรจุ การจัดเก็บ การขนส่งหรือการกำจัด ซึ่งทำให้ลดการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติอีกด้วย
"ทั้งนี้ กรมอนามัยได้ร่วมกับบริษัทขนส่งจำกัด บริษัทนครชัยแอร์ และสายการบินไทยแอร์เอเชีย ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกัน เพื่อขนส่งนมแม่แช่แข็งจากทั่วประเทศจัดส่งให้กับลูกที่อยู่กับปู่ย่าตายายในต่างจังหวัดโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมให้ลูกมีโอกาสได้กินนมแม่จนครบ 6 เดือน นอกจากนี้ สำหรับสถานการณ์ที่มีการ แพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ผ่านมาอาจเกิดความกังวลและสับสนในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ กรมอนามัยจึงขอเน้นย้ำให้คุณแม่หลังคลอดทุกคน สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ตามปกติ แต่ควรระวังการสัมผัสเชื้อ โดยต้องล้างมือก่อนสัมผัสทารกและสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา หลีกเลี่ยงการไอหรือจามขณะให้นมลูก และในส่วนของ ผู้ที่ต้องการบริจาคสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภค หรือนมผง ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมอนามัย เพื่อให้ไม่เกิดการละเมิดพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ.2560” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ด้านแพทย์หญิงศิริพร กัญชนะ ประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า บทบาทสำคัญของมูลนิธิฯ คือการพัฒนาและสนับสนุนด้านวิชาการ เผยแพร่ความรู้นมแม่แก่บุคลากรสาธารณสุข ภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง และประชาชนทั่วไป โดยสนับสนุนการมีส่วนร่วมและพัฒนาความเข้มแข็งของเครือข่ายตั้งแต่ในระดับโรงเรียนแพทย์ สถานบริการสาธารณสุข สถานที่ทำงาน และในชุมชน ซึ่งจากการดำเนินงานที่ผ่านมา มูลนิธิศูนย์นมแม่ฯได้มีส่วนสนับสนุน ตลอดจนสร้างและพัฒนาต้นแบบการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นำร่องในระดับต่างๆ เช่น สนับสนุนการดำเนินงานโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูก การผลักดันให้มีระบบการให้นมแม่ในทารกป่วย ในโรงพยาบาล สนับสนุนการพัฒนาหลักสูตรนมแม่ในโรงเรียนแพทย์ - โรงเรียนพยาบาล พัฒนามุมนมแม่ในสถานประกอบการต้นแบบ ริเริ่มให้มีการผลิตถุงน้ำนมแม่ เพื่อความสะดวกในการเก็บน้ำนมแม่สำหรับแม่ทำงานนอกบ้าน รวมทั้งสนับสนุนนมแม่ในชุมชนต้นแบบ เกิดการนำไปขยายผลต่อ ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดกลุ่มสนับสนุนนมแม่ในชุมชนรวมถึงในสังคมออนไลน์ และยังร่วมในการปกป้องนมแม่ ผลักดันจนเกิดพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ 2560 หรือ พ.ร.บ นมผง เป็นกฎหมายฉบับแรกของประเทศที่คุ้มครองทารกและเด็กเล็ก เพื่อให้เด็กไทยได้กินนมแม่อย่างเต็มที่
Dr. Liviu Vedrasco, Programme Officer องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า การเลี้ยงลูก ด้วยนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิตเป็นการเริ่มต้นที่ดีที่สุดสำหรับทารก และประโยชน์ของนมแม่นั้นมีต่อเนื่องไปตลอดชีวิต ดังนั้น การเข้าถึงบริการให้คำปรึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จากบุคลากรสาธารณสุขที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญจึงมีความสำคัญ ที่จะช่วยให้คุณแม่และครอบครัวได้รับความช่วยเหลือ คำแนะนำ และข้อมูลที่จำเป็นเพื่อการเลี้ยงดูทารกได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโรคโควิด 19 การค้นหานวัตกรรม หรือแนวทางใหม่ๆ ที่จะช่วยให้คุณแม่ และครอบครัวได้รับบริการให้คำปรึกษา และการสนับสนุนเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่จำเป็นอย่างต่อเนื่องจึงเป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง
คุณรอชนี บาซู รักษาการผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า ถึงแม้ว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะเป็น สิ่งธรรมชาติ แต่ก็ไม่ง่ายเสมอไป จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการสนับสนุนจากบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเพื่อช่วยเหลือให้แม่ได้เริ่มต้นบนเส้นทางของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างถูกต้อง ดังนั้น เราจึงต้องลงทุนกับการสร้างบุคลากรที่สามารถให้คำปรึกษาเรื่องนมแม่ เพื่อให้แม่ทุกคนได้รับการสนับสนุนเมื่อพวกเขาต้องการ ในช่วงการระบาดของโรคโควิด 19 เรายิ่งต้องการวิธีการใหม่ๆ เพื่อจะให้แม่สามารถเข้าถึงการบริการเหล่านี้ได้อย่างต่อเนื่อง การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อย่างเดียว 6 เดือนและต่อเนื่องถึง 2 ปี สามารถเป็นไปได้หากมีการสนับสนุนที่ถูกต้อง