กรุงเทพฯ--11 ส.ค.--กรุงเทพมหานคร
นายพานุรักษ์ กลั่นนุรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กทม. กล่าวกรณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.) มอบนโยบายและแนวทางการดำเนินงานด้านการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน โดยขอความร่วมมือทุกภาคส่วนมุ่งขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขอุบัติเหตุทางถนนว่า กรุงเทพมหานครมีแนวทางขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้แก่ การจัดตั้งศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนกรุงเทพมหานคร (ศปถ.กทม.) ผนึกกำลังเครือข่ายภายใต้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนระดับประเทศ ผนึกกลไก ศปถ.กทม. ในระดับเขต ศปถ.เขต เพื่อลดอุบัติเหตุเชิงรุก จัดกิจกรรมรณรงค์ทุกเทศกาลแห่งความสุข “ฉุกใจ ไม่ฉุกเฉิน” เพื่อให้กลุ่มผู้ใช้ยานพาหนะได้ตระหนักถึงความสำคัญ สาเหตุ ปัจจัยที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ ขณะเดียวกันสำนักงานเขตยังได้รวบรวมข้อมูลจุดเสี่ยงที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยในพื้นที่เขต ซึ่งปัจจุบันได้รวบรวมจุดเสี่ยงแล้ว จำนวน 102 จุดเสี่ยง และแก้ไขจุดเสี่ยงแล้วเสร็จ จำนวน 33 จุดเสี่ยง คาดว่าจะแก้ไขจุดเสี่ยงครบภายในเดือนสิงหาคม 2563 นอกจากนั้น ยังได้บำรุงรักษาป้าย สัญลักษณ์เครื่องหมายจราจรบนถนนสายต่าง ๆ ที่อยู่ในความดูแลของกรุงเทพมหานครให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานและมีความปลอดภัยตามหลักวิศวกรรมจราจร เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน และสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้เส้นทาง โดยเฉพาะในกลุ่มบุคคลที่มีความบอบบาง เช่น โครงการจัดทำช่องทางพิเศษสำหรับรถกู้ชีพฉุกเฉิน (Emergency Lane) โครงการ School Zone …Safety Zone หน้าโรงเรียนปลอดภัยด้วยเครื่องหมายจราจร ตลอดจนบูรณาการวิเคราะห์สาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุทางถนน โดยจัดตั้งทีมสืบสวนอุบัติเหตุ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (กรมควบคุมโรคไม่ติดต่อ) ตำรวจจราจร สถานีตำรวจนครบาลในพื้นที่ สำนักงานเขต มูลนิธิร่วมกตัญญู ผู้เชี่ยวชาญจากกรมทางหลวง และนักวิชาการ เพื่อค้นหาสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุจากปัจจัยด้านคน รถ ถนน และสิ่งแวดล้อม เพื่อถอดบทเรียนผ่านสื่อต่าง ๆ และสร้างการตระหนักรู้ให้กับประชาชน
ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ยังได้รณรงค์เสริมสร้างวินัยจราจรให้แก่ผู้ใช้รถใช้ถนน เพื่อสร้างจิตสำนึกในการเคารพกฎจราจรและช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ด้วยการผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ ได้แก่ ป้ายไวนิล สปอตวิทยุ รายการข่าว สื่อโทรทัศน์ คู่มือสำหรับเยาวชน คู่มือสืบสวนอุบัติเหตุ สื่อออนไลน์ได้แก่ อินโฟกราฟิก กิจกรรมสังคมออนไลน์ และการสร้างความร่วมมือด้านการสื่อสารและสื่อรณรงค์ในโครงการความคิดริเริ่มเพื่อความปลอดภัยทางถนนทั่วโลก ภายใต้มูลนิธิบลูมเบิร์ก เพื่อสาธารณประโยชน์ (Bloomberg Philanthropies Initiative for Global Road Safety: BIGRS)
นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. กล่าวว่า สำนักการโยธา ได้ตรวจสภาพถนนและสำรวจไฟฟ้าส่องสว่างตามวงรอบทุก ๆ 15 วัน ในส่วนของการซ่อมแซมถนนและทางเท้า จะมีการทำงานทุกวัน รวมถึงจะมีหน่วยเคลื่อนที่เร็วของ กทม. ลงพื้นที่ซ่อมแซมถนนและทางเท้าอย่างเร่งด่วนอีก 1 ชุด ทันทีที่มีประชาชนแจ้งเหตุ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุหรืออันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ใช้เส้นทาง