กรุงเทพฯ--11 ส.ค.--จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขอต้อนรับนิสิตทุกระดับชั้นกลับเข้าสู่รั้วจุฬาฯ ด้วยความพร้อมในมาตรฐานความปลอดภัยด้านสาธารณสุขอย่าง “ครบวงจร” ตั้งแต่การป้องกัน การดูแล และการรักษาสุขภาพ ที่สอดคล้องกับมาตรการควบคุมหลักในการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสถาบันอุดมศึกษาตามที่รัฐกำหนด
ผศ.ดร.ชัยพร ภู่ประเสริฐ รองอธิการบดี ด้านการพัฒนานิสิต จุฬาฯ กล่าวว่า “ก่อนอื่น ผมขอต้อนรับนิสิตใหม่ทุกคนเข้าสู่รั้วจุฬาฯ ถึงแม้ว่าปีนี้การเรียนการสอนจะแปลกกว่าทุกปีที่ผ่านมา แต่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็พร้อมเปิดการเรียนการสอนภายใต้มาตรการควบคุมในการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสถาบันอุดมศึกษาอย่างเต็มที่ ทั้งนี้จุฬาฯ ให้ความสำคัญกับมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างยิ่ง เพื่อนิสิตและบุคลากรจุฬาฯ มีความปลอดภัยด้านสาธารณสุขอย่างครบวงจร เมื่ออยู่ในรั้วจุฬาฯ”
เปิดเทอมนี้ จุฬาฯ ได้จัดเตรียมมาตรการด้านสาธารณสุขอย่าง “ครบวงจร” เพื่อดูแลประชาคม จุฬาฯ ทุกคน โดยแบ่งเป็นการป้องกัน การดูแล และการรักษาสุขภาพ มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ด้านการป้องกัน ผศ.ดร.ชัยพร กล่าวว่า “ตามที่ ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ ได้กำหนดวิสัยทัศน์จุฬาฯ ที่จะมุ่งเป็นมหาวิทยาลัยนวัตกรรมเพื่อสังคม (Innovations for Society) ดังนั้น เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 จุฬาฯ ก็ระดมหลากหลายองค์ความรู้เพื่อพัฒนานวัตกรรมดูแลประชาคมและคนในสังคม เช่น สเปรย์ฉีดเพิ่มประสิทธิภาพหน้ากากอนามัย หน้ากากป้องกันใบหน้า (Face Shield) ที่ออกแบบให้เบาเป็นพิเศษ หุ่นยนต์หลอดยูวี และเครื่องพ่นละอองไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์เพื่อฆ่าเชื้อโรคเป็นต้น”
ด้านการดูแล “จุฬาฯ ได้ดำเนินมาตรการด้านสุขลักษณะของสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวก โดยได้จัดเตรียมห้องเรียน ห้องปฏิบัติการ ห้องประชุม ห้องทำกิจกรรม ห้องสมุด ห้องดนตรี ห้องน้ำ ลานกิจกรรม สนามกีฬา ลิฟต์ บันได โรงอาหาร หอพัก ให้มีระบบระบายอากาศถ่ายเทได้สะดวก ทำความสะอาดพื้นที่ต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ ทำความสะอาดอุปกรณ์เครื่องมือในห้องปฏิบัติการ ทำความสะอาดห้องเรียน รวมถึงอุปกรณ์ภายในตัวอาคาร เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได สวิทช์ไฟและปุ่มกดลิฟต์ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค และลดความแออัดของการอยู่รวมกันในทุกๆ สถานที่”
ผศ.ดร.ชัยพร กล่าวเสริมว่า “นอกจากนี้ จุฬาฯ ได้เน้นย้ำการสื่อสารประชาสัมพันธ์เรื่องหลักการปลอดภัยสำหรับนิสิตเพื่อให้เกิดความปลอดภัย และสุขภาพดีด้วยหลักการ 5 ส. ได้แก่ ส 1 - สังเกตตนเอง หากไม่สบายแจ้งอาจารย์และรีบไปพบแพทย์ ส 2 - สแกน QR Code ไทยชนะเพื่อ check in – check out เมื่อเข้า-ออกอาคาร ส 3 - สอบวัด อุณหภูมิและติดสติ๊กเกอร์ ส 4 - สวม หน้ากากอนามัยและล้างมืออย่างสม่ำเสมอ และ ส 5 - สร้าง ระยะห่างระหว่างกัน ซึ่งหลักการทั้งหมดนี้จะสื่อสารผ่าน ทุกๆ ช่องทางการสื่อสารของจุฬาฯ เช่น สื่อสังคมออนไลน์ เสียงตามสาย ป้ายนอกสถานที่ เป็นต้น”
“ผู้ปกครองและนิสิตหลายคนมีความกังวลผสมความสงสัยเกี่ยวกับการเรียนการสอนในภาคเรียนที่ 1/2563 นี้ว่าจะเป็นอย่างไร ปลอดภัยหรือไม่ นิสิตจะสามารถเข้าถึงการเรียนออนไลน์ได้อย่างเท่าเทียมหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ผมขอย้ำว่านิสิตจะต้องไม่มีความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาพื้นฐานที่มหาวิทยาลัยมอบให้ เพราะจุฬาฯ มีมาตรการช่วยเหลือนิสิตที่ขาดแคลนด้านเทคโนโลยี และผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก โควิด-19 ได้แก่ การมอบทุนการศึกษาแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบ การมอบซิมโทรศัพท์ 5,000 ซิม แก่นิสิต ที่ขาดแคลน เป็นต้น สำหรับการเรียนการสอน การสอบประเมินผล และการฝึกงานในภาคเรียน ที่ 1/2563 จะเป็นแบบผสมผสาน (Blended Learning) ที่สามารถยืดหยุ่น สามารถเรียนได้ทั้งในห้องปฏิบัติการ และออนไลน์ ทั้งนี้สามารถปรับได้ตามดุลยพินิจของแต่ละคณะ/หน่วยงาน ตามความเหมาะสมของแต่ละศาสตร์วิชา โดยคำนึงถึงความปลอดภัยด้านสุขอนามัยของทุกคนเป็นสำคัญ”
ผศ.ดร.ชัยพร กล่าวเพิ่มเติมในเรื่องนี้ว่า “อย่างไรก็ตาม ผมเข้าใจความลำบากนิสิตและอาจารย์ที่ต้องมาเรียนมาสอนบางวิชาที่ห้องเรียนและมีการเรียนการสอนออนไลน์บางวิชาในวันเดียวกัน ซึ่งผม ก็อยากขอให้นิสิตและอาจารย์อดทนอีกนิดกับความจำเป็นในการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) เพื่อให้สังคมไทยผ่านพ้นวิกฤตการระบาดนี้ไปได้โดยเร็วและปลอดภัย อีกทั้งในเรื่องนี้มหาวิทยาลัยได้พยายามเต็มที่ที่จะจัดหาพื้นที่กิจกรรม
การเรียนรู้ร่วมกันส่วนกลางที่มีอากาศถ่ายเทสะดวกและสามารถเว้นระยะห่างทางสังคม ได้แก่
โถงใต้อาคารบรมราชกุมารี รองรับได้ 100 คนโถงใต้อาคารมหิตลาธิเบศร รองรับได้ 148 คนโถงใต้อาคารบรมราชชนนีศรีศตพรรษ รองรับได้ 70 คนโถงใต้จุฬาพัฒน์ 13 รองรับได้ 36 คนโถงใต้จุฬาพัฒน์ 14 รองรับได้ 82 คนโถงใต้อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา รองรับได้ 48 คนอาคารจามจุรี 9 รองรับได้ 600 คนPlearn Space อาคารเปรมบุรฉัตร รองรับได้ 50 คนPlearn Space อาคารวิทยพัฒนา รองรับได้ 110 คนลานจักรพงษ์ รองรับได้ 100 คนอาคารพินิตประชานาถ รองรับได้ 240 คนหอสมุดกลาง รองรับได้กว่า 1,000 คน
ด้านการรักษาสุขภาพ ผศ.ดร.ชัยพร กล่าวว่า “ตลอดช่วงโควิด-19 ระบาด จุฬาฯ ได้ทำงานหนักเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมต่างๆ ที่จะมีส่วนช่วยดูแลสังคมได้ เช่น Chula COVID-19 Strip Test นวัตกรรมการตรวจสอบโควิด-19 ตู้ความดันลบ รถกองหนุน (รถความดันบวกเคลื่อนที่) หุ่นยนต์ช่วยงานเพื่อลดความเสี่ยงให้บุคลากรทางการแพทย์ เช่น หุ่นยนต์นินจา หุ่นยนต์ปิ่นโต หุ่นยนต์กระจก เป็นต้น และล่าสุดจุฬาฯ ได้เป็นผู้นำการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิด mRNA และวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากใบยาสูบแห่งแรกของประเทศไทยอีกด้วย”
“นอกจากนี้ ในแง่การดูแลรักษาสุขภาพของประชาคมจุฬาฯ เรามีศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาฯ ณ อาคารจามจุรี 9 ที่พร้อมให้บริการตรวจวินิจฉัยโรคเบื้องต้น และตรวจรักษาฟรี ซึ่งเป็นสวัสดิการพื้นฐานของประชาคมจุฬาฯ ทุกคน ดังนั้น หากนิสิตหรือบุคลากรรู้สึกว่าเริ่มป่วย หรือมีอาการที่เข้าข่ายของโรค โควิด-19 ให้รีบมาพบแพทย์ที่นี่ได้ เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย คัดกรอง และส่งต่อการรักษาให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญต่อไป”
ท้ายสุด ผศ.ดร.ชัยพร ย้ำว่า “จุฬาฯ พร้อม และยินดีต้อนรับนิสิตทุกชั้นปีการศึกษากลับสู่จุฬาฯ ทั้งแบบเรียนในห้องเรียน และเรียนออนไลน์ ขอให้นิสิตทุกคนตั้งใจเรียน อย่าให้ “ระยะห่างทางสังคม” มาอุปสรรคปิดกั้นความรู้ของเราได้”
ด้าน นายรัฐกร ใจเย็น นายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ ตัวแทนของนิสิตได้กล่าวถึงเรื่องของการเรียนการสอน และการใช้พื้นที่ส่วนกลางของมหาวิทยาลัยว่า ในเรื่องของการปรับตัวในการเรียนการสอนนั้น หากยึดตามประกาศของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะมีอยู่ 3 รูปแบบได้แก่ ออนไลน์ ออฟไลน์ และแบบผสมผสาน ซึ่งจะเน้นไปที่แบบผสมผสานเป็นหลัก แต่ละคณะก็จะกำหนดสัดส่วยนของการเรียนทั้ง 3 รูปแบบแตกต่างกันออกไปตามความเหมาะสม การปรับตัวในตอนนี้ถือว่านิสิตค่อนข้างคุ้นชินแล้ว นี่อาจจะรูปแบบของการเรียนการสอนที่ดีที่สุด แต่เป็นรูปแบบการเรียนการสอนที่เหมาะสมที่สุดแล้วในขณะนี้ เพื่อป้องกันการระบาดของโรคโควิด -19 ระลอกสอง
“ผมในฐานะนิสิต ก็พยายามที่สื่อสารถึงนิสิตคนอื่นๆ ให้มากที่สุด ถึงมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องของการเรียนการสอน ว่าแต่คนพบปัญหาอะไรบ้าง โดยให้นายกสโมสรนิสิตของแต่ละคณะไปทำการรวบรวมมา และทำการประมวลผล ตัวผมในฐานะของนายก อบจ. จะเป็นตัวแทนในการพูดคุยกับทางผู้ใหญ่ในการแก้ปัญหาและอุดรอยรั่วที่อาจเกิดขึ้น ให้มีประสิทธิภาพที่สุดครับ”
สำหรับการกิจกรรมต่างๆ และการใช้พื้นที่ส่วนกลางของมหาวิทยาลัยในการทำกิจกรรมนั้น รัฐกรกล่าวว่า ทางมหาวิทยาลัยไม่ได้มีการห้าม แต่ขอให้เป็นไปตามเงื่อนไขของประกาศของมหาวิทยาลัย ได้แก่ การสวมใส่หน้ากากอนามัย โดยต้องมีการเตรียมไว้ในกรณีทำขาดหรือสูญหาย การเว้นระยะห่างอย่างน้อย 4 ตารางเมตร และการจัดเตรียมเจลแอลกอฮอล์ให้เพียงพอ ถือเป็นมาตรการที่ค่อนข้างจะเข้มงวดในการจัดกิจกรรมและการใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัย
“ด้วยสถานการณ์ที่ยังค่อนข้างน่าเป็นห่วง และบังคับให้เราไม่สามารถมาเจอหน้ากันได้ ยกตัวอย่าง โครงการรับน้องก้าวใหม่ ที่เป็นเอกลักษณ์ของจุฬาฯ ที่มีบ้านรับน้องแต่ละบ้าน น้องๆ ลงทะเบียนเพื่อเข้าสังกัดบ้าน มีการทำกิจกรรมต่างๆ อันนี้ก็จะต้องเลื่อนออกไป ซึ่งเราคาดว่าจะสามารถจัดกิจกรรมตามปกติได้ ราวๆ เดือนมกราคมปีหน้า แต่ทั้งนี้ ความคาดหวังของนิสิตก็ยังคงมีอยู่ เราก็มีการทดแทนด้วยโครงการ Freshy the Series ซึ่งในโครงการนี้ มันรวมถึงการลงทะเบียนบ้านรับน้องด้วย คือให้น้องมีบ้านอยู่ มีการทำความรู้จักกันภายในแต่ละบ้าน แล้วหลังจากนั้นเราจึงค่อยกลับมาเจอกันเมื่อมีการเปิดเรียนในมหาวิทยาลัยแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ รวมไปข้อมูลต่างๆ ที่นิสิตต้องการทราบ เราก็มีการจัดเตรียมข้อมูลไว้ในรูปแบบต่างๆ ผ่านช่องทางออนไลน์และการไลฟ์สดในโครงการด้วยครับ” รัฐกรกล่าว