กระทรวงอุตฯ ผนึก UNIDO และภาคี มอบรางวัล GCIP Thailand Awards 2019 ขยายผลพัฒนาเทคโนโลยีสะอาด สร้างระบบนิเวศแห่งนวัตกรรม

ข่าวทั่วไป Tuesday August 11, 2020 13:05 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ส.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ กระทรวงอุตสาหกรรม จับมือ องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNIDO พร้อมด้วยเครือข่าย 7 องค์กร มอบรางวัล GCIP Thailand Awards 2019 เพื่อเป็นต้นแบบการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีสะอาดในภาคอุตสาหกรรม พร้อมขยายเครือข่ายความร่วมมือทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง ตลอดจนเกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมแบบครบวงจร จนสามารถสร้างความยั่งยืนทางพลังงาน และเทคโนโลยีสะอาด สร้างระบบนิเวศแห่งนวัตกรรม นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม มีภารกิจหน้าที่หลักในการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาอุตสาหกรรมให้ผู้ประกอบการดำเนินการ สามารถอยู่ร่วมกับสังคมและชุมชน ตามนโยบายของ พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยมี กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจ เพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดโลก ตลอดจนเกิดองค์ความรู้ในการดำเนินการต่าง ๆ จึงได้ร่วมมือกับ องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) ดำเนินโครงการ GEF UNIDO Cleantech Programme For SMEs in Thailand ส่งเสริมพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีสะอาด (Clean Technology) ให้แก่ ผู้ประกอบการ SMEs และ Start-ups ของไทย ในการเพิ่มพูนองค์ความรู้ด้านการทำธุรกิจ การสร้างเครือข่ายกับนักธุรกิจด้วยกัน มีโอกาสเชื่อมโยงไปยังสถาบันการเงิน และการต่อยอดด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม สามารถเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่าง ๆ ให้เกิดเป็น Cleantech Innovation Ecosystem สร้างโอกาสทางการค้ามากขึ้น นายภาสกร ชัยรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับและดูแลโครงการ Cleantech Promotion Programme for SMEs in Thailand ระบุว่า กสอ. ดำเนินโครงการฯ อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 พ.ศ. 2560 และ พ.ศ. 2562 เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ในการพัฒนาด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีสะอาดทั้ง 6 สาขา ได้แก่ การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (Energy Efficiency) การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ (Water Efficiency) การใช้ของเสียเป็นพลังงาน (Waste to Benefits) พลังงานทดแทน (Renewable Energy) อาคารสีเขียว (Green Building) และการขนส่ง (Transportation) ทั้งนี้ การจัดประกวดผลงานนวัตกรรมเทคโนโลยีสะอาด ในปี 2562 ได้รับความสนใจเป็นจำนวนมาก ผลการประกวด มีผู้ได้รับรางวัลจำนวน 4 ทีม ประกอบด้วย รางวัลชนะเลิศ ทีม ธาอีส อีโคเลทเธอร์ ใช้กระบวนการ New Eco-Material Solution หรือ กระบวนการรีไซเคิลขยะเศษหนังขึ้นมา เป็นวัสดุใหม่ที่มีสีสันและลวดลายของหนังแต่ละแผ่นที่ไม่เหมือนกัน เป็นเอกลักษณ์แบบ "one-of-a-kind" หรือมีชิ้นเดียวในโลก เป็นงานศิลปะที่มีคุณค่า สร้างสีสันให้กับวัสดุที่สวยงาม สามารถช่วยกำจัดขยะเศษหนังลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้มากถึง 10 ตันต่อปีรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ทีมทีไออี สมาร์ทโซลูชั่น พัฒนานวัตกรรม AI Energy platform หรือ ระบบการตรวจสอบการใช้พลังอัตโนมัติ เกิดขึ้นจากการเก็บข้อมูล หรือ Big Data เพื่อวินิจฉัยความผิดพลาดที่เกิดจากการทำงานของระบบปรับอากาศที่ไม่เหมาะสม ซึ่งทำให้อุปกรณ์ปรับอากาศเสื่อมสภาพ ส่งผลให้เกิดการสูญเสียพลังงานงานโดยเปล่าประโยชน์ โดยนวัตกรรมดังกล่าว ช่วยให้ผู้ดูแลอาคารทราบถึงสาเหตุของปัญหา และสามารถดำเนินการควบคุมคุณภาพอากาศได้อย่างเหมาะสมรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ทีมออร์ก้าฟีด ใช้วิธีการกำจัดขยะที่เกิดจากเศษอาหาร หรือของเหลือจากอุตสาหกรรมอาหาร โดยใช้แมลงวันลายเข้ามากินเศษอาหาร และแปรรูปแมลง ให้กลายเป็นผงโปรตีนคุณภาพดี เพื่อส่งต่อให้กับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ซึ่งโปรตีนในแมลงวันลายมีมากกว่าโปรตีนจากเนื้อวัวถึง 10 เท่า ดังนั้น การใช้แมลงเข้ามาเพิ่มมูลค่าให้กับขยะเหลือทิ้งจากภาคอุตสาหกรรม หรือ upcycle จากขยะเหลือทิ้ง 1 ตัน สามารถผลิตเป็นอาหารสัตว์มูลค่ากว่า 4 แสนบาท ถือเป็นการใช้วัตถุดิบที่จำกัดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 3 ทีมเอ็นเนอร์ยี่ รีโวลูชั่น นำระบบกังหันน้ำ หรือ Hydro Turbine มาใช้ทดแทนการทำงานของมอเตอร์ชุดขับใบพัดระบายความร้อนในระบบหอหล่อเย็น (Cooling Tower) ในภาคอุตสาหกรรม ช่วยให้ประหยัดการใช้ไฟฟ้าต่อชั่วโมงการทำงานของระบบทำความเย็นของอาคารได้ถึง 100 – 150 กิโลวัตต์/หอหล่อเย็นใน กรณีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ สามารถประหยัดได้มากกว่า 500 กิโลวัตต์ หรือคิดเป็นค่าไฟฟ้าประมาณ 15 ล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ดี จากความร่วมมือของหน่วยงานพันธมิตร ที่ได้ร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้และข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนกับสังคมและเศรษฐกิจของประเทศไทย นับเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ ในการพัฒนาต่อยอดเชิงธุรกิจ เกิดการขยายเครือข่ายความร่วมมือทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง ตลอดจนเกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมแบบครบวงจร สามารถสร้างความยั่งยืนทางพลังงานและเทคโนโลยีสะอาด สร้างระบบนิเวศแห่งนวัตกรรม (Innovation Ecosystem) นอกจากนี้ สามารถเพิ่มยอดขายทั้งสิ้นกว่า 400 ล้านบาท และลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 217 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (Ton Co2eq) ที่นำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมของประเทศ ให้เติบโตบนพื้นฐานความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่อุปทานได้อย่างยั่งยืนต่อไป นายภาสกร กล่าวทิ้งท้าย โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วมกับ องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) และ 7 หน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D BANK) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จัดพิธีปิดโครงการและแถลงผลความสำเร็จในการส่งเสริมพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีสะอาด (Clean Technology) ให้แก่ ผู้ประกอบการ SMEs และ Start-ups ของไทย ภายใต้โครงการ GEF UNIDO Cleantech Programme for SMEs ณ ห้อง Ballroom โรงแรมสวิสโซเทล เลอ คองคอร์ด กรุงเทพฯ สอบถามข้อมูลได้ที่ กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 0 2202 4417-18 หรือติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ www.facebook.com/dipindustry และ www.dip.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ