กรุงเทพฯ--11 ส.ค.--กรุงเทพมหานครฯ
นายพานุรักษ์ กลั่นนุรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กทม. กล่าวตามที่ในสื่อสังคมออนไลน์วิจารณ์กรณี กทม. เปิดตัวศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทางอัจฉริยะ (Smart Bus Shelter) โดยระบุประชาชนยังมีข้อกังวลเรื่องงบประมาณในการดำเนินโครงการดังกล่าว ขณะที่บางส่วนเห็นว่าหลังคาของศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทางอัจฉริยะ ไม่กว้างพอที่จะป้องกันฝนและบังแดด รวมถึงมีที่นั่งน้อยและความกว้างไม่มากพอว่า โครงการปรับปรุงศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทางอัจฉริยะ เป็นการให้สิทธิเอกชนดำเนินการโดยให้สิทธิใช้ป้ายประชาสัมพันธ์ของกรุงเทพมหานคร จำนวน 1,170 ป้าย พร้อมปรับปรุงดูแลบำรุงรักษาศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทางอัจฉริยะ กลุ่ม D จำนวน 691 หลัง มีอายุสัญญา 10 ปี โดยผู้รับสิทธิเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทั้งหมด และจะต้องชำระค่าใช้สิทธิรายเดือนและรายปีให้กับกรุงเทพมหานครตลอดอายุสัญญา สำหรับรูปแบบของศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทางอัจฉริยะ มีการออกแบบให้สอดรับกับนโยบาย Smart City และนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล แบ่งเป็น 2 รูปแบบ ประกอบด้วย แบบ Full Function จำนวน 100 หลัง มีการติดตั้งจอ LFD ขนาด 32 นิ้ว สำหรับแสดงเวลาและสายรถโดยสารประจำทาง ที่จะมาถึง จอ LFD ขนาด 55 นิ้ว สำหรับประชาสัมพันธ์ข่าวสาร กทม. กล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) 2 จุด ช่องเสียบสาย USB สำหรับชาร์จอุปกรณ์มือถือ 2 จุด ระบบ Free WiFi และติดตั้งเก้าอี้ จำนวน 6 ตัว ส่วนแบบ Light Function จำนวน 250 หลัง มีการติดตั้งจอ LFD ขนาด 32 นิ้ว สำหรับแสดงบอกเวลาและสายรถโดยสารประจำทางที่จะมาถึง กล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) 1 จุด ช่องเสียบสาย USB สำหรับชาร์จอุปกรณ์มือถือ 2 จุด และติดตั้งเก้าอี้ จำนวน 8 ตัว ทั้งนี้ ในระหว่างอายุสัญญา 10 ปี ผู้รับสิทธิจะเป็นผู้รับผิดชอบการซ่อมแซมปรับปรุงให้ศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทางทุกแห่งตามสัญญาอยู่ในสภาพเรียบร้อย สว่าง และมั่นคงแข็งแรง พร้อมใช้งานได้อย่างคุ้มค่า
ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการนี้ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบนโยบายเพิ่มเติม โดยสั่งการให้ปรับปรุงด้านหลังของศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทางอัจฉริยะ เพื่อป้องกันแดด ป้องกันฝน รวมทั้งติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) ในศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทางอัจฉริยะ แบบ Light Function เพิ่มจาก 1 ตัว เป็น 2 ตัว ซึ่งสำนักการจราจรและขนส่งจะมีหนังสือประสานผู้รับสิทธิพิจารณาดำเนินการต่อไป และในอนาคตจะจัดให้มีการประกวดรูปแบบศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทางอัจฉริยะรูปแบบใหม่ โดยให้ภาคเอกชนและภาคประชาชนมีส่วนร่วมออกแบบศาลาที่พักผู้โดยสาร รถประจำทางอัจฉริยะ เพื่อให้มีความเหมาะสม ตรงตามความต้องการและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน