กรุงเทพฯ--18 ส.ค.--ก.ล.ต.
คณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 8/2548 เมื่อวันพุธที่ 17 สิงหาคม 2548 มีมติในเรื่องดังต่อไปนี้
1. ผ่อนคลายเกณฑ์การลงทุนในตราสารหนี้ ของกองทุนรวมและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
เพื่อให้บริษัทเอกชนทั่วไปซึ่งออกตราสารหนี้ขายแก่กองทุนรวมและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสามารถ
ปรับตัวได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีมติเห็นชอบการปรับปรุงเกณฑ์การลงทุนในตราสารหนี้ของกองทุนดังกล่าว โดยเพิ่มประเภทตราสารหนี้ที่กองทุนสามารถลงทุนได้ให้ยืดหยุ่นมากขึ้น โดยเฉพาะกรณีที่ผู้ออกตราสารเป็นบริษัททั่วไปที่ไม่มี rating หรือมี rating ที่ต่ำกว่า investment grade และขยายลักษณะการเสนอขายให้ครอบคลุมถึงตราสารหนี้ที่เสนอขายในวงจำกัด (PP) ด้วย รวมทั้งเลื่อนวันมีผลใช้บังคับจากวันที่ 1 มกราคม 2549 ไปเป็นวันที่ 1 กรกฎาคม 2549 เพื่อให้ระยะเวลาเพียงพอให้ภาคเอกชนได้เตรียมความพร้อมมากขึ้น ทั้งนี้ เกณฑ์ดังกล่าวเป็นข้อสรุปร่วมกันระหว่าง ก.ล.ต. และสมาคมบริษัทจัดการลงทุน
(สรุปสาระสำคัญของเกณฑ์ดังกล่าวปรากฏตามเอกสารแนบ)
2. ปรับปรุงเกณฑ์ securitization
เพื่อสนับสนุนการทำธุรกรรมการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (securitization) ภายใต้หลักการคุ้มครองผู้ลงทุน คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีมติเห็นชอบการปรับปรุงเกณฑ์เกี่ยวกับการออกหุ้นกู้เพื่อการทำ securitization ภายใต้พระราชกำหนดนิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ พ.ศ. 2540 (พ.ร.ก.) และพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.) ในเรื่องดังต่อไปนี้
อนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้เพื่อการทำ securitization ภายใต้ พ.ร.ก. แก่ผู้ลงทุนทั่วไปได้ จากเดิมที่อนุญาตเฉพาะการเสนอขายให้ผู้ลงทุนในวงจำกัดหรือผู้ลงทุนในต่างประเทศเท่านั้น
ปรับปรุงเกณฑ์ securitization ให้รวมถึงรายได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยขยายขอบเขตประเภท
สินทรัพย์ให้รวมถึง “สินทรัพย์ที่จะก่อให้เกิดกระแสรายรับในอนาคต และจะไม่มีการเพิกถอนสิทธิหรือกระทำการใด ๆ ให้สิทธินั้นด้อยลง (future receivable)”
นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มความคุ้มครองแก่ผู้ลงทุน คณะกรรมการ ก.ล.ต. จึงได้กำหนดเกณฑ์เพิ่มเติมในเรื่องการจัดการทรัพย์สินของผู้ออกหุ้นกู้ (SPV) หน้าที่ของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ คุณสมบัติและบทบาทหน้าที่ของตัวแทนเรียกเก็บหนี้ (servicer)
ปรับปรุงเกณฑ์กรณีที่ SPV จะเสนอขายหุ้นกู้หลายรุ่น ในอนาคตจะต้องเสนอขายในคราวเดียวกัน หรือ เสนอขายหุ้นกู้ใหม่เพื่อทดแทนหุ้นกู้เดิม (revolving) เท่านั้น เว้นแต่ จะได้รับผ่อนผันจาก ก.ล.ต. เพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับทราบสถานะของหุ้นกู้ทั้งหมดและสามารถประเมินความเสี่ยงได้อย่างชัดเจน
กำหนดเกณฑ์ประกอบการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ SPV สำหรับ securitization ภายใต้ พ.ร.ก. โดยในโครงการ SPV จะต้องระบุนโยบายการจัดสรรกระแสเงินรับจากสิทธิเรียกร้องให้ชัดเจน เพื่อ
มิให้เป็นช่องทางในการหลีกเลี่ยงภาษี--จบ--