สอวช. จับมือ มจธ. คั้น 9 ข้อเสนอเชิงนโยบายด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

ข่าวทั่วไป Thursday August 13, 2020 08:51 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 ส.ค.--สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับ สถาบันนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (STIPI) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จัดเวทีพรีเซนต์ข้อเสนอเชิงนโยบายด้านการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยผู้เข้าร่วมอบรมในหลักสูตรการออกแบบนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม รุ่นที่ 2 ที่มีเนื้อหาหลักสูตรที่เน้นถึงการสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรให้มีความรู้และความสามารถในการออกแบบและจัดทำนโยบายด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) รวมถึงการสร้างเครือข่ายของนักพัฒนานโยบาย อววน. โดยการนำเสนอครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ รศ.ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ อดีต รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ รมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สอวช. รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน อดีตอธิการบดี มจธ. ศ.ดร. นักสิทธ์ คูวัฒนาชัย ที่ปรึกษา สอวช. ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. ตลอดจนผู้บริหารหน่วยงานเอกชนที่มาร่วมเป็นที่ปรึกษา และร่วมให้ความเห็นในการนำเสนอครั้งนี้ สำหรับ 9 ข้อเสนอเชิงนโยบาย ได้แก่ ด้านพลังงาน ที่เน้นถึงยุทธศาสตร์การเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศไทย โดยเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน เนื่องจากทั่วโลกมีแนวโน้มความต้องการในการใช้พลังงานเพิ่มเป็นสองเท่าภายในปี 2593 รวมถึงประเทศไทยที่ควรสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานและเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้พลังงาน จึงจำเป็นที่จะต้องเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนและพัฒนาให้สามารถใช้ได้ในปริมาณที่เพียงพอในอนาคต โดยทางกลุ่มได้เสนอให้ภาครัฐออกมาตรการที่เอื้อต่อการวิจัยและปฏิบัติในภาครัฐและเอกชน สอดรับกับการพัฒนาคนและโครงสร้างพื้นฐานจะต้องพัฒนาไปควบคู่กับยุทธศาสตร์วิจัย และสนับสนุนเงินทุนด้านการสร้างงานวิจัยและเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องและเพียงพอเพื่อพัฒนาต้นแบบเทคโนโลยีการผลิตพลังงานหมุนเวียนต่อไปด้านท่องเที่ยว โดยเน้นถึงการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโดยการมีส่วนร่วมอย่างเข้มข้นของชุมชน ผู้ศึกษาได้แบ่งปัญหาของการท่องเที่ยวเป็น 3 มิติ ได้แก่ มิติด้านเศรษฐกิจ พบว่านักท่องเที่ยวลดลงเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และชุมชนเองก็มีปัญหารายได้น้อยอยู่แล้ว มิติด้านสังคม นักท่องเที่ยวกระจุกตัวในเขตเมืองหลัก ขาดการบริหารจัดการในการกระจายนักท่องเที่ยวไปยังเมืองรองอย่างมีประสิทธิภาพ มิติด้านสิ่งแวดล้อม เกิดความเสื่อมโทรมทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบบสาธารณูปโภคบางอย่างยังไม่ได้มาตรฐาน ชุมชนขาดความเป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น กลุ่มผู้ศึกษาได้เสนอให้ ภาครัฐ ร่วมกับ สถาบันอุดมศึกษา ทำงานร่วมกับชุมชนอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างชุมชนท่องเที่ยว จัดตั้งกลุ่มสมาชิกเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมกับการท่องเที่ยว รณรงค์ให้นักท่องเที่ยวลดการสร้างขยะ หน่วยงานภาครัฐและผู้นำชุมชนเข้ามาบริหารจัดการรายได้และกระจายผลประโยชน์ให้ชุมชนอย่างเป็นธรรมการขจัดความยากจน ในประเด็นมาตรการช่วยเหลือครัวเรือนในเมืองเพื่อให้หลุดพ้นจากวงจรความยากจนที่ส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น จากการศึกษาพบว่า สิ่งสำคัญที่ก่อให้เกิดวงจรความยากจนหรือความยากจนเรื้อรังคือปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการขยายตัวของรายได้และความเป็นอยู่ของครัวเรือนในระยะยาว โดยผู้ศึกษาได้นำเสนอแนวทางเพื่อออกจากกับดักความยากจนจากรุ่นสู่รุ่นคือ กับดักการศึกษาต่ำ อาชีพ และรายได้ไม่มั่นคง ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย โดยผู้ศึกษาระบุว่าเครื่องมือสำคัญด้าน อววน. คือ ระบบการสร้างคนโดยมหาวิทยาลัยรับใช้สังคม เป็นทางออกของการของการแก้ปัญหาเชิงนโยบายสำหรับการขจัดปัญหาความยากจนอย่างมีประสิทธิภาพการปรับตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ศึกษาเฉพาะกรณีอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ สืบเนื่องจากการพัฒนายานยนต์มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปสู่ยานยนต์อนาคต ดังนั้นอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ก็ต้องพัฒนาให้เหมาะสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อตอบสนองตลาดที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยผู้ศึกษาเสนอว่า รัฐบาลต้องมีกลไกที่เหมาะสม พัฒนากำลังคนด้วยวิธีการ Reskill Upskill New skill แรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ สนับสนุนกลุ่มที่เข้มแข็งและเชี่ยวชาญอยู่แล้ว เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้นำในอุตสาหกรรม และควรจัดตั้งศูนย์วิจัยแบตเตอรี่แห่งชาติระบบการอุดมศึกษา โดยศึกษาแนวทางการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาไปสู่สถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่ โดยกลุ่มผู้ศึกษามองว่า มหาวิทยาลัยของไทยในปัจจุบันมีศักยภาพการเป็นมหาวิทยาลัยเชิงพื้นที่ การจัดการเรียนการสอน การวิจัย และการบริการวิชาการ เพื่อให้เกิดการพัฒนาคน การสร้างนวัตกรรม และการยกระดับชุมชนและสังคม และครอบคลุมพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นเขตอุตสาหกรรมและพื้นที่ชุมชน แต่การดำเนินงานต้องทำอย่างเป็นระบบในลักษณะเครือข่ายที่ยืดหยุ่นเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และพัฒนาศักยภาพบุคลากรและองค์กรของมหาวิทยาลัยข้อเสนอเชิงนโยบายแนวโน้มและความเป็นไปได้ของการเป็นทิศทางหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจการท่องเที่ยวด้วยการวิจัยและพัฒนา โดยกลุ่มผู้ศึกษาได้เก็บ ติดตามและประเมินผลข้อมูลงานวิจัยมุ่งเป้าด้านการท่องเที่ยวและงานวิจัยเชิงพื้นที่ เพื่อเสนอกรอบการวิจัยและพัฒนาด้านการท่องเที่ยวของประเทศว่า ควรบรรจุการท่องเที่ยวชุมชนไว้ในแผนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาลในการกระจายรายได้จากธุรกิจท่องเที่ยวสู่ชุมชน และกรอบการวิจัยเพื่อรองรับการท่องเที่ยวภายในประเทศกรณีเกิดสถานการณ์วิกฤตต่าง ๆ นอกจากนี้ หน่วยบริหารจัดการทุนที่รับผิดชอบด้านการวิจัยและพัฒนาการท่องเที่ยว ควรกำหนดสัดส่วนกรอบวงเงินงบประมาณในกาจัดสรรทุนวิจัยด้านการท่องเที่ยวเมืองหลัก เมืองรอง ให้ความเหมาะสมต่อยุทธศาสตร์ชาติในเรื่องของการกระจายรายได้ นำไปสู่ความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนของชุมชนการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย Public-Private Partnership เพื่อศึกษารูปแบบและลักษณะการดำเนินงานของโรงงานต้นแบบด้านอาหารทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยทางกลุ่มมองว่า อุตสาหกรรมอาหาร เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญมีศักยภาพสูงในการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อีกทั้งมีมูลค่าทางการค้าของผู้ส่งออกอุตสาหกรรมอาหารไทยอยู่ลำดับที่ 12 ของโลกในปี 2561 งบการลงทุนวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชนของอุตสาหกรรมอาหารเป็นอันดับหนึ่งของอุตสาหกรรมการผลิต ทั้งนี้กลุ่มได้เสนอแนะว่า การทำนโยบายภาพรวมของประเทศ ควรวิเคราะห์ศักยภาพของโรงงานต้นแบบที่มีอย่างรอบด้านจัดทำฐานข้อมูลศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานและลักษณะจุดเด่นของการให้บริการแต่ละแห่ง พร้อมทั้งคาดการณ์ความต้องการใช้บริการในอนาคตเพื่อวางแผนการสนับสนุนงบประมาณ แก้ไขปรับปรุงกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคและสร้างเครือข่ายของโรงงานต้นแบบ ให้สามารถยกระดับการให้บริการเฉพาะด้านที่เป็นเลิศอย่างชัดเจนนโยบายเกษตรเข้มแข็ง โดยกลุ่มได้นำเสนออ้างอิงถึงสภาพภูมิอากาศและการแข่งขันที่สูงขึ้นในตลาดโลก ตลอดจนสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่มีผลผลิตและกำไรสุทธิลดลงต้องพึ่งพิงภาครัฐ รวมทั้งขาดเกษตรกรรุ่นใหม่เข้าสู่ภาคเกษตร จึงเป็นโจทย์ท้าทายของภาครัฐที่จะช่วยภาคเกษตรของไทย โดยทุกฝ่ายต้องทบทวนในการพึ่งพาตนเองมากขึ้น แนวทางการดำเนินการทางหนึ่งคือต้องขับเคลื่อนการเกษตรไทยด้วยการประยุกต์เทคโนโลยีนวัตกรรมและภูมิปัญญาของอาจารย์ นักวิจัย นักวิชาการ หน่วยงานต่าง ๆ และภาคเอกชนในการยกระดับการเกษตรของไทยนโยบายที่ทางกลุ่มนำเสนอคือ “One community One commodity One tailored precision agriculture” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายภาพใหญ่ของประเทศคือ “1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย” โดยรัฐบาลจะต้องหาแนวทางในการสนับสนุนให้มีโอกาสในภาคธุรกิจการเกษตรมากขึ้นคุณภาพเด็กและเยาวชนสำหรับสังคมรูปแบบใหม่ในศตวรรษที่ 21 โดยกลุ่มได้นำเสนอว่า ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ส่งผลให้วัยแรงงานต้องทำงานหนักมากขึ้นเพื่อรองรับจำนวนผู้พึ่งพิง (เด็กและผู้สูงอายุ) ที่มีมากขึ้น ดังนั้นจึงต้องมีการเตรียมพร้อมอย่างระบบ เนื่องจากขณะนี้กลุ่มเด็กและเยาวชนยังไม่มีความพร้อมในการเสริมสร้างให้กลายเป็นเยาวชนในศตวรรษที่ 21 ได้ทันที จึงต้องสร้างความพร้อมทางร่างกายและจิตใจ อาทิ การสร้างนักโภชนาการในโรงเรียน, ศูนย์เลี้ยงเด็กจากอาสาผู้สูงวัย, สร้างจิตอาสาด้วยสลากทำดี, โรงเรียนสอนประสบการณ์ชีวิตตั้งแต่ในระดับ มัธยมศึกษาตอนต้น, โรงเรียนนำร่องกิจการเพื่อสังคม เป็นต้น และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สิ่งที่ต้องกลุ่มได้นำเสนอคือ การปฏิรูประบบดิจิทัลเพื่อการศึกษา, สนับสนุนให้พัฒนาโรงเรียนเล็กเป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพ ด้วยการอุดหนุนงบประมาณจากภาครัฐ ซึ่งข้อเสนอนโยบายเหล่านี้จะนำร่องในการวางนโยบายของประเทศที่จะสร้างเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชนไทยให้สามารถยืนหยัดอย่างยั่งยืนในศตวรรษที่ 21 ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอเชิงนโยบายทั้ง 9 ข้อเสนอจากไอเดียนักวิจัยรุ่นใหม่นี้ หลากหลายไอเดียน่าสนใจ และสามารถนำประเด็นมาศึกษาเพิ่มเติมเพื่อต่อยอดเป็นนโยบายระดับประเทศต่อไปได้ นอกจากนี้ ผู้นำเสนอทั้ง 9 กลุ่มมีโอกาสนำเสนอผลงานและแลกเปลี่ยนกับเครือข่ายนักวิจัยทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในเวที South East Asia Conference on STI Policy & Management 2020 ซึ่งปีนี้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพได้อีกทางหนึ่งด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ