กรุงเทพฯ--13 ส.ค.--โฟว์ดี คอมมิวนิเคชั่น
บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด(มหาชน) ประกาศผลประกอบการไตรมาสสอง ปี 2563 มียอดรับรู้รายได้ที่ 1,304.4 ล้านบาท ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 50% โดยบริษัทยังคงรักษาความสามารถในการบริหารจัดการต้นทุนต่างๆ ได้ดีกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมได้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราส่วนความสามารถในการทำกำไรของบริษัทปรับเพิ่มขึ้น นอกจากนี้บริษัทมีการบันทึกรายการกำไรที่เกิดจากการถูกเวนคืนโครงการขายโครงการหนึ่งของบริษัท ซึ่งบริษัทได้รับเงินชดเชยมาเป็นที่เรียบร้อย ส่งผลให้ในไตรมาสสองนี้ บริษัทมีกำไรสุทธิทั้งสิ้น 395.8 ล้านบาท ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 164%
ทั้งนี้ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ได้มีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลให้กับผู้ถือหุ้นในอัตราหุ้นละ 0.25 บาท โดยกำหนดวัน Record Date ผู้มีสิทธิรับเงินปันผลในวันที่ 28 สิงหาคม 2563 และจะจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นในวันที่ 11 กันยายน 2563 นี้ ซึ่งเมื่อเทียบกับระดับราคาหุ้นปัจจุบัน คิดเป็น Dividend Yield ทั้งปีที่ราว 9.7%
นายไชยยันต์ ชาครกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ภายใต้คอนเซ็ปท์ “บ้านที่ปลูกบนความตั้งใจที่ดี” กล่าวว่า ในปี 2563 นี้ เป็นอีกปีที่ท้าทายการดำเนินธุรกิจอย่างมาก โดยเฉพาะปัญหาจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคเศรษฐกิจไปทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ทั้งนี้คาดการณ์ว่า GDP ของไทยในปีนี้จะหดตัวไม่ต่ำกว่า 7-8% โดยเหลือเพียงเครื่องยนต์เดียว คือการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ ที่จะเป็นตัวช่วยประคับประคองเศรษฐกิจ ในขณะที่เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ, การส่งออก, การบริโภค และการลงทุนภาคเอกชน ล้วนได้รับผลกระทบและหดตัวลงอย่างมาก ในส่วนของภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในภาพรวม มีการหดตัวลงเช่นเดียวกันกับเศรษฐกิจหลัก โดยเริ่มเห็นหลายบริษัทได้รับผลกระทบ และประสบกับภาวะขาดทุน
ในแง่ของบริษัท ซึ่งเน้นทำตลาดในกลุ่มที่เป็นความต้องการซื้อที่แท้จริง (Real Demand) และมีการบริหารงานที่มีการปรับเปลี่ยนแผนกลยุทธ์ให้สอดรับกับสถานการณ์ ช่วยให้บริษัทยังคงสามารถบริหารธุรกิจได้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ มียอดรับรู้รายได้แล้ว 2,562 ล้านบาท เติบโตจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 18% ในขณะที่บริษัทยังคงบริหารจัดการต้นทุนต่างๆ ได้เป็นอย่างดี สะท้อนในอัตราส่วนความสามารถในการทำกำไรที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยระดับอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) ในช่วงครึ่งปีแรกอยู่ที่ระดับ 39.2% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 38.9% ในขณะที่อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารต่อยอดขาย (SG&A/Sales) ปรับลดลงจาก 11.4% มาอยู่ที่ 10.1% นอกจากนี้ในไตรมาสสองนี้ บริษัทมีการบันทึกกำไรพิเศษที่เกิดจากถูกเวนคืนในโครงการหนึ่งของบริษัท ส่งผลให้ในครึ่งแรกของปี 2563 นี้ บริษัทมีกำไรสุทธิรวมทั้งสิ้น 643 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 60%
สำหรับการขยายธุรกิจ ในปีนี้บริษัทยังคงเดินหน้าลงทุนขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยช่วงครึ่งปีแรกเปิดโครงการใหม่ไปแล้วทั้งสิ้น 5 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 3,500 ล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการเปิดเพื่อทดแทนโครงการเดิมที่ใกล้ปิดโครงการลง และบริษัทอยู่ระหว่างเตรียมเปิดโครงการใหม่เพิ่มเติมอีก 2 โครงการ ในช่วง เดือนนี้ต่อเดือนหน้า ทั้งนี้แม้ว่าบริษัทจะมีการขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง แต่บริษัทยังคงคุมความเสี่ยงทางการเงิน และรักษาระดับ D/E Ratio ได้ดีกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม โดย ณ สิ้นไตรมาสสองมีระดับอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) อยู่เพียงแค่ 0.77 เท่า ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ที่ราว 1.5 เท่า