1600 ยินดีช่วยแม่เลิกบุหรี่สำเร็จเพื่อลูก หลังพบหญิงตั้งครรภ์ขอคำปรึกษาพุ่งช่วงล็อคดาวน์

ข่าวทั่วไป Friday August 14, 2020 09:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ส.ค.--ศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ (ศบช.) สายเลิกบุหรี่ 1600 เผย คุณแม่ตั้งครรภ์สูบบุหรี่โทรขอรับคำปรึกษาเพื่อเลิกบุหรี่ช่วงล็อคดาวน์ประเทศจากวิกฤตโควิด 19 เพิ่มขึ้น เหตุกลัวลูกไม่ปลอดภัย ลั่นพร้อมเป็นที่ปรึกษา ให้กำลังใจ เคียงข้างคุณแม่ตั้งท้องจนสามารถเลิกบุหรี่สำเร็จ ขอเพียงโทรมา ด้านแพทย์สูตินารีย้ำชัด WHO แนะให้ผู้หญิงและสามีเลิกบุหรี่ทันทีที่รู้ว่าตั้งครรภ์ เพราะควันบุหรี่มือหนึ่ง ควันบุหรี่มือสอง และควันบุหรี่มือสาม ส่งผลกระทบต่อชีวิตแม่และเด็กทั้งกรณีเจ็บป่วยและอันตรายจนถึงชีวิต ตั้งแต่ระหว่างตั้งครรภ์ คลอด จนถึงเจริญวัย รศ.ดร.จินตนา ยูนิพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ (ศบช.) หรือ สายเลิกบุหรี่ 1600 เปิดเผยว่า ในช่วงมาตรการล็อคดาวน์ประเทศจากเหตุไวรัสก่อโรคโควิด 19 (COVID-19) ระบาดหนักที่ผ่านมา พบสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับการให้บริการของสายเลิกบุหรี่ 1600 โดยพบจำนวนหญิงตั้งครรภ์โทรเข้ามาเพื่อขอรับคำปรึกษาช่วยให้เลิกบุหรี่มากขึ้นกว่าปกติ ส่วนเหตุผลที่มาใช้บริการเนื่องจากกลัวว่าเด็กในครรภ์จะเป็นอันตรายทั้งจากบุหรี่และโควิด 19 ซึ่งเดิมจำนวนหญิงตั้งครรภ์โทรเข้ามาที่สายเลิกบุหรี่ 1600 มีไม่มาก “นับว่าเป็นเรื่องดีต้อนรับวันแม่ 12 สิงหาคมที่จะถึงนี้ ที่คุณแม่ตั้งครรภ์แต่ยังเลิกสูบบุหรี่ไม่ได้ มีความกระตือรือล้นอยากจะเลิกบุหรี่ หวังให้ลูกน้อยของตนเองปลอดภัย โดยสายเลิกบุหรี่ 1600 ยินดีอย่างมากในการเป็นที่ปรึกษา เป็นกำลังใจ ช่วยผ่อนคลายความกังวล เพื่อให้คุณแม่เลิกบุหรี่ในช่วงตั้งครรภ์ และสามารถเลิกได้ถาวร ซึ่งเราเชื่อว่าด้วยพลังใจจากความรักที่แม่มีให้ลูก และยิ่งได้รับคำแนะนำจากผู้ให้บริการเลิกบุหรี่แบบมืออาชีพ จะทำให้ผู้หญิงที่ติดบุหรี่อยู่เลิกสูบบุหรี่ได้สำเร็จ อยากเลิกบุหรี่โทรมาที่สายเลิกบุหรี่ 1600 ได้เลยค่ะ บริการฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย” ผอ.ศบช. ระบุ ด้าน พ.ต.ท.อรัณ ไตรตานนท์ นายแพทย์ สบ 2 กลุ่มงานสูตินรีเวชกรรม โรงพยาบาลตำรวจ กล่าวว่า บุหรี่คือสิ่งน่ากลัวสำหรับหญิงตั้งครรภ์ เพราะกระทบถึง 2 ชีวิต คือแม่และลูก โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) มีคำแนะนำแก่ผู้หญิงรวมถึงสามี ต้องหยุดสูบบุหรี่ทันทีที่ทราบว่าตั้งครรภ์ เนื่องจากสารอันตรายต่างๆ ที่อยู่ในบุหรี่ ไม่ว่าจะเป็นควันบุหรี่มือหนึ่งที่คุณแม่สูบเอง ควันบุหรี่มือสองจากสามีที่พ่นออกมา รวมถึงควันบุหรี่มือสามที่ติดตามผิวหนัง เสื้อผ้า พื้นห้อง เฟอร์นิเจอร์ แม้แต่ที่นอน ฯลฯ ล้วนมีผลกระทบต่อแม่และเด็กในท้อง ตั้งแต่ระหว่างตั้งครรภ์ คลอด จนถึงเจริญวัย ซึ่งผลกระทบนี้มีทั้งเจ็บป่วยและอันตรายจนถึงชีวิต พ.ต.ท.นพ.อรัณ อธิบายว่า ในควันบุหรี่ที่แม่สูบหรือได้รับ จะมีก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ที่ไปจับตัวกับฮีโมโกลบินแทนออกซิเจน เมื่อเนื้อเยื่อได้รับออกซิเจนน้อยลง ย่อมกระทบต่อการสร้างอวัยวะของทารกในครรภ์ ส่งผลให้สมองผิดปกติ เป็นโรคหัวใจแต่กำเนิด ผนังกั้นหัวใจรั่ว ปากแหว่งเพดานโหว่ ยังเสี่ยงคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักแรกคลอดจะน้อยกว่าปกติถึง 2 ขีด ส่วนแม่มีโอกาสครรภ์เป็นพิษ รกลอกตัวก่อนกำหนด แท้งในไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ และตกเลือดหลังคลอดมากกว่าปกติ นอกจากนี้ ควันบุหรี่ยังส่งผลเสียต่อเด็กอย่างต่อเนื่องแม้จะเจริญวัยแล้ว โดยจากการศึกษาพบว่า เด็กที่ได้รับควันบุหรี่ตั้งแต่อยู่ในครรภ์จะมีความเสี่ยงเป็นภูมิแพ้และหอบหืดมากกว่า สามารถป่วยได้ตั้งแต่อายุน้อยกว่า 6 เดือน เหมือนเกิดมาแล้วก็ป่วยเลย พัฒนาการยังช้ากว่าเด็กทั่วไป ขณะที่พฤติกรรมและอารมณ์ก็ผิดปกติด้วย “มีงานวิจัยระดับเอเชียที่หลายประเทศทำร่วมกัน พบว่าผู้หญิงแถบภูมิภาค 30,000 คน ใน 30 ประเทศ กว่าร้อยละ 60 มีประวัติสัมผัสควันบุหรี่ขณะตั้งครรภ์ ส่งผลให้ผู้หญิงกลุ่มนี้เกิดภาวะคลอดก่อนกำหนด ลูกที่เกิดมาพิการจำนวนมาก หรือเด็กตายตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา บ้างก็ตายระหว่างคลอด ส่วนในประเทศไทยโชคดีที่อัตราส่วนคุณแม่ตั้งครรภ์สูบบุหรี่มีไม่มาก และส่วนใหญ่รักลูกจนยอมหยุดหรือเลิกสูบบุหรี่เมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์ ตัวสามีก็มีไม่น้อยที่ยอมหยุดบุหรี่ระหว่างที่ภรรยาตั้งครรภ์ แต่ถ้าหากไม่สามารถเลิกได้ หมอจะแนะนำให้อยู่แยกบ้านในช่วงนี้เพื่อความปลอดภัย ดังนั้น การที่หญิงตั้งครรภ์เข้ารับคำปรึกษาเพื่อเลิกบุหรี่ จึงเป็นเรื่องดีมากๆ ครับ” แพทย์สูตินรีเวชกรรม รพ.ตำรวจ กล่าว.
แท็ก เลิกบุหรี่   WHO  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ