กรุงเทพฯ--14 ส.ค.--ทริปเปิล เอท ไอเดียส์
อาคารดีป้า ลาดพร้าว – รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานในพิธีเปิดหลักสูตร “ผู้นำการส่งเสริมดิจิทัลด้านธุรกิจเกษตร รุ่นที่ 2” ซึ่งจัดโดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล พร้อมฉายภาพความสำคัญของเทคโนโลยีดิจิทัล โดยเฉพาะเทคโนโลยี “5G” ที่มีผลต่อภาคการเกษตรไทยนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดหลักสูตร “ผู้นำการส่งเสริมดิจิทัลด้านธุรกิจเกษตร รุ่นที่ 2” (Chief of Digital AGRO Business – CDA#2) ซึ่งจัดโดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า หลังได้รับผลตอบรับอย่างดีจากรุ่นที่ผ่านมา
โดยหลักสูตรดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ที่จะยกระดับทักษะ องค์ความรู้ พร้อมเสริมสร้างความเข้าใจด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลภาคการเกษตร อีกทั้งเปิดมุมมองด้านเศรษฐกิจดิจิทัลควบคู่กับการเกษตรสมัยใหม่แก่ผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จำนวน 59 คน อาทิ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พันเอก ดร.นที ศุกลรัตน์ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ดร.วัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย ประธานหอการค้าจังหวัดอุดรธานี นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางสาวศลิษา หาญพานิช ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ฯลฯ
จากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ ให้เกียรติกล่าวปาฐกถาพิเศษแก่ผู้เข้าร่วมอบรม โดยเปิดเผยว่า กระทรวงดิจิทัลฯ เล็งเห็นความสำคัญของเทคโนโลยี 5G ที่มีผลต่อภาคเศรษฐกิจและสังคมของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง โดยเทคโนโลยี 5G จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเทคโนโลยีดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็น AI, IoT และ Big Data ซึ่งจะถูกนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ การศึกษา ภาคอุตสาหกรรม การขนส่ง การท่องเที่ยว หรือแม้แต่ภาคการเกษตรที่จะช่วยยกระดับเกษตรไทยสู่การเป็นเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farm) แต่จะต้องประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับภูมิภาคและพื้นที่
ด้าน ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าวว่า ที่ผ่านมา ดีป้า ได้ดำเนินการส่งเสริม และสนับสนุนให้เกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนในทุกภูมิภาคทั่วประเทศเลือกประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่เหมาะสมกับบริบทของตนเอง ผ่านเทคโนโลยีจากผู้ให้บริการดิจิทัล (Digital Provider) ที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานฯ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ มอบหมาย เพื่อให้เกิดการจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ใช้บริการกับผู้ให้บริการ ซึ่งเกษตรกรและชุมชนจะสามารถเข้าถึงแพลตฟอร์มต่าง ๆ ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และเกิดความมั่นใจในการได้รับเทคโนโลยีดิจิทัลที่ได้มาตรฐาน อีกทั้งส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ ตรวจสอบ และวิเคราะห์การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเหมาะสมก่อนนำไปใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีโดรนเพื่อการเกษตร ระบบรดน้ำอัจฉริยะ ระบบควบคุมการรดน้ำอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยี IoT การนำแพลตฟอร์มดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในภาคการผลิต อาทิ Smart RSPO Palm Oil Plantation and Logistic Management เป็นต้น