กรุงเทพฯ--14 ส.ค.--แอบโซลูท พีอาร์
บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK ผู้ให้บริการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์รายใหญ่ในประเทศไทย รายงานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กำไรครึ่งปีแรก 153.0 ล้านบาท ลดลง 33.5% จาก 230.0 ล้านบาท และมีรายได้รวม 1,363.2 ล้านบาท ลดลง 29.8% จาก 1,942.2 ล้านบาท โดยหากเลือกใช้การตั้งสำรองตามข้อผ่อนปรนการจัดชั้นลูกหนี้ตามแนวปฏิบัติทางการบัญชี จะมีกำไรครึ่งปีแรก 256.6 ล้านบาท โตขึ้น 12% เผยโควิด-19 ส่งผลกระทบเศรษฐกิจที่ชะลอตัวต่อเนื่องจากปี 2562 ในวงกว้าง ประกอบกับผลกระทบโดยตรงจากยอดขายรถจักรยานยนต์ และรถยนต์ครึ่งปีแรก ลดลง 18.1% และ 37.3% ตามลำดับ เผยการช่วยเหลือกลุ่มลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 มีลูกค้าได้รับความช่วยเหลือรวมทั้งในประเทศ และต่างประเทศกว่า 200,000 ราย พบลูกค้าส่วนใหญ่ยังชำระเต็มจำนวนถึง 74.6% ทำให้บริษัทฯ สามารถเก็บค่างวดได้สูงถึง 87.4% ในไตรมาส 2 ซึ่งมากกว่าที่บริษัทฯ คาดไว้ ทั้งนี้คาดว่ายังคงมีอีกหลายปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเผชิญ บริษัทฯ จึงใช้นโยบายเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เพื่อควบคุมคุณภาพลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง ในขณะมีการควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ ควบคู่กับการนำดิจิทัลเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งมีการบริหารจัดการแหล่งต้นทุนทางการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ คาดจะส่งผลดีต่อผลประกอบการของบริษัทฯ ในระยะยาวต่อไป
นางสาวปฐมา พรประภา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีมติอนุมติงบการเงินสำหรับรอบบัญชีสิ้นสุด 30/6/2563 บริษัทฯ มีรายได้รวมอยู่ที่ 1,363.2 ล้านบาท ลดลง 29.8% จาก 1,942.2 ล้านบาท กำไรสุทธิ 153.0 ล้านบาท ลดลง 33.5% จาก 230.0 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนช่วงเวลาเดียวกัน โดยในไตรมาส 2/2563 มีกำไรสุทธิ 52.3 ล้านบาท ลดลง 55.3% จาก 117.1 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน และรายได้รวม 622.3 ล้านบาท ลดลง 35.3% จาก 962.5 ล้านบาท โดยมีลูกหนี้เช่าซื้อและลูกหนี้เงินให้กู้ยืมสุทธิรวม 5,886.1 ล้านบาท ลดลง 20.9% จาก 7,438.6 ล้านบาท เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2562 จากนโยบายเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อต่อเนื่องมา 7 ไตรมาส และในไตรมาส 2/2563 ที่ผ่านมา ยังได้มีมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งในประเทศและต่างประเทศกว่า 200,000 ราย
“ผลประกอบการดังกล่าว เป็นการตั้งสำรองโดยใช้มาตราฐานบัญชี TFRS 9 ทั้งนี้ หากบริษัทฯ ตั้งสำรองตามข้อผ่อนปรนการจัดชั้นลูกหนี้ตามแนวปฏิบัติทางการบัญชี บริษัทฯ จะมีกำไรครึ่งปีแรก 256.6 ล้านบาท หรือโตขึ้น 12% อย่างไรก็ตาม ไตรมาสที่ผ่านมา ธุรกิจส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงลูกค้าบางส่วนของ TK บริษัทฯ จึงได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้า โดยแบ่งเป็น 4 มาตรการหลัก คือ 1) การหยุดพักชำระหนี้ค่างวด 2) การลดยอดผ่อนชำระค่างวดลงให้อยู่ในระดับขั้นต่ำตามที่กำหนด 3) การให้ส่วนลดพิเศษเพิ่มเติมจากอัตราปกติสำหรับลูกหนี้ที่ต้องการปิดยอดคงค้างของบัญชีก่อนกำหนด และ 4) การให้ความคุ้มครอง Covid-19 สำหรับลูกค้าที่ยังคงชำระค่างวดเต็มได้ตามเดิม ซึ่งที่ผ่านมาลูกค้าโดยส่วนใหญ่ยังมีการชำระเต็มจำนวนเฉลี่ยสูงถึง 74.6% จึงทำให้บริษัทฯ สามารถเก็บค่างวดคิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ยสูงถึง 87.4% ในช่วงไตรมาส 2 ซึ่งสูงกว่าที่บริษัทฯ ได้คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้เตรียมความพร้อมในทุก ๆ ด้าน ในกรณีที่สถานการณ์ดังกล่าวยังคงยืดเยื้อ โดยจะใช้มาตรการที่เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อและการควบคุมคุณภาพลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง ควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ ควบคู่กับการนำดิจิทัลเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งบริหารจัดการแหล่งต้นทุนทางการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลดีต่อผลประกอบการของบริษัทในระยะยาวต่อไป” นางสาวปฐมา กล่าว
ทางด้านนายประพล พรประภา กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 2/2563 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 52.3 ล้านบาท ลดลง 55.3% จาก 117.1 ล้านบาท และรายได้รวม 622.3 ล้านบาท ลดลง 35.3% จาก 962.5 ล้านบาท ส่วนรายได้เช่าซื้อ มีจำนวน 514.9 ล้านบาท ลดลง 33.8% จาก 778.4 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้ยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ครึ่งปีแรกในปี 2563 มีจำนวน 732,636 คัน ลดลง 18.1% จาก 894,148 คัน และยอดจำหน่ายรถยนต์ครึ่งปีแรกในปี 2563 มีจำนวน 328,604 คัน ลดลง 37.2% จาก 523,770 คัน ส่วนของรายได้อื่น ๆ ในไตรมาส 2 มีจำนวน 104.1 ล้านบาท ลดลง 42.0% จาก 179.6 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน อันเป็นผลมาจากมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกค้าในช่วง Covid-19 โดยบริษัทฯ ได้ยกเว้นเบี้ยปรับต่าง ๆ และค่าติดตามทวงถาม ในช่วงเวลาดังกล่าว
“ในสภาพเศรษฐกิจที่ถดถอย TK หันมาให้ความสำคัญกับการดูแลลูกค้าในพอร์ต ควบคู่กับการควบคุมค่าใช้จ่าย และการนำดิจิทัลเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ค่าใช้จ่ายรวมในไตรมาส 2/2563 ลดลง 30.6% จาก 779.5 ล้านบาท เป็น 540.6 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังคงควบคุมต้นทุนทางการเงินตามกลยุทธ์ที่กำหนดไว้ โดยในไตรมาส 2/2563 มีต้นทุนทางการเงินจำนวน 21.3 ล้านบาท ลดลง 37.9% จาก 34.3 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน เนื่องจากมีการใช้วงเงินกู้ลดลง เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ประกอบกับมีการบริหารจัดการแหล่งต้นทุนทางการเงินที่มีประสิทธิภาพ โดย ณ สิ้นไตรมาส 2 นี้ บริษัทฯ มีสถานะเงินสดอยู่ที่ระดับประมาณ 1,200 ล้านบาท ซึ่งถือว่ามีความพร้อมที่จะสามารถนำไปชำระคืนหุ้นกู้ ชำระค่าหุ้นในการซื้อกิจการ MFIL ในประเทศเมียนมา และพร้อมกลับมาเร่งทำตลาดเพื่อขยายตัวในประเทศ เมื่อสถานการณ์ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นทันที” นายประพลกล่าวเพิ่มเติม
นายประพลกล่าวเสริมว่า แม้ว่าผลประกอบการในประเทศไทยจะหดตัว แต่ผลประกอบการในต่างประเทศของ TK ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยสัดส่วนสินเชื่อในต่างประเทศเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 22% ณ สิ้นไตรมาส 2 ของปี 2563 โดยมาจากประเทศกัมพูชาเป็นหลักที่ระดับ 19% และคาดว่าสัดส่วนสินเชื่อในต่างประเทศจะเพิ่มขึ้นเป็น 30% ในสิ้นปี 2563 นี้
เกี่ยวกับบริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน)
บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์รายใหญ่ของประเทศ ปัจจุบันมีพนักงานกว่า 1,900 คน มีสาขาบริการรวม 75 สาขา มีบริษัทลูกในประเทศ 3 บริษัท และต่างประเทศ 3 บริษัท ในกัมพูชา ลาว เมียนมา ให้บริการลูกค้าเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ทั้งในและนอกประเทศ โดยมีลูกค้าประมาณ 300,000 ราย