กรุงเทพฯ--17 มี.ค.--แมวร่อน มิวสิค
จิรัฐติพันธ์คือชายหนุ่มธรรมดาๆ คนหนึ่ง ซึ่งพี่ๆ เพื่อนๆ จะรู้ดีว่าความทะโมนทางความคิด อารมณ์ขัน และความสนใจในเรื่องดนตรีอยู่ในขั้นมากกว่าธรรมดานิดนึง เกิดที่จังหวัดชุมพร หลังจากจบการศึกษาชั้นมัธยมต้นที่บ้านเกิด ก็ได้มาศึกษาต่อในระดับมัธยม และปริญญาตรีที่กรุงเทพ และได้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีคณะบริหารธุรกิจ สาขาการตลาด จากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ปัจจุบันกำลังศึกษาระดับปริญญาใจ แต่ยังไม่มีกำหนดจบ) ไม่ได้พกพาความใฝ่ฝันมาจากบ้าน ไม่ได้มีความรัก และสนใจในเรื่องดนตรีมาตั้งแต่เด็กๆ กว่าจะได้รู้จักฟังเพลงสากล ก็เป็นในช่วงมัธยมปลายเข้าไปแล้ว โดยศิลปินเพลงสากลที่ชอบคนแรกคือ Debbie Gibson (ปัจจุบันก็ยังชอบอยู่ และชอบมากกว่าเดิมด้วย) แต่ระหว่างศึกษาอยู่ที่ต่างจังหวัดนั้นก็ได้มีโอกาสฟังผลงาน เพลงไทยสากลของศิลปินกลุ่ม และศิลปินคู่ กลุ่มหนึ่ง ซึ่งได้ ซึมซับ และบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ดนตรีในตัว และเป็นที่มาของ แรงบันดาลใจ และความรักที่มีต่อดนตรีในเวลาต่อมา ศิลปินที่กล่าวถึงนั้นคือ “คาราบาว” ในชุด เมด อิน ไทยแลนด์ และศิลปินคู่ “อัสนี และวสันต์ โชติกุล” ในชุด บ้าหอบฟาง
ประสบการณ์ด้านดนตรี?
ก่อนที่จะเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีนั้นก็บังเอิญได้มีโอกาสฟังผลงานเพลงสากลของศิลปินกลุ่มหนึ่ง ซึ่งได้กลายมาเป็นจุดหักเหในเรื่องดนตรี และนำพาเข้าสู่ การเดินทางสู่การศึกษาเรียนรู้ สู่ความรัก และหลงไหลในเสียงดนตรี โดยเฉพาะในแนวอิเล็กโทรนิก ร็อค และโปรเกรสซีพ นั้นคืองานเพลง “Sorrow” ของคณะ Pink Floyd ในชุด A Momentary Lapse of Reason ตั้งแต่นั้นมาก็ได้เข้าศึกษาต่อในด้านดนตรีหลากหลายสาขาทั้ง คลาสสิกกีตาร์ แซ็กโซโฟน และเปียโน (แต่ก็เอาดีไม่ได้สักอย่าง ฮา) จนสุดท้ายมาลงเอยที่หลักสูตร
การประพันธ์ และเรียบเรียงเสียงประสานที่โรงเรียนดนตรี “ศศิลิยะ” ซึ่งมีอาจารย์ศักดิ์ชาย เล็กวงศ์เดิม เป็นผู้อำนวยการอยู่ในขณะนั้น โดยได้ศึกษาหลักสูตรดังกล่าวในช่วงปี ๒๕๓๕-๒๕๓๘ จนจบในหลักสูตรระดับกลาง ระหว่างนั้นก็ได้มีโอกาสได้รู้จักกับคุณพงษ์ศักดิ์ ภูววีรานนท์ โดยการแนะนำของคุณฐานิศวร์ วิมลนิตย์ ซึ่งเป็นอาจารย์สอนเปียโน โดยทั้งสองเป็นหนึ่งในทีมคนดนตรีเบื้องหลังแห่งสังกัด Butterfly Studio จึงได้มีโอกาสได้ศึกษา และฝึกฝนเพิ่มเติมในเรื่องการเขียนคำร้อง การเรียบเรียงเสียงประสาน และได้มีโอกาสเขียนคำร้องให้เพลงประกอบโฆษณา เพลงละครโทรทัศน์ (เรื่องม้าเหล็ก ทางช่อง ๓, เรื่องแก้ว ทางช่อง ไอทีวี) และเพลงสำหรับรายการโทรทัศน์ (รายการหนึ่งในเมืองไทย ทางช่อง ๗) และอื่นๆ โดยรับเป็นงานอดิเรก ระหว่างที่ทำงานในบริษัทเอกชนในสายงานตามสาขาวิชาที่เรียนมา ระหว่างนั้นยังได้มีโอกาสร่วมแสดง และร่วมในการทำเพลงประกอบละครเวที กับชาวคณะละครมรดกใหม่ของอาจารย์ชนประคัลภ์ จันทร์เรือง (เนื่องจากเกิดความซนที่อยากจะศึกษาศิลปะในเรื่องการแสดง และละครเวที และเป็นจังหวะที่ทางคณะละครรับสมัครนักเรียนการแสดง) โดยละครที่ได้รับโอกาสจากครูช่างให้ร่วมทำประกอบด้วยเรื่อง “แม็คเบท” ละครเรื่อง “เพื่อนยาก” และละครใน
เทศกาลละครของคณะละครมรดกใหม่อีกหลายๆ เรื่อง
เดอะวินด์ กรุ๊ปคือใคร?
เดอะ วินด์ (The Wind) คือนามแฝงที่ใช้แทนชาวคณะ ซึ่งประกอบด้วยบุคคลากรจากหลากหลายสายงานอาชีพ ทั้งที่อยู่ในใจกลาง และในเขตปริมณฑลของวงการบันเทิง ทั้งวงการละคร และวงการดนตรี ทุกคนเปรียบเสมือนสายลม เป็นลมเพลงที่มีทั้งอ่อนไหว พลิ้วแผ่ว หรือพัดเรื่อยๆ เย็นๆ ใจ และสายลมที่พัดกรรโชกแรง โดยได้มารวมกันในแบบเฉพาะกิจ เพื่อบันทึกเสียงการถ่ายทอดสด อารมณ์ความรู้สึกของแต่ละเพลง แล้วนำเสนอสู่คุณผู้ฟังผ่านทางสื่อต่างๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อความบันเทิง และความระทม ความสนุกสนาน ฯลฯ ของคุณๆ ตามอารมณ์ของเพลงนั้นๆ
คำว่า กรุ๊ป (Group) หมายถึงการรวมตัวกัน จะด้วยความตั้งใจแต่เริ่ม โดนฉุดกระชากลากถู ทนรำคาญเสียงรบเร้าอ้อนวอนไม่ไหว หรือตกกระไดพลอยโจน ก็สุดแล้วแต่ (น่าจะเป็นเพราะสามข้อหลังมากกว่า แต่ยืนยันว่าไม่มีการอุ้ม และไม่มีโครงการ "เอื้ออาทร" ล่อใจแต่อย่างใด)
แต่... เมื่อลมเพลงบรรเลง หัวใจของสายลมทุกๆ สายจะไปรวมอยู่ในที่เดียวกัน และนั่นคือสิ่งที่ทุกๆ ท่านกำลังได้ฟัง... "ดนตรี"
อัลบั้มชุดที่ ๑๐ หนึ่งในเมืองไทยเกิดขึ้นได้อย่างไร และทำไมต้องเป็นชุดที่ ๑๐?
อัลบั้มนี้เกิดจากความรักในดนตรี จากแรงบันดาลใจที่ได้รับจากศิลปินมากมายโดยเฉพาะศิลปินที่จัดอยู่ในกลุ่มดนตรี Rock’ n Roll, Progressive Rock ทั้งไทยและต่างประเทศ ดนตรีพื้นบ้าน และดนตรีไทยเดิม ตลอด ๑๐ กว่าปีที่ผ่านมา รวมทั้งแรงบันดาลใจจากบุคคลผู้ทรงคุณค่าอีกท่านหนึ่งของวงการดนตรีไทย ทั้งในด้านการสร้างงาน และแนวทางในการดำเนินธุรกิจดนตรี นั่นคือคุณเรวัต พุทธินันท์ (ครั้งหนึ่งในขณะที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรี ได้เคยตั้งใจว่าหลังจากจบแล้วจะไปขอเข้าพบคุณเรวัต เพื่อของานทำ แต่ก็ไม่มีโอกาส) แต่กระนั้นความมุ่งมั่นและความตั้งใจที่จะสร้างผลงานของตัวเอง ความตั้งใจที่จะนำเสนองานดนตรีที่ จะเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมบ่มเพาะวัฒนธรรมการสร้างสรรค์ ทางดนตรีของไทยก็ยังคงมีอยู่เรื่อยมา และจากการที่ได้พบปะ ได้รู้จัก ได้รับคำแนะนำจากคนดนตรีพี่ๆ เพื่อนๆ และน้องๆ จากหลายๆ ที่ หลายๆ สาขาอาชีพในอุตสาหกรรมบันเทิง ความพร้อมในด้านวัตถุดิบ เครื่องมือซึ่งปัจจุบันมีโปรแกรมสำเร็จรูปที่สามารถช่วยอำนวยความสะดวกในการทำเพลงในงบประมาณที่ถูกลงกว่าก่อนมากๆ รวมทั้งวัตถุดิบในเรื่องของเพลง และปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือเงินทุนที่มีพอในระดับ “มีมั่ง” (น้อยกว่า “มั่งมี” ประมาณ ๒๐ เท่าครึ่ง แต่มากกว่าระดับ “มีมั้ง” พอสมควร) จึงตัดสินใจลาออกจากงานประจำและมาทำงานอัลบั้มอย่างเต็มตัว โดยนำเพลงหนึ่งในเมืองไทย ที่เคยเขียนคำร้องให้กับรายการสำหรับสถานีโทรทัศน์ รายการหนึ่งมาเป็นเพลงเอก ด้วยความรู้จักของผู้ฟัง และเป็นแนวคิดหลักของงานในชุดนี้ที่ต้องการให้มีความหลากหลาย และมีการนำเอาเครื่องดนตรีไทย สำเนียง เมโลดี้เพลงไทย และกลิ่นอายดนตรีไทยผสมกับดนตรีร็อค และดนตรีไทยสากลร่วมสมัย ส่วนชื่ออัลบั้มในชื่อชุดที่ ๑๐ นั้น ตั้งตามความอยากทำที่มีมานานมากๆ ถ้าได้ทำตั้งแต่ตอนนั้น เวลานี้ก็คงมีผลงานออกมาเป็น ๑๐ ชุดแล้วล่ะ งานชุดหน้าก็จะใช้ชื่อว่า “ชุดที่ ๙ ” ถัดไปก็ “ชุดที่ ๘ ”
จุดเด่นของงานในชุดนี้?
อย่างที่เกริ่นไปข้างต้นว่าแนวคิดหลัก หรือคอนเซ็ปท์ของงานในชุดนี้ต้องการความหลากหลาย ความเข้มข้น ความเป็นไทย และไม่ตามกระแส ทำให้งานออกมาคล้ายงานรวมเพลงไปกลายๆ หรืออาจคล้ายๆ งานในแบบ Preview หรือ Show Reel แต่จริงแล้วจุดเด่นของงานในชุดนี้จะประกอบอยู่ในทั้ง ๓ ส่วนของเพลงคือ ดนตรี คำร้อง และผู้ขับร้อง ไม่ใช่กำลังจะบอกว่าดีทั้งหมดเลย ซึ่งจริงๆ ก็เป็นอย่างนั้น (อ้าว) แต่จะบอกว่าในแต่ละส่วนนั้นทางกลุ่มได้ให้ความใส่ใจ และประณีตกับงานมาก
อย่างในด้านดนตรี จะเห็นว่าการเรียบเรียงมีรายละเอียดทั้งในส่วนของสีสัน เครื่องดนตรี สัดส่วน โครงสร้าง และอารมณ์ของเพลง โดยทางโปรดิวเซอร์ทั้ง ๓ คนซึ่งได้รับเพลงคนละ ๓ เพลง แบ่งเป็นเพลงช้า เพลงเร็ว และเพลงที่แสดงภาพลักษ์ในสัดส่วนที่เท่าๆ กัน จะทำการเรียบเรียงเพลงในรูปแบบของตัวเอง ผสมกับคอนเซ็ปท์ของอัลบั้ม ทำให้ได้เพลงออกมาหลากหลาย แต่ก็ฟังได้กลมกลืนกัน
อย่างสบายๆ
ในส่วนของคำร้องก็จะไม่เน้นเรื่องรักๆ ใคร่ๆ แบบกุ๊กกิ๊ก หรือฟูมฟายมากนัก เนื่องด้วยเห็นว่าในตลาด และในกระแสก็มีให้เสพกันจนจะท่วมตัวอยู่แล้ว (อันนี้ไม่ได้ประชด แต่เปรียบเปรย ให้เห็นภาพชัดๆ แฮ่ม) ดังนั้นเนื้อหาที่นำเสนอจึงออกไปในแนวกวนๆ เปรียบเปรย มีสำบัดสำนวน มีคำคล้องจองกลมกลืน หรือจะออกไปในแนวสังคม หรือปรัชญาด้วยบ้าง ประมาณว่าบรรลุนิติภาวะทาง
อารมณ์ขึ้นมานิดนึง
ในส่วนของผู้ขับร้องส่วนนี้ยิ่งต้องพูดถึงเพราะได้เพื่อนๆ และน้องๆ มาช่วยเยอะมาก ทั้งในส่วนของร้องนำ ซึ่งอันนี้ชัดเจนอยู่แล้ว โดยนักร้องนำในชุดนี้มีทั้งหมด ๕ คน เป็นสุภาพสตรี ๔ คน และบุรุษที่ไม่ค่อยสุภาพอีก ๑ คน โดยคุณสุภาพสตรีก็มาร้องกันในเพลงที่มีรูปแบบต่างๆ กันไป อารมณ์ของเพลงก็จะต่างกัน แต่เมื่อวกกลับมาดูในส่วนอารมณ์ของผู้ฟังก็จะพบว่าไม่เจ็บช้ำ น่ารักๆ อบอุ่น และแข็งแรงกำลังดี คือรวมๆ กันแล้วไม่โดดมาก แต่ในส่วนที่ภูมิใจนำเสนออีกส่วนหนึ่งคือส่วนของร้องประสานซึ่งมีรูปแบบที่ไม่จำเจทำให้อารมณ์เพลงชัดขึ้นด้วย อันนี้ชอบเป็นการส่วนตัวมากๆ ด้วย ส่วนนักร้องผู้ชายก็ไม่อยากกล่าวถึงมากนัก ลองฟังดู แล้วก็มาเล่าให้ฟังก็แล้วกันว่าเป็นอย่างไร
เพราะฉะนั้นโดยโครงสร้างพื้นฐานคงไม่แปลก แต่ถ้าวิเคราะห์ในส่วนโครงสร้างภายใน น่าจะมีอะไรให้คุณผู้ฟังค้นหา และชื่นชอบได้ไม่ยาก และก็ไม่มาก ไม่น้อย แม้กระทั่งส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน ความละเอียดของงานก็มีหลายส่วนให้เปรียบเทียบได้เช่นเดียวกัน จะติดก็ตรงเรื่องคุณภาพของการบันทึกเสียงคงจะสู้ค่ายใหญ่ๆ ยังไม่ได้เนื่องจากข้อจำกัดในด้านงบประมาณ รวมทั้งเครื่องไม้ เครื่องมือ อุปกรณ์ และบุคคลากร แต่รับรองว่างานไม่ได้ออกมาเป็นอุปรากรจีนแน่นอน (เปรียบเปรยนะ เปรียบเปรย)
Anor A Mellon และแมวร่อน มิวสิค คืออะไร และทำไมเลือกที่จะมาเป็นอินดี้?
คำว่า Anor A Mellon เป็นภาษาของชนกลุ่มหนึ่งในวรรณคดีเรื่อง The Lord of the Ring เป็นกลุ่มที่มีความรักในบทกวี คำกลอน และในขณะเดียวกันยังเป็นกลุ่มนักรบที่เข้มแข็งอีกด้วย นั่นก็คือชนกลุ่มเอลป์ หากจำกันได้ในภาพยนต์เรื่องเดียวกันนี้ มีอยู่ตอนหนึ่งซึ่งคณะผู้ถือแหวนต้องการจะเดินทางผ่านทางเหมืองของพวกคนแคระ แต่การจะผ่านเข้าไปในเหมืองได้นั้นต้องเปิดประตูบานหนึ่งเสียก่อน ซึ่งประตูบานนี้จะปรากฎขึ้นเมื่อแสงจันทร์สาดมากระทบ และต้องพูดคำวิสัชนาต่อคำกลอนที่อยู่บนประตูนั้น คำกลอนที่กล่าวไว้บนประตูมีใจความว่า “Speak Friend to Enter” และคำที่ใช้เป็นคำวิสัชนานั้นก็คือ “Mellon” คำว่า Mellon นี้มีความหมายถึง “เพื่อน” หรือ “มิตรภาพ” ด้วยความประทับใจในความหมายของคำนี้ จึงนำมาใช้เป็นชื่อของกลุ่มโดยเพิ่มคำว่า Anor ซึ่งหมายความถึงดวงอาทิตย์ หรือความรุ่งเรือง เข้าไปประกอบกันเป็น “ความรุ่งเรือง และมิตรภาพ” (คำว่า A ในภาษาเอลป์ มีความหมายเหมือนคำว่า And) อย่างไรก็แล้วแต่เนื่องจากไม่อยากใช้ชื่อเรียกขานเป็นภาษาอังกฤษ จึงใช้การเล่นคำพ้องเสียงซึ่งบ้านเรามีใช้เรียกชื่อที่เป็นภาษาอังกฤษ ออกเสียงไม่สะดวกปากมาตั้งแต่ครั้งกระโน้น เลยได้คำว่า “แมวร่อน” มาแทน “เมลลอน” (อ่านว่า “เมลลอน” นะ ไม่ไช่ “เมลล่อน”) ซึ่งได้ภาพลักษณ์ที่ออกมากวนๆ สนุกๆ แต่มีความนัย เหมือนกับภาพของกลุ่มที่อยากนำเสนอสู่ผู้ฟังอย่างพอเหมาะ พอเจาะลงตัว จึงเป็นที่มาของ “แมวร่อน มิวสิค” ส่วนที่ว่าทำไมถึงเลือกที่จะมาเป็นอินดี้ ทั้งๆ ที่ทุกวันนี้อินดี้จริงๆ มีน้อยมาก ก็คงเป็นเพราะความต้องการที่จะลองนำเสนองานที่เป็นตัวของตัวเอง ต้องการที่จะเลือกในสิ่งที่เราอยากเป็น ทำในสิ่งที่เราต้องการให้ได้มา ด้วยวิธีที่คิดว่าน่าจะลองดูว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไรอย่างน้อยสักครั้ง ก่อนที่จะลองแบบอื่น รวมไปถึงข้อจำกัดของเวลาที่ทางกลุ่มต้องการนำเสนองานด้วย หากไปอีกทางอาจต้องใช้เวลามากกว่านี้ และอาจควบคุม หรือประมาณไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีเรื่องลิขสิทธิ์ของงานด้วย แต่ประเด็นสำคัญที่อยากกล่าวถึงคือ “การตัดสิน” หรือ “การเลือกตำแหน่งของตัวเรา” ถ้าจะมองไปเดี๋ยวนี้มีการประกวด แข่งขันกันมากมาย โดยรูปแบบก็เปลี่ยนแปลงไปตามสมัยปัจจุบันก็จะเห็นกันในรูปแบบของรายการเสมือนจริง หรือ Reality Show แต่ทางมองในมุมกลับ บางสิ่งบางอย่าง เราก็สามารถเลือก และกำหนดความเป็น หรือความน่าจะเป็นของเราเองได้เพราะชีวิตบางครั้งก็เหมือนการทดลองนะ อยู่ที่ว่าเรากล้าจะทดลองความจริงหรือเปล่า
หากจะกล่าวถึง “แมวร่อน มิวสิค” เพิ่มเติม Anor A Mellon มีชื่อเล่นว่า “แมวร่อน” เป็นกลุ่มที่ก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบสัมมาอาชีวะในด้านการสร้างสรรค์ และผลิตผลงานเพลงอัลบั้มในลักษณะค่ายเพลงอิสระ รวมทั้งให้บริการสร้างสรรค์และผลิตเพลงประกอบละคร เพลงประกอบภาพยนต์ เพลงประกอบโฆษณา และงานเพลงประกอบอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีแผนงานที่จะสร้างสรรค์ และผลิตผลงานสำหรับสื่ออื่นๆ เช่นละครเพลงเวที และงานสร้างสรรค์สำหรับสื่อโทรทัศน์ในลำดับต่อไป อีกทั้งยินดีที่จะร่วมแบ่งปัน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่างๆ สำหรับพี่ๆ น้องๆ ที่สนใจเรื่องการแต่งเพลง ทำอัลบั้ม และอื่นๆ
ข้อมูลโดย : จิรัฐติพันธ์ พงษ์สุวรรณ
ข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ: นิติเทพ คูณค้ำ (โอ๋)
โทร 0-9449-4712
e-mail: o_nfc@yahoo.com--จบ--