กรุงเทพฯ--14 ส.ค.--มิวท์
ตลาดสินค้าเครื่องดื่มในญี่ปุ่นยังเป็นตลาดที่มีมูลค่าสูงและมีกำลังซื้อเมื่อเทียบกับตลาดอื่น ๆ
ในเอเชีย ผู้ผลิตในญี่ปุ่นต่างให้ความสำคัญสูงสุดกับนวัตกรรม (Innovation) เพื่อพัฒนาสินค้าใหม่ให้เหมาะกับการเปลี่ยนแปลงไปของสภาพแวดล้อมทางสังคมและรสนิยมผู้บริโภค พร้อมทั้งสร้างความต้องการใหม่ เพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดจากคู่แข่ง โดยเฉพาะการพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ ในประเภท Soft drinks
ความรู้สึกที่ว่า "บริโภคคาเฟอีนมากเกินไป" กำลังส่งผลกระทบต่อตลาดเครื่องดื่มของญี่ปุ่นอยู่ขณะนี้ ธุรกิจเครื่องดื่มในญี่ปุ่นได้รับความเห็นจากผู้บริโภคและผลสำรวจบางอย่างที่ทำให้ต้องกลับมาคิดสำหรับการผลิตสินค้าครั้งใหม่ โดยเมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท Suntory Beverage & Food Limited ได้ทำการสำรวจตลาดและได้รับความคิดเห็นจากผู้บริโภคว่า "วันไหนที่ดื่มกาแฟตอนเช้า ช่วงบ่ายจะพยายามดื่มเครื่องดื่มที่ไม่มีคาเฟอีน" ส่วนบริษัท Kirin Holdings Company, Limited ก็มีการสำรวจตลาดผู้บริโภคของบริษัทฯ เช่นกัน พบว่า ผู้หญิงอายุ 40 ปีขึ้นไปมีแนวโน้มหลีกเหลี่ยงการบริโภคเครื่องดื่มผสมสารคาเฟอีนมากขึ้นเพราะคำนึงถึงเรื่องสุขภาพ ขณะเดียวกันการทำงานอยู่บ้านมากขึ้นของคนญี่ปุ่นที่ Work from home ในช่วง COVID-19 (โควิด-19) ทำให้หยิบดื่มเครื่องดื่มที่ชอบออกมาดื่มได้สะดวกกว่าอยู่ออฟฟิศ จึงพยายามหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เพราะไม่อยากให้ร่างกายได้รับมากเกินไป พฤติกรรมของผู้บริโภคที่แสดงออกมาเช่นนี้ ทำให้ตลาดเครื่องดื่มญี่ปุ่นในช่วงฤดูร้อนที่กำลังนี้น่าจับตามองเป็นพิเศษ
แนวโน้มความนิยมของการบริโภคเครื่องดื่ม Caffeineless หรือเครื่องดื่มที่ลดปริมาณการผสมสารคาเฟอีนที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ จากเดิมที่เป็นกลุ่มคุณแม่กำลังอยู่ในช่วงให้นมลูกและพยายามหลีกเลี่ยงคาเฟอีน แต่ตอนนี้มีการขยายตัวของผู้บริโภค ส่งผลให้ผู้ผลิตเครื่องดื่มหันมาสนใจในตลาดดังกล่าว โดยมีการพัฒนาสินค้าทั้งทางด้านการตั้งชื่อผลิตภัณฑ์ให้สื่อถึงสิ่งที่ดีต่อสุขภาพ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ รวมถึงการพัฒนารสชาติและเทคโนโลยีการผลิต
นายกิตติวัฒน์ ปัจฉิมนันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโตเกียว แนะแนวทางสำหรับผู้ประกอบการสินค้าเครื่องดื่มของไทยที่ต้องการส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น ไว้ 3 ด้านว่า
ควรเข้าใจในรสนิยมและความต้องการของผู้บริโภค ดังเช่นเรื่อง Caffeineless ที่กำลังได้รับความนิยม เครื่องดื่มที่ไม่มีหรือลดน้ำตาล ภาชนะบรรจุที่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ ไม่ว่าจะเป็น ขนาด สีสัน ไปจนถึงการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมพัฒนาสินค้าให้ตรงกับแนวโน้มความต้องการของตลาด ศึกษาวิจัยและพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่เป็น Asian Speciality Drink ที่จะดึงดูดผู้บริโภคญี่ปุ่นได้ โดยเน้นจุดขายด้านประโยชน์ต่อสุขภาพและความแปลกใหม่ ซึ่งไทยเองมีความได้เปรียบในด้านวัตถุดิบที่เป็นผลผลิตการเกษตรต่าง ๆ รวมทั้งพืชสมุนไพรอยู่แล้ว แต่ทั้งนี้จะต้องระวังเรื่องการโฆษณาสรรพคุณที่ระบุประโยชน์ทางโภชนาการต่อสุขภาพ ที่อาจจะผิดกฎหมายควบคุมดูแลสินค้าอาหารเพื่อสุขภาพของญี่ปุ่นตลาดผู้บริโภคในญี่ปุ่นโดยรวมเปลี่ยนจากการซื้อเพื่อการบริโภคสินค้า (Consumption) ไปเป็นเพื่อ การสร้างประสบการณ์ด้วยสินค้า (Experience) ดังนั้น เครื่องดื่มต่าง ๆ ก็อาจจะดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคญี่ปุ่นได้จากการทำการตลาดที่ส่งเสริมการสร้างประสบการณ์ อาทิ ใช้กิจกรรมทางวัฒนธรรมอย่างเทศกาลสงกรานต์ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่คนญี่ปุ่นสอดแทรกการประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการบริโภคเครื่องดื่มไทย เป็นต้น
สำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่สนใจเข้าร่วมงานแสดงสินค้าเพื่อเจาะตลาดญี่ปุ่นเพื่อขยายตลาดสินค้า และสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับธุรกิจ สามารถเข้าร่วมโครงการส่งเสริมและเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs Pro-active โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ในแต่ละปีจะมีงานแสดงสินค้าเกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่มอยู่หลายงาน อาทิ FOODEX JAPAN, Health Food Exposition & Conference (HFE), Gourmet & Dining Style Show Tokyo และ Hoteres Japan / Caterex Japan / Japan Food Service Equipment Show (HCJ) เป็นต้น ศึกษาข้อมูลและหลักเกณฑ์โครงการเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ https://smesproactive.ditp.go.th/ หรือ Facebook Page:
SMEs Pro-active by DITP สอบถามรายละเอียดได้ที่ 02-507-7783 และ 02-507-7786