กรุงเทพฯ--17 ส.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กระทรวงเกษตรฯ สนองพระราชดำริ ดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังฯ สามารถสร้างประโยชน์ให้แก่ราษฎร ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ในพื้นที่ถึง 1.9 ล้านไร่ พร้อมมอบหมายกรมชลประทานบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังรับฟังการบรรยายสรุปการดำเนินโครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ว่า ลุ่มน้ำปากพนัง ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของจังหวัดนครศรีธรรมราช ครอบคลุมพื้นที่รวม 13 อำเภอ ของจังหวัดนครศรีธรรมราช รวมทั้งพื้นที่บางส่วนของจังหวัดพัทลุงและจังหวัดสงขลา รวมพื้นที่ประมาณ 1.9 ล้านไร่ เป็นพื้นที่นากว่า 500,000 ไร่ มีประชากรประมาณ 600,000 คน แต่จากการที่มีจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีความต้องการใช้น้ำปริมาณมากขึ้นด้วย การพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังตามแนวพระราชดำริจึงเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยพลิกฟื้นความอุดมสมบูรณ์ให้กลับคืนมา
ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมชลประทานได้สนองพระราชดำริโดยดำเนินการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังด้วยการศึกษาความเหมาะสมและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งได้ออกแบบแล้วเสร็จเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2537 และรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมผ่านความเห็นชอบของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบและอนุมัติให้เปิดโครงการ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2538 โดยดำเนินโครงการ คือ 1) งานก่อสร้างประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ์(ปากพนัง) และอาคารประกอบ 2) งานก่อสร้างระบบระบายน้ำ ทำหน้าที่ระบายน้ำและป้องกันน้ำเค็ม โดยก่อสร้างคลองระบายน้ำเพิ่มเติม พร้อมประตูระบายน้ำ 3 แห่ง และขุดลอกคลองเดิม พร้อมประตูระบายน้ำ 1 แห่ง รวม 4 แห่ง 3) งานก่อสร้างระบบส่งน้ำ พื้นที่ชลประทาน 521,500 ไร่ และ 4) งานก่อสร้างคันแบ่งเขตน้ำจืดน้ำเค็ม เพื่อแบ่งพื้นที่ใช้ประโยชน์จากการพัฒนาให้ชัดเจน และอาคารบังคับน้ำตามแนวคันกั้นน้ำ จำนวน 22 แห่ง
สำหรับโครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สามารถสร้างประโยชน์แก่ราษฎรในหลายด้าน คือ 1) สามารถป้องกันการรุกล้ำของน้ำเค็มเข้าไปทำลายพื้นที่การเกษตร 2) เก็บกักน้ำจืดไว้ในลำน้ำปากพนังและลำน้ำสาขาได้ประมาณ 70 ล้าน ลบ.ม. เพื่อการอุปโภค-บริโภค และการเพาะปลูกบริเวณสองฝั่งลำน้ำ ประมาณ 521,500 ไร่ในฤดูฝน และประมาณ 240,700 ไร่ในฤดูแล้ง 3) คลองระบายน้ำช่วยบรรเทาอุทกภัย เนื่องจากสามารถระบายน้ำลงสู่ทะเลได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น 4) ขจัดปัญหาขัดแย้งระหว่างเกษตรนากุ้งและเกษตรกรนาข้าว เนื่องจากมีการแบ่งเขตของการใช้พื้นที่อย่างชัดเจน 5) ลดปัญหาการอพยพย้ายถิ่นฐานไปทำกินในถิ่นอื่น 6) แม่น้ำปากพนังและลำน้ำสาขา เป็นแหล่งเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์น้ำจืดได้เป็นอย่างดี 7) เพิ่มพูนผลผลิตการเกษตรหลากหลายและครบวงจร ทั้งทางด้านการเพาะปลูก การประมง ปศุสัตว์ ฯลฯ ตลอดจนการพัฒนาอุตสาหกรรม 8) ยกระดับมาตรฐานการครองชีพและความเป็นอยู่ของราษฎร 9) ฟื้นฟูสภาพนิเวศวิทยาให้กลับคืนสู่ความสมดุล และ 10) ลดปัญหาการน้ำเปรี้ยวและดินเปรี้ยว
นอกจากนี้ ยังได้มีการหารือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ มีการพูดคุยถึงโครงการต่าง ๆ และเร่งรัดให้ดำเนินการ ซึ่งจะต้องมีการควบคุมและรักษาสมดุลในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ ทั้งในส่วนของการระบายน้ำ การป้องกันน้ำเค็ม และการขุดลอกตะกอนในแม่น้ำปากพนัง เป็นต้น เพื่อรองรับปริมาณน้ำในช่วงที่มีน้ำหลาก ลดปัญหาน้ำท่วมขังในเขตเทศบาล อ.ปากพนัง และช่วยกักเก็บน้ำในช่วงฤดูแล้ง เพื่อการอุปโภค-บริโภค ด้านการเกษตร และด้านประมง โดยจะต้องมีการศึกษาถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชน และจะต้องเข้าไปสร้างการรับรู้แก่ประชาชนในพื้นที่ด้วย อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ พร้อมจะรับฟังปัญหาของพี่น้องประชาชน และผลักดันงบประมาณที่จะเข้ามาสนับสนุนการดำเนินงานในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ต่อไป