กรุงเทพฯ--17 ส.ค.--กรุงเทพมหานคร
นางมาศวัลย์ ปิ่นสุวรรณ ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน กล่าวกรณีศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาให้ กทม.ใช้อำนาจตามมาตรา 40-43 ของ พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ ดำเนินการกับเจ้าของอาคารขนาดใหญ่ 2 หลังในซอยร่วมฤดี 1,2 เขตปทุมวัน เนื่องจากมีการก่อสร้างผิด พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2535 ซึ่งศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้รื้อถอนอาคารดังกล่าวว่า เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2557 สำนักงานกฎหมายและคดี ได้มีหนังสือแจ้งผลคดีชั้นศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาตามคดี ระหว่างนายแพทย์สงคราม ทรัพย์เจริญ กับพวกรวม 24 คน ผู้ฟ้องคดี บริษัท ลาภประทาน จำกัด ที่ 1 บริษัท ทับทิมทร จำกัด ที่ 2 ผู้ร้องสอด ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน ที่ 1 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ 2 ผู้ถูกฟ้องคดี ลงวันที่ 30 ต.ค. 2557 ว่ากรณีดังกล่าวมีการร้องให้ตรวจสอบเขตทางซอยร่วมฤดีบริเวณตั้งแต่ปากซอยด้านถนนเพลินจิต จนถึงที่ดินบริเวณก่อสร้างอาคารพิพาท เนื่องจากซอย มิได้มีลักษณะเป็นถนนสาธารณะที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า ๑๐ เมตร ตลอดเส้น ดังนั้น การก่อสร้างอาคาร จึงขัดข้อ ๒ ของกฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๓ (พ.ศ.๒๕๓๕) ในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.๒๕๒๒ และศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาให้กรุงเทพมหานคร ดำเนินการภายใน 60 วันนับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด พร้อมทั้งได้แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาแนวทางการดำเนินการตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด
สำนักงานเขตปทุมวัน ได้ออกคำสั่งให้อาคารทั้ง 2 ระงับการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร ห้ามมิให้บุคคลใดใช้หรือเข้าไปในส่วนใดๆของอาคารหรือบริเวณอาคาร และให้ดำเนินการแก้ไขและให้ยื่นคำขอ รับใบอนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร ต่อมาสำนักงานเขตปทุมวัน ได้ออกคำสั่งให้รื้อถอนอาคาร พร้อมส่งคำสั่งฯ ทางไปรษณีย์ตอบรับ และปิดคำสั่งฯ ณ อาคารดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันสำนักงานเขตปทุมวัน ได้ขออนุมัติจัดสรรงบประมาณรื้อถอนอาคารรายบริษัท ทับทิมทร จำกัด และบริษัท ลาภประทาน จำกัด ขณะนี้อยู่ระหว่างประสานขอยกเว้นการจัดสรรงบกลางประจำปี พ.ศ.2563
นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. กล่าวว่า จากกรณีที่มีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ซึ่งเป็นประเด็นของการอนุญาตก่อสร้างอาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่พิเศษ เพื่อเป็นการป้องกันมิให้เกิดกรณีพิพาทในลักษณะดังกล่าวอีก จึงมีขั้นตอนก่อนพิจารณาอนุญาตให้ก่อสร้างอาคาร โดยในเรื่องเขตทาง นอกจากจะพิจารณาจากทะเบียนทางหลวงท้องถิ่นแล้ว หากมีปัญหาสภาพเขตทางไม่ชัดเจน จะต้องมีหนังสือสอบถามสำนักงานเขตฯ เจ้าของพื้นที่ ซึ่งเป็นหน่วยงานรักษาที่สาธารณะ เป็นผู้ประสานกับกรมที่ดิน เพื่อรังวัดความกว้างเขตทางมาใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงประกอบการอนุญาตอาคารต่อไป