“ประพิศ” เผยอ่างเก็บน้ำแม่สอดตอนบน งานรุดหน้ากว่า 99% เก็บ-ส่งน้ำ พร้อมหนุนการขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตาก

ข่าวทั่วไป Wednesday August 19, 2020 16:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ส.ค.--กรมชลประทาน นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่าโครงการอ่างเก็บน้ำแม่สอดตอนบน อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ความจุ 13.3 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติให้สร้างเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย รวมถึงรองรับการขยายตัวของเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตากเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 ขณะนี้งานก่อสร้างมีความคืบหน้ากว่า 99% เหลือเพียงงานถนนลาดยางอีกเล็กน้อยเท่านั้น ปัจจุบันอ่างสามารถเก็บน้ำและเริ่มส่งน้ำเพื่อช่วยเหลือประชาชน ได้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมผ่านมา ทั้งด้านการเกษตร อุตสาหกรรมและระบบประปาส่วนภูมิภาคจังหวัดตาก สำหรับอ่างเก็บน้ำแม่สอดตอนบน สร้างปิดกั้นลำนำห้วยขุนแม่สอด ที่ตำบลพระธาตุผาแดง ซึ่งปกติลำน้ำจะมีน้ำท่าประมาณ 35 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี อ่างห้วยแม่สอดซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2521 สามารถเก็บกักน้ำได้ 5 ล้านลูกบาศก์เมตร และอ่างแม่สอดตอนบนซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง เมื่อแล้วเสร็จจะเก็บกักน้ำได้ 13 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมเป็น 18 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งอ่างเก็บน้ำแม่สอดตอนบนจะเพิ่มพื้นที่ชลประทานประมาณ 6,740 ไร่ ในพื้นที่ ตำบลแม่ตาว ตำบลแม่กุ และตำบลพระธาตุผาแดง ซึ่งเมื่อรวมกับพื้นที่ชลประทานของอ่างเก็บน้ำห้วยแม่สอดซึ่ง ช่วยเหลือเกษตรกรให้ได้รับประโยชน์ประมาณ 8,000 ไร่ ส่งผลให้หลังจากนี้ในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก จะมีพื้นที่ชลประทานรวม 14,740 ไร่ ทั้งนี้ จากการศึกษาของกรมชลประทานคาดการณ์ว่าในอีก 20 ปีข้างหน้าจะมีความต้องการใช้น้ำสำหรับกิจกรรมต่างๆ ประมาณ 14 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี เป็นความต้องการน้ำภาคการเกษตรประมาณ 7.10 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคประมาณ 5.35 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และน้ำสำหรับภาคอุตสาหกรรมประมาณ 1.64 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี อ่างเก็บน้ำแม่สอดตอนบนจึงทำหน้าที่เก็บกักน้ำในฤดูฝนและส่งน้ำให้กับประชาชนทั้งในภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม ภาคอุปโภค-บริโภค ตอบสนองความต้องการใช้น้ำในอนาคตในภาคส่วนต่างๆ รวมทั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตากด้วย ทั้งนี้หลังจากการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแล้วเสร็จจะมีการปรับภูมิทัศน์ให้สวยงานเพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของอำเภอแม่สอดต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ