กรุงเทพฯ--20 ส.ค.--มหาวิทยาลัยมหิดล
วิกฤติ Covid-19 ทำให้ทุกวิถีชีวิตต้องปรับเปลี่ยนให้ “บ้าน” เป็น “ที่ทำงาน” สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล วิจัยพบบุคลากรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างต่อเนื่องพร้อมทำงานที่บ้านไปด้วยจนถึง 6 เดือน (Exclusive Breast Feeding) ได้ทั้งสายใยแม่ลูก และความผูกพันต่อองค์กร เตรียมขยายผลผลักดันเป็นนโยบายระดับชาติ
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า นมแม่มีประโยชน์หลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการสร้างสายสัมพันธ์แม่ลูก ซึ่งส่งผลระยะยาวถึงตอนโต ซึ่งในขณะที่ลูกดูดนมจากเต้านม ร่างกายแม่จะหลั่งฮอร์โมน “ออกซิโทซิน” หรือ “ฮอร์โมนแห่งความรัก” ที่ทำให้ลูกรู้สึกอบอุ่นปลอดภัย สถาบันฯ จึงได้ริเริ่มโครงการวิจัยกรณีศึกษาการทำงานที่บ้านด้วยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และเพิ่มสายใยสัมพันธ์แม่ลูก ซึ่งเป็นโครงการนำร่องของมหาวิทยาลัยมหิดล ตามแนวคิดความรับผิดชอบต่อเด็กและครอบครัว Corporate Child and family Responsibility (CCFR) โดยริเริ่มวิจัยกรณีศึกษาบุคลากรของสถาบันฯ ซึ่งกำหนดให้ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ต้องเลี้ยงลูกด้วยตนเองด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวตลอด 6 เดือน โดยได้มีการสร้างเงื่อนไขเฉพาะสำหรับการทำงานที่บ้าน ซึ่งมีระบบตรวจสอบเวลา และคุณภาพของการทำงาน พบว่าแม่ลูกมีความใกล้ชิดกัน โดยมีสายใยผูกพันกันและกันเป็นอย่างดี และมีความรักความผูกพันต่อองค์กรมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นดำเนินการภายใต้หลักจริยธรรมการจัดการที่ดี และมีความรับผิดชอบต่อเด็กและครอบครัว โดยมหาวิทยาลัยมหิดลมีนโยบายจะนำแนวคิดมาใช้กับหน่วยงานอื่นๆ ภายในมหาวิทยาลัยมหิดล และขยายผลผลักดันสู่นโยบายในระดับชาติต่อไป
ดร.ธีรตา ขำนอง นักวิจัยหลักของโครงการฯ กล่าวว่า โครงการศึกษาวิจัยการทำงานที่บ้านด้วยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีระยะเวลาศึกษา 1 ปีงบประมาณ โดยเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 – กันยายน 2563 ซึ่งหลังจากผู้เข้าร่วมโครงการใช้สิทธิลาคลอดตามปกติแล้ว ยังสามารถทำงานที่บ้านและเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไปได้อีก 3 เดือน โดยที่ได้รับเงินเดือน รวมแล้วสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้จนครบ 6 เดือนเต็ม ตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การยูนิเซฟ (UNICEF) กำหนด ซึ่งบุคลากรที่เข้าร่วมโครงการ จะได้รับการเยี่ยมบ้าน 2 ครั้ง คือ ครั้งแรกหลังคลอดบุตร และอีกครั้งใน 3 เดือนถัดไป เพื่อสัมภาษณ์เก็บข้อมูล และให้คำแนะนำในการเลี้ยงดูลูก ซึ่งโครงการฯ เริ่มต้นตั้งแต่ก่อนการระบาดของ Covid-19 โดยสามารถเป็นต้นแบบให้กับหลายองค์กรได้ใช้เป็นทางเลือกให้บุคลากรของตนเองได้
"ครูไหม" ครูพี่เลี้ยงเด็กที่เข้าร่วมโครงการฯ กล่าวว่า รู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นบุคลากรคนแรกของสถาบันฯ ที่ได้เข้าร่วมโครงการ สถาบันฯ ทำเพื่อเรา ในขณะที่เราทำเพื่อครอบครัว และสถาบันฯ ด้วย สิ่งที่ได้คือความสุขในครอบครัว และความรักความภาคภูมิใจที่มีต่อสถาบันฯ ที่ให้ความสำคัญกับบุคลากร และอยากส่งต่อความสุขนี้ให้แก่องค์กรอื่นๆ ต่อไป
ด้วยภารกิจหลักของ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ได้พิสูจน์ถึงบทบาทในการกระตุ้นให้สังคมหันมาตระหนักถึงความสำคัญของครอบครัว ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิต เพื่อให้เด็กเติบโตโดยมีพัฒนาการที่สมบูรณ์ พร้อมเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่ทรงคุณค่าของสังคมต่อไป