กรุงเทพฯ--20 ส.ค.--กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
นางปิยนุช วุฒิสอน ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมตรวจราชการแบบบูรณาการกับ นางสาวปภัสมน อัมราลิขิต ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เขตตรวจราชการที่ ๖ พร้อมด้วยผู้ตรวจราชการกระทรวงต่างๆ ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม และผู้แทนผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข โดยได้ประชุมร่วมกับ นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และที่ปรึกษาผู้ตรวจราชการภาคประชาชนทั้ง ๔ ด้าน ตลอดจนผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจติดตามงาน/โครงการตามแผนการตรวจราชการแบบบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๓ ณ ห้องประชุม ชั้น ๑ ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต โดยคณะผู้ตรวจราชการฯ ได้ติดตามผลการดำเนินการ ๓ ประเด็นหลัก ได้แก่ ๑) การเกษตรสร้างมูลค่า (ประเด็นเกี่ยวกับเกษตรแปลงใหญ่ เกษตรปลอดภัย/เกษตรอินทรีย์ แผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri Map) การพัฒนาเกษตรกรสู่ Smart Farmer) ๒) การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน (ประเด็นเกี่ยวกับการจัดเก็บข้อมูลชุมชนชายเลน ๖ ชุมชน การสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องสิทธิประโยชน์ การเร่งรัดจัดที่ดินและส่งเสริมอาชีพให้แก่ราษฎร) ๓) การพัฒนาชุมชนเมือง (ประเด็นเกี่ยวกับการจัดการพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืน การอนุรักษ์และฟื้นฟูแม่น้ำลำคลองและแหล่งน้ำธรรมชาติ การพัฒนาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยทั้งในเมืองและชนบท)
ทั้งนี้ ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลฯ ได้เสนอแนะเพิ่มเติมว่าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงดิจิทัลฯ ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตสามารถส่งเสริมการดำเนินงานต่างๆ ได้ อาทิ ประเด็นการตลาดออนไลน์ สามารถประสานความร่วมมือกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ซึ่งมีช่องทางการขายสินค้าชุมชนทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ผ่าน Thailandpostmart.com เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการขายสินค้าเกษตรของจังหวัดภูเก็ต สำหรับประเด็นการพัฒนาเกษตรกรสู่ Smart Farmer นั้น สำนักงานเกษตรจังหวัดภูเก็ตสามารถประสานกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สาขาภูเก็ต เพื่อหารือเรื่องการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลส่งเสริมการดำเนินงานดังกล่าวได้ นอกจากนี้ สถานีอุตุนิยมวิทยา ยังสามารถสนับสนุนข้อมูลด้านอุตุนิยมวิทยา เช่น การคาดการณ์ปริมาณน้ำฝน การพยากรณ์ต่างๆ ให้แก่เกษตรกรได้ใช้ประโยชน์ในการทำการเกษตรอีกด้วย
จากนั้น คณะผู้ตรวจราชการฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจติดตามเกษตรแปลงใหญ่ ณ กลุ่มปลูกสับปะรด หมู่ ๑ ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ซึ่งสับปะรดภูเก็ตมีลักษณะพิเศษเฉพาะตัว คือ มีเนื้อสีเหลืองเข้ม กลิ่นหอม เยื่อใยน้อย รสชาติหวานกรอบ แกนผลมีความกรอบมากรับประทานได้ โดยมีผลผลิตจำหน่ายช่วงเดือนกันยายน – มีนาคม มีการจำหน่ายผ่านออนไลน์ทั้งเว็บไซต์และเฟซบุ๊ก รวมทั้งได้ประสานกับ บจ.ไปรษณีย์ไทย ในเรื่องการจัดส่งและการขายผ่าน Thailandpostmart.com แต่ที่ผ่านมาผลผลิตไม่เพียงพอในการขายได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งคณะผู้ตรวจราชการฯ ได้เสนอแนะให้มีการสำรวจความต้องการตลาด เริ่มจากภายในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตก่อน ประสานกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน บริการด้านการท่องเที่ยว และขยายไปยังภายนอกพื้นที่ โดยร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ขับเคลื่อนตลาดต่อไป หรืออาจนำเสนอเรื่องราว (Story telling) ของสับปะรดภูเก็ต (พันธุ์ภูเก็ตที่ปลูกในพื้นที่ภูเก็ต) ที่มีคุณสมบัติพิเศษและมีลักษณะเฉพาะ สะท้อนจากสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ซึ่งเกษตรกรในกลุ่มถึง 5 - 6 ราย ได้ขึ้นทะเบียน GI ด้วยแล้ว และควรหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดเรื่องการส่งเสริมตลาดให้เกิดความยั่งยืน