กรุงเทพฯ--21 ส.ค.--นานมีบุ๊คส์
คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่คงประสบปัญหาที่ว่า “วันนี้จะทำอะไรให้ลูกกินดีนะ” “ตอนนี้ลูกฉันกินอะไรได้บ้างนะ” หรือแม้แต่ “เด็กวัยนี้ควรกินอะไรนะ” ซึ่งปัญหาเกี่ยวกับการกินของเด็กนั้นก็เหมือนปัญหาโลกแตกที่หาคำตอบได้ยากเสียเหลือเกิน เพราะเด็กแต่ละช่วงวัยก็มีความต้องการสารอาหารที่แตกต่างกัน แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าตอนนี้ลูกน้อยของเราควรกินอะไรดี
วันนี้เราก็มีหนังสือที่จะมาช่วยแก้ปัญหาเกี่ยวกับการกินของลูกน้อยมาฝาก นั่นก็คือ ลูกน้อยวัยนี้ กินอะไรดีนะ โดยคุณ Nakamura Teiji และคุณ Makino Naoko ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการของญี่ปุ่น แต่หากใครกำลังคิดว่าหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือแปลแล้วจะเข้ากับคนไทยเหรอ ขอตอบได้เลยว่าไม่ต้องกังวล เพราะหนังสือเล่มนี้ได้รับการปรับตามปริมาณสารอาหารที่ควรได้รับต่อวันของไทย พ.ศ. 2563 โดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และผ่านการปรับเนื้อหาให้เข้ากับคนไทยโดยนักกำหนดอาหารวิชาชีพที่รับรองว่าเชื่อถือได้แน่นอน
หนังสือเล่มนี้เรียกได้ว่าเป็นสุดยอดคู่มือโภชนาการและสารอาหารสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกวัย 1-5 ขวบ ที่รวบรวมความรู้พื้นฐานด้านโภชนาการ การทำงานของสารอาหาร การเตรียมอาหาร การเลือกวัตถุดิบ และการจัดเตรียมอาหารให้เหมาะสมกับอาการป่วยของลูกน้อย ที่ครบจบในเล่มเดียว ภายในเล่มยังมีภาพประกอบสี่สีสวยงามที่มาช่วยให้คุณเข้าใจเรื่องราวต่างๆ ได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
เรามาเจาะลึกเข้าไปที่เนื้อหาภายในเล่มกันดีกว่า หนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็น 5 บทใหญ่ๆ ในบทแรกก็จะพูดถึงเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับพื้นฐานโภชนาการโดยรวม ว่าเราจะกินอาหารให้สมดุลได้อย่างไร พลังงานที่ควรได้รับต่อวันในแต่ละช่วงวัยคือเท่าไร ทั้งแบบที่เป็นมาตรฐานและแบบที่เป็นสูตรคำนวณเพื่อเจาะลึกลงไปตามสภาพร่างกายและกิจกรรมในแต่ละวันของแต่ละคน รวมไปถึงนิสัยการกินที่เหมาะสมอีกด้วย เช่น เราควรเริ่มต้นวันใหม่อย่างกระปรี้กระเปร่าด้วยอาหารเช้าเพื่อเป็นการเติมพลังให้พร้อมก่อนลุยกิจกรรมในแต่ละวัน และต้องระวังไม่ให้กินอาหารในมื้อกลางวันหรือมื้อเย็นมากเกินไป เพราะเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายจะไม่ค่อยได้ใช้พลังงานหรือเผาผลาญมากเท่าตอนเช้า และยังมีส่วนที่เจาะลึกลงไปถึงความแตกต่างตามช่วงวัยและสภาพแวดล้อมในการใช้ชีวิตประจำวันอีกด้วย
ในบทที่สอง จะเป็นการลงรายละเอียดไปที่ตัวสารอาหารแต่ละชนิดว่าคืออะไรบ้าง มีหน้าที่อย่างไร และร่างกายเราควรได้รับเท่าไร หากได้รับมากหรือน้อยเกินไปจะส่งผลต่อร่างกายอย่างไร โดยนำเสนอด้วยคาร์แรกเตอร์ตัวการ์ตูนสุดน่ารักที่จะทำให้เราจำได้ว่าสารอาหารแต่ละตัวมีความสำคัญอย่างไร เช่น วิตามิน K ซึ่งเป็นวิตามินที่ช่วยห้ามเลือด ก็จะมีตัวการ์ตูนใส่ชุดสีขาวทำผมเป็นตัว K และถือปลาสเตอร์ยา ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถใช้ตัวการ์ตูนนี้ในการสอนและดึงดูดความสนใจให้ลูกอยากอาหารเพิ่มได้
ในบทที่สาม เน้นเจาะลึกลงไปที่เคล็ดลับการจัดเตรียมอาหารสำหรับเด็กในแต่ละช่วงวัย โดยสอดแทรกพัฒนาการของเด็กและลักษณะฟันเพื่อให้คุณพ่อคุณแม่จัดเตรียมอาหารให้ลูกได้อย่างเหมาะสม เช่น เด็กวัย 1-1 ขวบครึ่ง ควรเน้นอาหารอ่อนหรือข้นเป็นหลัก เพราะฟันกรามของเด็กยังไม่ขึ้น จึงควรให้เด็กได้ฝึกใช้ฟันหน้ากับเหงือกฉีกและบดอาหารไปก่อน และเด็กยังนั่งนิ่งๆ ได้ไม่นานจึงไม่ควรให้เด็กใช้เวลากินอาหารนานเกินไป
ในบทที่สี่ เป็นบทที่เน้นการเลือกวัตถุดิบในการทำอาหารให้ตรงตามพื้นฐานโภชนาการ โดยเจาะลึกลงไปที่แต่ละวัตถุดิบเลยว่าอุดมไปด้วยสารอาหารใด จะเลือกซื้อวัตถุดิบนั้นอย่างไร ควรกินคู่กับอะไรจึงเสริมการทำงานของกันและกัน และเคล็ดลับการกินสำหรับเด็กควรเป็นอย่างไร เช่น ข้าวสวยเป็นแหล่งพลังงานที่ขาดไม่ได้ในร่างกาย ซึ่งแนะนำให้กินกับเนื้อหมูเพราะวิตามิน B1 ในเนื้อหมูจะช่วยเปลี่ยนน้ำตาลให้เป็นพลังงาน และเคล็ดลับในการกินสำหรับเด็กก็คือ ควรใส่น้ำในระหว่างหุงให้มากกว่าปกติเพื่อให้ข้าวนิ่มขึ้น และเมื่อเด็กอายุ 3 ขวบขึ้นไปจึงให้กินข้าวที่นิ่มเท่ากับผู้ใหญ่ได้
ส่วนในบทสุดท้ายเป็นข้อแนะนำด้านอาหารและโภชนาการที่เหมาะสมกับอาหารป่วยของเด็ก ว่าหากลูกมีอาหารป่วยต่างๆ เรามีข้อควรระวังเกี่ยวกับอาหารอย่างไร และดัดแปลงให้ลูกกินอย่างไร สิ่งใดควรทำไม่ควรทำ เช่น หากลูกมีไข้ ก็แบ่งออกได้เป็น 3 กรณีคือ ถ้าเด็กที่ยังอยากอาหารอยู่ก็ควรให้อาหารที่ย่อยง่าย เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม หากเด็กไข้ขึ้นสูงและไม่อยากอาหารก็ไม่ควรบังคับให้กิน แต่ควรเติมน้ำเข้าสู่ร่างกายเพื่อไม่ให้มีอาการขาดน้ำ และเมื่อไข้ลดลงแล้ว ให้ค่อยๆ เพิ่มส่วนผสมที่มีโปรตีนและวิตามินทีละน้อยเพื่อช่วยฟื้นฟูพละกำลังให้แก่เด็ก อีกทั้งยังมีข้อเสนอแนะในการเติมน้ำให้แก่ร่างกายเด็กด้วยการให้กินผงเกลือแร่ผสมน้ำ เพื่อเป็นแหล่งพลังงานและแร่ธาตุที่ร่างกายของลูกน้อยสูญเสียไป
และในท้ายเล่มยังมีช่วง Q&A ที่มาตอบปัญหาน่ากังวลใจของคุณพ่อคุณแม่อีกด้วย ไม่ว่าจะในเรื่องความชอบหรือไม่ชอบกินอาหารของเด็ก การกินน้อยหรือกินมากเกินไป วิธีกินของลูก เช่น ถ้าเด็กไม่กินผัก ก็อาจลองหั่นผักเป็นชิ้นเล็กๆ ต้มให้นิ่ม และใช้เทคนิคการประกอบอาหารช่วยในช่วงแรก เพื่อให้เด็กไม่รู้สึกว่านั่นเป็นผักและคุ้นชินกับรสชาติมากยิ่งขึ้น
ตอนนี้เราก็หวังว่าคุณพ่อคุณแม่หลายๆ คนคงเริ่มเห็นแนวทางการแก้ปัญหาเกี่ยวกับการกินของเจ้าตัวเล็กกันบ้างแล้ว และหลังจากนี้เมื่อคุณต้องเจอกับคำถามที่ว่า “วันนี้จะทำอะไรให้ลูกกินดีนะ” ความรู้สึกของคุณจะเริ่มเปลี่ยนไป เพราะคุณมีคลังความรู้ด้านโภชนาการอยู่ในมือแล้ว แค่เลือกหยิบจับแต่ละส่วนออกมาใช้ในแต่ละวันอย่างสร้างสรรค์เท่านั้นเอง เราขอให้คุณสนุกกับการทำอาหารในทุกมื้อของเจ้าตัวเล็กนะคะ
สั่งซื้อ โทร. 0-2622-3000 กด 0 หรือ www.nanmeebooks.com, www.facebook.com/nanmeebooksfan ติดตามข่าวสารและหนังสือที่น่าสนใจอีกมากมายเพียง ADD LINE @nanmeebooks และ @nmbadult