กรุงเทพฯ--24 ส.ค.--สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
สทนช.และกรมธนารักษ์ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการใช้ข้อมูลร่วมกัน แลกเปลี่ยนข้อมูลผังน้ำและแผนที่รูปแปลงที่ดินราชพัสดุ หวังใช้ประเมินความเสียหายกรณีเกิดอุทกภัยและจัดโซนนิ่งที่ดินราชพัสดุ เสริมศักยภาพ “ผังน้ำ” เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศอย่างเป็นระบบ
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และนายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการใช้ข้อมูล ระหว่างสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กับ กรมธนารักษ์ โดยมี นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการ สทนช. และ นายธำรงค์ ทองตัน ผู้อำนวยการสูง รักษาการในตำแหน่งนักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ กรมธนารักษ์ ร่วมลงนามเป็นพยานในบันทึกข้อตกลงฯ พร้อมด้วย ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของทั้ง 2 หน่วยงาน เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในพิธี ณ ห้องประชุมน้ำปิง ชั้น 4 อาคารจุฑามาศ สทนช. ถนนวิภาวดีรังสิต เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า สทนช. ทำงานร่วมกับกรมธนารักษ์ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งหน่วยงาน ซึ่งได้รับความร่วมมือด้านข้อมูลในภารกิจต่าง ๆ เป็นอย่างดีเสมอมา เช่น กรมธนารักษ์ได้ปรับปรุงแนวหลักเขตรอบบึงบอระเพ็ดใหม่ ตามแผนหลักการพัฒนาและฟื้นฟูบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ ปัจจุบัน สทนช. มีภารกิจและหน้าที่ในการจัดทำ “ผังน้ำ” ตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นการจัดทำแผนที่หรือแผนผังแสดงระบบทางน้ำของทุกแหล่งน้ำที่มีน้ำไหลผ่านและเชื่อมโยงกันตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ จนออกลงสู่ทะเล โดยในการจัดทำ “ผังน้ำ” ต้องมีการรวบรวมข้อมูลประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดินโดยรอบทางน้ำทั้งหมดเพื่อประกอบการจัดทำผังน้ำด้วย โดยข้อมูลแผนที่รูปแปลงที่ดินราชพัสดุที่ได้รับความร่วมมือจากกรมธนารักษ์ในครั้งนี้ จะทำให้การจัดทำ “ผังน้ำ” มีความรอบด้านและครอบคลุมการใช้ประโยชน์ที่ดินทั้งหมด
ทั้งนี้ ปัจจุบัน สทนช. อยู่ในระหว่างดำเนินการจัดทำผังน้ำ จำนวน 8 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำบางปะกง ลุ่มน้ำแม่กลอง ลุ่มน้ำสะแกกรัง ลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำท่าจีน และจะทยอยดำเนินการให้ครอบคลุม 22 ลุ่มน้ำ ภายในปี 2566 ซึ่งเมื่อการจัดทำผังน้ำแล้วเสร็จและประกาศใช้จะเป็นเครื่องมือสำคัญและเป็นประโยชน์ในการบริหารจัดการน้ำของประเทศได้อย่างเป็นระบบและครบในทุกมิติ ทั้งในสภาวะปกติและกรณีเกิดวิกฤตการณ์ด้านน้ำ การเชื่อมโยงลุ่มน้ำต่าง ๆ เข้าด้วยกัน การจัดทำสมดุลน้ำ การบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประโยชน์อื่น ๆ อีกมากมาย ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง สามารถนำ “ผังน้ำ” ไปใช้สนับสนุนแผนงานการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย รวมทั้งการบริหารจัดการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำได้อีกด้วย ซึ่งจะเป็นพื้นฐานไปสู่ความมั่นคงด้านน้ำ ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และสร้างความมั่นคงด้านเศรษฐกิจของประเทศไทย
ด้าน นายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวว่า กรมธนารักษ์ดำเนินการเกี่ยวกับการปกครอง ดูแล การบำรุงรักษา และบริหารจัดการทรัพย์สินภาครัฐในการใช้และการจัดหาประโยชน์ในที่ราชพัสดุ การพัฒนาศักยภาพที่ราชพัสดุ รวมถึงปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย ทั้งนี้ กรมธนารักษ์พร้อมในการให้ความร่วมมือด้านข้อมูลแผนที่รูปแปลงที่ดินราชพัสดุและข้อมูลในด้านต่าง ๆ ของกรมธนารักษ์ ให้กับ สทนช. เพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการจัดทำผังน้ำและเสริมภารกิจในการพัฒนาทรัพยากรน้ำของชาติให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
สำหรับบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการใช้ข้อมูล ระหว่างสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติกับกรมธนารักษ์ มีกำหนดระยะเวลา 4 ปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทั้งสองหน่วยงานได้ใช้ประโยชน์ข้อมูลร่วมกันในการดำเนินงาน ตามภารกิจและหน้าที่ของหน่วยงาน โดยข้อมูลของกรมธนารักษ์ ที่ประกอบด้วย “ข้อมูลแผนที่รูปแปลงที่ดินราชพัสดุ” ในรูปแบบ Shapefile ซึ่ง สทนช. สามารถนำมาใช้เป็นฐานข้อมูลสำหรับการประเมินความเสียหายของที่ดินราชพัสดุที่อยู่ในระบบทางน้ำตามที่กำหนดในผังน้ำเมื่อเกิดเหตุการณ์อุทกภัย และประมาณราคาในการปรับปรุง รื้อถอน หรือเวนคืน กรณีที่ต้องทำการปรับปรุงผังน้ำในบริเวณดังกล่าวให้มีความสามารถในการระบายน้ำได้ตามศักยภาพจริง นอกจากนี้ ข้อมูลของ สทนช. ในรูปแบบ “ข้อมูลผังน้ำ” ซึ่งกรมธนารักษ์สามารถนำไปใช้ประกอบเป็นข้อมูลในการพิจารณาการใช้ประโยชน์ที่ดิน (Zoning) ที่ราชพัสดุที่อยู่ในระบบทางน้ำตามที่กำหนดในผังน้ำ ให้เป็นไปตามมาตรา 56 พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 โดยกรมธนารักษ์จะนำข้อมูลดังกล่าวเผยแพร่ในระบบ GIS เพื่อให้ผู้รับบริการ สามารถตรวจสอบแนวเขต Zoning ร่วมกับข้อมูลรูปแปลงที่ดินราชพัสดุ ได้อีกด้วย