วว. ต้อนรับ “นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

ข่าวทั่วไป Tuesday August 25, 2020 10:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ส.ค.--สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมผู้บริหารและนักวิจัย วว. ร่วมให้การต้อนรับ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและคณะ ในโอกาสเยี่ยมชม วว. ขอบข่ายภารกิจกลุ่มบริการอุตสาหกรรม ได้แก่ “ศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบขนส่งทางราง” ในกรอบการดำเนินงานด้านระบบขนส่งทางราง โดย วว. เป็นหน่วยงานกลางของประเทศในด้านการทดสอบรับรองคุณภาพ ด้านระบบขนส่งที่ครอบคลุมทั้งด้านระบบรางและส่วนเชื่อมต่อกับการขนส่ง เช่น รถไฟขนส่งสินค้า รถไฟฟ้าในเมือง รถบรรทุกสินค้า ยานยนต์ไฟฟ้า ฯลฯ เพื่อสนับสนุนด้านความปลอดภัยในการใช้งานระบบขนส่งทางรางและเสริมขีดความสามารถผู้ประกอบการในการทดแทนการนำเข้าชิ้นส่วนระบบราง ให้บริการทดสอบและประเมินด้านความแข็งแรง ความคงทน ความปลอดภัย การสั่นสะเทือน ของระบบรางซึ่งคลอบคลุมทั้งรถไฟขนส่งสินค้า (รฟท.) รถไฟฟ้าในเมือง (รฟม.) รถบรรทุกเล็ก (รถกระบะ) และรถบรรทุกใหญ่ (รถสิบล้อ รถเทรลเลอร์) ชิ้นส่วนระบบรางที่ วว. ให้บริการทดสอบวิเคราะห์ครอบคลุมทั้งการทดสอบคุณสมบัติพื้นฐาน การทดสอบเสมือนการใช้งานจริง จัดทำโครงการที่ปรึกษาทางวิศวกรรมเพื่อแก้ปัญหา พัฒนาปรับปรุงคุณภาพวัสดุและผลิตภัณฑ์แก่ผู้ประกอบการ และยังให้บริการจัดฝึกอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้แก่อุตสาหกรรมทั่วไปเพื่อส่งเสริมผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศให้สามารถแข่งขันได้ทั้งตลาดในประเทศ ตลาดภูมิภาคและตลาดโลก นอกจากนี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ และคณะยังได้เยี่ยมชมภารกิจกลุ่มวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ ได้แก่ “ศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ” ซึ่งเป็นหน่วยรวบรวม เก็บรักษา ทรัพยากรชีวภาพ จุลินทรีย์ พืชและสัตว์ พร้อมทั้งจัดทำข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพ ดำเนินการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านสารชีวภาพและชีวภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยีกระบวนการทางชีวภาพ ในกรอบการดำเนินงานของศูนย์นวัตกรรมผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรม (ICPIM) มุ่งเน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านจุลินทรีย์โพรไบโอติกที่ครบวงจร ประกอบด้วย ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ ทดสอบจุลินทรีย์โพรไบโอติกมาตรฐาน ISO/IEC 17025 คลังเก็บรักษาสายพันธุ์โพรไบโอติก (Probiotic Bank) ห้องปฏิบัติการเฉพาะทางภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยทางชีวภาพระดับ 2 (Biosafety Level 2) สำหรับงานวิจัยพัฒนาเพื่อคัดเลือกจุลินทรีย์โพรไบโอติกที่มีศักยภาพกับอุตสาหกรรมอาหารสุขภาพ อาหารนม และระบบกระบวนการผลิตเชื้อจุลินทรีย์ตามมาตรฐานการผลิตที่ดี (Good Manufacturing Practice : GMP) เพื่อการผลิตจุลินทรีย์โพรไบโอติกสำหรับนำไปใช้ในระดับอุตสาหกรรม ในวันศุกร์ที่ 21 สิงหาคม 2563 ณ วว. เทคโนธานี ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ