กรุงเทพฯ--26 ส.ค.--เอ็ม ที มัลติมีเดีย
บมจ.เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) (บริษัทฯ) เดินหน้ายื่นคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน (แบบไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) เพื่อเตรียมนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลาดหลักทรัพย์ฯ) โดยเตรียมเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 300 ล้านหุ้น ชูศักยภาพการเป็นผู้นำการให้บริการจัดส่งพัสดุด่วนในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่(New Economy) ของประเทศอย่างธุรกิจอีคอมเมิร์ซ โดย เคอรี่ เอ็กซ์เพรส นับเป็นบริษัทผู้ให้บริการจัดส่งพัสดุด่วนรายแรกในประเทศไทยที่จะนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
นาย อเล็กซ์ อึ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ปัจจุบันธุรกิจจัดส่งพัสดุด่วนนอกจากจะเป็นกลไกสำคัญของธุรกิจอีคอมเมิร์ซแล้ว ยังเป็นส่วนสำคัญของธุรกิจต่างๆ และในชีวิตประจำวันของคนไทย ดังนั้น บริษัทฯ จึงมีความมุ่งมั่นที่จะเสริมธุรกิจและการบริการให้แข็งแกร่งมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในด้านเทคโนโลยี การพัฒนาศักยภาพและความเชี่ยวชาญของบุคลากร เพื่อให้บริษัทฯ สามารถรองรับการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เพิ่มความแข็งแกร่งให้ธุรกิจไทย และยังช่วยให้วิถีชีวิตของคนไทยสะดวกสบายและดียิ่งขึ้นกว่าเดิม
จากข้อมูลของ Frost & Sullivan ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยชั้นนำ ระบุว่า บมจ.เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) เป็นผู้นำการให้บริการจัดส่งพัสดุด่วนภาคเอกชนในประเทศไทยที่เติบโตรวดเร็วที่สุด เมื่อพิจารณาจากปริมาณพัสดุที่จัดส่งโดยเฉลี่ยต่อวัน โดยในปี 2557 – 2562 ปริมาณพัสดุรวมที่ บริษัทฯ ดำเนินการจัดส่ง มีอัตราเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปีที่ 134.9% และยังเป็นผู้ให้บริการการเรียกเก็บเงินปลายทาง (Cash-on-Delivery) เป็นรายแรกและรายใหญ่ที่สุดในกลุ่มผู้ให้บริการจัดส่งพัสดุด่วนภาคเอกชนในประเทศไทยเมื่อพิจารณาจากมูลค่าธุรกรรม
ขณะเดียวกัน Frost & Sullivan ยังคาดการณ์ว่า การค้าปลีกผ่านออนไลน์ในปี 2562 – 2567 จะมีอัตราเติบโตเฉลี่ยสะสมที่ 17.3% ต่อปี จากการขยายตัวของอินเทอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์ รวมถึงนโยบายรัฐบาลที่ต้องการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางดิจิทัล ซึ่งจะส่งผลดีต่อธุรกิจจัดส่งพัสดุด่วน
ด้านประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) ได้กล่าวต่อว่า บริษัทฯ ใช้โมเดลการกระจายพัสดุแบบ Hub-and-Spoke จากศูนย์คัดแยกไปยังศูนย์กระจายพัสดุย่อย เพื่อจัดส่งไปถึงจุดหมายปลายทาง และดำเนินธุรกิจแบบ Asset-Light ด้วยการเช่าทรัพย์สินต่าง ๆ เช่น อาคารสำนักงาน ศูนย์คัดแยกพัสดุ รถรับส่งพัสดุ เป็นต้น จึงไม่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากและมีความยืดหยุ่นในการปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ
นางสาววีณา เลิศนิมิตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินร่วม กล่าวว่า ปัจจุบัน บมจ.เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) ได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อพิจารณาอนุมัติ โดยจะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน (IPO) ต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก จำนวนไม่เกิน 300 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นไม่เกิน 17.24% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO ครั้งนี้
ทั้งนี้ ธุรกิจของบริษัทฯ เติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยรายได้จากการขายและให้บริการ เติบโตจาก 6,626 ล้านบาท ในปี 2560 เป็น 19,782 ล้านบาท ในปี 2562 ในขณะที่กำไรสุทธิ เติบโตจาก 730 ล้านบาท ในปี 2560 เป็น 1,329 ล้านบาท ในปี 2562 สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพทางธุรกิจและความเป็นผู้นำด้านการให้บริการจัดส่งพัสดุด่วนภาคเอกชนในประเทศไทย
นายประเสริฐ ตันตยาวิทย์ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินร่วม กล่าวว่า บมจ.เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) ถือเป็นบริษัท ที่มีศักยภาพ มีแบรนด์ที่แข็งแกร่งเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับจากผู้บริโภค และอยู่ในอุตสาหกรรมที่ได้รับประโยชน์จากเทรนด์การเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซซึ่งจะส่งผลดีต่อความต้องการใช้บริการจัดส่งพัสดุด่วน โดยเมื่อบริษัทฯ นำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้วจะช่วยเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจและความแข็งแกร่งของฐานะการเงิน
ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563 เคอรี่ เอ็กซ์เพรส มีจุดให้บริการกว่า 15,000 แห่ง ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ มีศูนย์คัดแยกพัสดุขนาดใหญ่จำนวน 9 แห่ง ศูนย์กระจายพัสดุย่อยกว่า 1,200 แห่ง และรถจัดส่งพัสดุภายใต้การบริหารของบริษัทฯ กว่า 25,000 คัน