กรุงเทพฯ--26 ส.ค.--สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ
สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เรียกร้องการทบทวนการให้ความช่วยเหลือและหาทางออกเพื่อผู้พลัดถิ่นและบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติชาวโรฮิงญาทั้งในประเทศและนอกประเทศเมียนมาในวันนี้ (21 สิงหาคม 2563)
เป็นเวลา 3 ปีนับจากการอพยพลี้ภัยครั้งล่าสุดของผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาที่หนีภัยจากการสู้รบในประเทศเมียนมาเพื่อแสวงหาที่พักพิงที่ปลอดภัยในประเทศบังคลาเทศ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2560 ความท้าทายในด้านต่างๆ ยังคงอยู่และเกิดขึ้นใหม่อย่างต่อเนื่อง วิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นอีกหนึ่งเหตุกาณ์ที่เพิ่มความซับซ้อนต่อสถานการณ์ให้มากยิ่งขึ้น ชุมชนนานาชาติต้องไม่เพียงให้การสนับสนุนผู้ลี้ภัยและชุมชนที่มอบที่พักพิง แต่ต้องตอบสนองความต้องการที่เร่งด่วนและขยายการหาแนวทางแก้ไขให้ทันท่วงที
กลุ่มชาวโรฮิงญาคาดการณ์ว่ามีประชากรโรฮิงญามากถึง 3 ใน 4 ที่อาศัยอยู่นอกประเทศเมียนมา ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาขึ้นทะเบียนอยู่กับ UNHCR และรัฐบาลบังคลาเทศมากกว่า 860,000 คน ในพื้นที่พักพิงผู้ลี้ภัยเมืองค็อกซ์ บาซาร์ ประเทศบังคลาเทศได้แสดงจุดยืนที่หนักแน่นด้านมนุษยธรรมเพื่อผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา ตลอดเวลาที่ผ่านมา บังคลาเทศได้มอบความคุ้มครองและขยายความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและในปัจจุบันได้ให้ที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาที่ขึ้นทะเบียนอยู่มากถึง 9 ใน 10 ส่วนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ความเมตตาที่ยิ่งใหญ่นี้ควรเป็นที่รับรู้และได้รับการสนับสนุนเพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาและชุมชนบังคลาเทศที่มอบที่พักพิง
ทั้งนี้ ทางออกของสถานการณ์ชาวโรฮิงญาขึ้นอยู่กับประเทศเมียนมา และการปฏิบัติที่ครอบคลุมตามคำแนะนำของคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านรัฐยะไข่ที่รัฐบาลเมียนมาได้ยึดมั่น
การสร้างปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อความปลอดภัยและการกลับคืนสู่มาตุภูมิอย่างยั่งยืนของชาวโรฮิงญาต้องการความร่วมมือจากสังคมโดยรวม การกลับมาเริ่มและขยายการเจรจาระหว่างหน่วยงานของเมียนมาและผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา รวมถึงมาตรการอื่นๆ ที่เสริมสร้างความเชื่อใจ ได้แก่ การยกเลิกการจำกัดเสรีภาพในการโยกย้าย การให้ความมั่นใจกับผู้พลัดถิ่นชาวโรฮิงญาภายในประเทศให้กลับสู่ชุมชนที่อยู่อาศัย และการให้แนวทางที่แน่ชัดต่อการรับรองสถานะพลเมือง
การมอบความช่วยเหลือแก่ชาวโรฮิงญานอกประเทศเมียนมาของเรา นอกจากการให้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และการดูแลความเป็นอยู่ของชาวโรฮิงญาในปัจจุบันแล้ว ยังรวมถึงการรักษาความหวังและการพัฒนาโอกาสในอนาคตให้กับพวกเขาด้วย ซึ่งนั่นหมายถึงการทำงานเพื่อหาทางออกที่ยั่งยืนที่ไม่จำกัดอยู่เฉพาะภายในประเทศเมียนมาเท่านั้น แต่เป็นโอกาสด้านการศึกษาและการทำงานนอกประเทศที่ขอลี้ภัย และการเตรียมขอย้ายไปประเทศที่สามด้วยเช่นกันสำหรับกลุ่มบุคคลที่มีความเปราะบางมากที่สุด
ความเข้มแข็งและการปรับตัวเข้ากับชีวิตใหม่ของชาวโรฮิงญาที่ลี้ภัยอยู่ในบังคลาเทศและที่อื่นๆ ได้กลายเป็นแกนหลักของการรับมือด้านมนุษยธรรมตลอด 3 ปีที่ผ่านมา และพวกเขายังได้มอบความช่วยเหลือกลับคืนสู่ชุมชนที่ให้ที่พักพิงของเขาด้วย การให้ความเคารพและระลึกถึงความกล้าหาญและความสามารถของชาวโรฮิงญา คือการกระทำที่จะให้ความมั่นใจว่าพวกเขาจะไม่ถูกลืมเมื่อวิกฤตเดินทางเข้าสู่ปีที่ 4
UNHCR ยังคงมอบความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องแก่ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ลี้ภัยในกลุ่มเปราะบางเช่น เด็ก ผู้หญิง และผู้สูงอายุ การบริจาครายเดือนช่วยให้เรามอบความช่วยเหลือได้อย่างต่อเนื่องและสร้างชีวิตใหม่ให้พวกเขาได้อย่างยั่งยืน คุณสามารถร่วมช่วยเหลือได้เช่นกันที่เว็บไซต์ www.unhcr.or.th/donate/rohingyaemergency