กรุงเทพฯ--28 ส.ค.--เจริญโภคภัณฑ์อาหาร
กรมประมง ร่วมกับสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย คณะพัฒนาระบบการผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ประมงไทย ผู้เลี้ยง และผู้ส่งออกกุ้ง ผนึกกำลังหนุนไทยเดินหน้าสู่การทำฟาร์มกุ้งด้วยความรับผิดชอบอย่างยั่งยืนและใส่ใจสิ่งแวดล้อม สร้างความมั่นใจผู้บริโภคทั่วโลก
รายงานข่าวจากคณะพัฒนาระบบการผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ประมงไทย (Thai Sustainable Fisheries Roundtable : TSFR) เปิดเผยว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้งขาวของไทยให้ความสำคัญกับการรักษาสมดุลสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มีการปรับปรุงการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่อาหารสัตว์ การปรับปรุงฟาร์มและกระบวนการเลี้ยง การบริหารจัดการน้ำและพลังงาน เพื่อลดการปล่อยของเสียสู่ธรรมชาติ โดยเฉพาะการผลิตอาหารสัตว์มีการใช้ปลาป่นที่มาจากการประมงที่รับผิดชอบและได้รับมาตรฐานสากลระดับโลก ขณะเดียวกันยังมีการพัฒนาระบบการเลี้ยงเพื่อบำบัดน้ำให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้
นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือกับภาครัฐในการปรับปรุงการบริหารการประมงให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมุ่งควบคุมเครื่องมือจับปลา วิธีการจับปลา ตลอดจนการพัฒนาระบบติดตามเรือประมง (Vessel Monitoring System : VMS) ให้สอดคล้องกับแนวทางการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลด้วยความรับผิดชอบที่ถูกต้องตามกฎหมาย มีการรายงาน และมีการควบคุมเป็นอย่างดี หรือ Non-IUU (Non-Illegal Unreported Unregulated)
คณะพัฒนาระบบการผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ประมงไทย ก่อตั้งโดยสมาชิก 8 สมาคม ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสัตว์น้ำและการส่งออก ได้ร่วมดำเนินโครงการพัฒนาการประมงอย่างยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Fishery Improvement Projects : FIPs) โดยมีวัตถุประสงค์ในการปรับปรุงสภาวะการประมงและการปฏิบัติต่างๆ ทั้งฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทยเพื่อความยั่งยืนสูงสุด โดยมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการและการทำประมงของไทยด้วยความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม โปร่งใส สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทั้งห่วงโซ่อุปทาน
การดำเนินกิจกรรมของคณะพัฒนาระบบการผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ประมงไทย ร่วมกับกรมประมง ซึ่งเป็นภาคส่วนหลักที่สำคัญในการสนับสนุนและผลักดันให้เกิดการปรับปรุงการทำประมงเพื่อให้ได้วัตถุดิบในการผลิตอาหารกุ้งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและถูกต้องกฎหมาย ควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบการทำฟาร์มกุ้งของไทยอย่างต่อเนื่องเพื่อลดการปล่อยของเสีย นอกจากจะช่วยให้การประมงไทยได้รับการปลดใบเหลืองจากสหภาพยุโรปแล้ว ยังส่งผลให้อุตสาหกรรมกุ้งไทยได้รับการจัดอันดับล่าสุด จากโครงการ Seafood Watch ของพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำมอนเทอเรย์เบย์ (Monterey Bay Aquarium Seafood Watch(R)) ของสหรัฐอเมริกา โดยได้รายงานผลการการประเมินการทำฟาร์มกุ้งในประเทศไทยว่ามีความคืบหน้าและปรับปรุงได้ดีขึ้นหลายด้านโดยเฉพาะการจัดหาปลาป่นเพื่อนำไปผลิตเป็นอาหารสัตว์และลดผลกระทบต่อชุมชนได้คะแนนจากการประเมินดีกว่าที่ผ่านมา ทำให้การประเมินในภาพรวมของไทยอยู่ในระดับสีเหลือง ซึ่งหมายถึงกุ้งขาวของไทยเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้บริโภคในสหรัฐ
สำหรับ 8 สมาคม ที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย สมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย สมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทย สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย สมาคมกุ้งไทย สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย และสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป
รายงานข่าวจากคณะพัฒนาระบบการผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ประมงไทย เปิดเผยด้วยว่า คณะพัฒนาฯ มีเป้าหมายยกระดับสถานะกุ้งไทยในสหรัฐให้อยู่ในระดับสีเขียว (Best Choices หรือ Green) ซึ่งเป็นกุ้งที่มาจากการบริหารจัดการฟาร์มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และต้องเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับผู้บริโภคทั่วโลก
โครงการ Seafood Watch แนะนำการบริโภคกุ้งขาวให้ผู้บริโภค 3 ระดับ คือ สีเขียว หมายถึงทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับการบริโภค เพราะมาจากการบริหารจัดการฟาร์มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สีเหลือง หมายถึง แนะนำให้ซื้อเพราะให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการ การจับและการทำฟาร์ม และสีแดง หมายถึง หลีกเลี่ยงการซื้อ เพราะมาจากทำธุรกิจที่ทำลายสมดุลทางทะเลและสิ่งแวดล้อม
น.สพ.สุจินต์ ธรรมศาสตร์ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ ธุรกิจสัตว์น้ำ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟ มีนโยบายและแนวทางการจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืน เพื่อให้การจัดหาปลาป่นเพื่อผลิตอาหารสัตว์น้ำของบริษัทฯ เป็นไปด้วยความรับผิดชอบ ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯใช้ปลาป่นที่ได้มาจากผลพลอยได้จากโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ปลาและเป็นปลาที่จับมาอย่างถูกต้องภายใต้มาตรฐานของ MarinTrust Standard Version 2.0 ซึ่งสอดคล้องกับ Code of Conduct for Responsible Fisheries ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO)
นอกจากนี้ ยังเป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มโครงการ FIPs เพื่อร่วมพัฒนาการประมงในอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ตลอดจนการร่วมมืออย่างต่อเนื่องกับ MarinTrust ในการพัฒนาหลักเกณฑ์การประเมินการบริหารจัดการประมงอวนลากสำหรับสัตว์น้ำหลากหลายสายพันธุ์ (Mixed Trawl Fisheries) เพื่อนำร่องสร้างมาตรฐานการประมงอย่างรับผิดชอบมาตรฐานแรกของโลก ที่ใช้ได้กับอาเซียนอย่างเหมาะสม ซึ่งครอบคลุมการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทาน เช่น ภาคเอกชน ภาครัฐบาล ภาคประชาสังคม
“ซีพีเอฟ ให้ความสำคัญกับแหล่งที่มาของวัตถุดิบเป็นหนึ่งในพื้นฐานการผลิตอาหารปลอดภัยอย่างยั่งยืน ตลอดจนดูแลรับผิดชอบการใช้แรงงานตามกฎหมายไทยและหลักปฏิบัติสากลและเป็นธรรม ด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดห่วงโซ่การผลิต” น.สพ. สุจินต์ กล่าว