กรุงเทพฯ--31 ส.ค.--ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ
ศจย.ปลื้ม รณรงค์ชวนคนเลิกสูบบุหรี่เด็ดขาดช่วงไวรัสก่อโรคโควิด 19 ยังแพร่ระบาดทั่วโลก ได้ผลดีแม้มีมาตการผ่อนปรน พบคนไทยเลิกสูบบุหรี่ต่อเนื่องจนปัจจุบันมากถึง ร้อยละ 57 แนะทุกภาคส่วนเร่งศึกษา ถอดบทเรียน เสริมความแข็งแกร่งแคมเปญ เพื่อเป็นฟันเฟืองให้ไทยคงสถานะประเทศที่จัดการปัญหาโรคระบาดอุบัติใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ
ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) เผยผลสำรวจ พฤติกรรมการสูบบุหรี่ของประชาชนหลังผ่อนปรนโควิด 19 แบบควิก โพล ในช่วงมาตรการผ่อนปรนสถานการณ์โควิด 19 (COVID-19) เพื่อนำข้อมูลไปใช้พัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายด้านสุขภาพ และรณรงค์ให้คนไทยเลิกสูบบุหรี่ตลอดระยะเวลาที่ไวรัสก่อโรคโควิด 19 ยังระบาด พบว่ามีเรื่องน่ายินดี เนื่องจากการสำรวจทางออนไลน์ทั่วประเทศในช่วงเดือนปลายเดือนมิถุนายน 2563 ที่รัฐบาลเริ่มผ่อนปรนมาตรการต่างๆ มากขึ้นนั้น คนไทยส่วนใหญ่อายุระหว่าง 21-60 ปี ทั้งเพศชายและเพศหญิง วุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ร้อยละ 75.8 และสูบบุหรี่มากถึง ร้อยละ 87 มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสูบบุหรี่ในทางที่ดีขึ้น โดยประชาชนที่เลิกสูบบุหรี่ในช่วงโควิด 19 ระบาดหนัก ยังคงเลิกสูบอย่างต่อเนื่องแม้จะเข้าสู่ระยะผ่อนปรนมีมากถึง ร้อยละ 57 ส่วนผู้ที่กลับมาสูบมีพฤติกรรมการสูบบุหรี่น้อยลงกว่าเดิม ร้อยละ 56.8 แต่มีส่วนที่ต้องเฝ้าระวังเช่นกัน เพราะผลสำรวจพบว่า มีกลุ่มที่เลิกสูบบุหรี่ได้แล้วในช่วงโควิด 19 ระบาดหนัก กลับมาสูบบุหรี่ใหม่อีกครั้ง ร้อยละ 43
ศ.นพ.รณชัย กล่าวต่อว่า ขณะที่ประชาชนทั่วไปมีความกังวัลอย่างมากต่อควันบุหรี่มือสองและควันบุหรี่มือสามจากผู้สูบบุหรี่ที่อยู่รอบตัว ในช่วงที่วิกฤตโควิด 19 ยังไม่มีวัคซีนรักษาอย่างเป็นทางการถึงร้อยละ 64.7
“การรณรงค์ขอความร่วมมือให้ประชาชนเลิกสูบบุหรี่จากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ผ่านการให้ความรู้ตามช่องทางการสื่อสารต่างๆ ในช่วงโควิด 19 ระบาด ถือว่าประสบความสำเร็จไม่น้อย และยังส่งผลต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน แต่ยังไม่สามารถไว้วางใจได้ เนื่องจากทั่วโลกยังไม่มีวัคซีนป้องกันไวรัสก่อโรคโควิด 19 ที่สามารถใช้งานได้จริง และเมื่อรัฐบาลเริ่มออกมาตรการผ่อนปรน กลุ่มที่เคยเลิกสูบบุหรี่ได้ในช่วงโควิดระบาดบางส่วนได้หวนกลับมาสูบใหม่อีกครั้ง แม้จะสูบในปริมาณที่น้อยลงก็ตาม ดังนั้นจึงต้องเร่งศึกษา ถอดบทเรียน ว่าควรเสริมความแข็งแกร่งในการรณรงค์ให้คนเลิกสูบบุหรี่เด็ดขาดช่วงไวรัสโควิด 19 ยังระบาด ในจุดไหน อย่างไร ทั้งองค์ความรู้อัพเดทใหม่ รูปแบบ วิธีการ ข้อความใช้สำหรับสื่อสาร ช่องทางการเผยแพร่ เพื่อเป็นฟันเฟืองหนึ่งให้ไทยคงสถานะประเทศที่สามารถจัดการปัญหาโรคระบาดอุบัติใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ชีวิตคนในประเทศปลอดภัยเหมือนอย่างที่แล้วมา ส่วนผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่สามารถโทรปรึกษา สายเลิกบุหรี่ 1600 หรือ คลินิกเลิกบุหรี่ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านได้” ผอ.ศจย. กล่าว