กรุงเทพฯ--31 ส.ค.--เจซีแอนด์โค คอมมิวนิเคชั่นส์
สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา หรือ สมศ. เตรียมพร้อมเริ่มการประเมินคุณภาพภายนอกแนวใหม่วางแผนเริ่มประเมินปลายปีนี้กับสถานศึกษาที่ส่ง SAR เข้ามา จำนวน 6,653 แห่ง พร้อมวางแนวทางปรับเกณฑ์ และระบบการประเมินลดความซ้ำซ้อน ลดจำนวนวันลงพื้นที่ ลดภาระสถานศึกษา เน้นการประเมินที่สามารถนำไปปรับใช้ได้จริงและเกิดประโยชน์ต่อสถานศึกษาและผู้เรียน นอกจากนี้ได้พัฒนาโมบาย แอปพลิเคชัน สำหรับใช้ในการประเมิน เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการวิเคราะห์ข้อมูลและสามารถทำงานได้แบบเรียลไทม์มากขึ้น พร้อมจับมือหน่วยงานวิจัยศึกษาเกณฑ์การประเมินให้ตรงตามความต้องการของสถานศึกษา และผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการกำหนดเกณฑ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เล็งใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์มในกระบวนการประเมิน
นายจรูญ ชูลาภ รักษาการประธานคณะกรรมการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในช่วงที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบต่อระบบการศึกษาไทย และระบบการประเมินคุณภาพภายนอกค่อนข้างมาก ทางกระทรวงศึกษาธิการจึงได้มีข้อเสนอแนะให้ สมศ. ชะลอการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ (พ.ศ.2559-2563) ไปก่อน เพื่อให้ทางสถานศึกษาได้จัดการเรียนการสอนอย่างเต็มที่ และจนถึงขณะนี้ สถานการณ์ดังกล่าวได้เริ่มส่งสัญญาณที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง สถานศึกษาหลายแห่งเริ่มกลับมามีกิจกรรมการเรียนการสอนตามปกติ ล่าสุด จึงได้มีการประชุมหารือร่วมกันกับคณะกรรมการ สมศ. เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมในการเดินหน้าประเมินคุณภาพภายนอก ซึ่งในที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการว่า ให้ สมศ. เดินหน้าทำการประเมินคุณภาพภายนอกในปีงบประมาณ 2564 พร้อมให้แนวทางการทำงานแก่ สมศ. สำหรับการปรับปรุงเกณฑ์การประเมิน ซึ่งจะต้องทำให้สถานศึกษามองภาพการประเมินภายนอกชัดเจนมากขึ้น เมื่อประเมินแล้วจะต้องสามารถนำผลการประเมินไปปรับใช้ได้จริง และเป็นประโยชน์แก่สถานศึกษา ทั้งนี้ สถานศึกษากลุ่มแรกที่จะเริ่มเข้าไปประเมินก่อนคือสถานศึกษาที่ส่งรายงานการประเมินตนเอง (SAR) เข้ามาแล้วจำนวน 6,653 แห่ง ซึ่งในส่วนดังกล่าว สมศ.ได้ทำการวิเคราะห์ SAR เบื้องต้นไปแล้วจำนวน 3,873 แห่ง
“สำหรับการประเมินคุณภาพภายนอกในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ทางคณะกรรมการฯ ได้มอบหมายให้ สมศ. ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อดำเนินการปรับรูปแบบวิธีการประเมิน วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลให้สอดคล้องกับสถานการณ์การจัดการเรียนการสอนแบบ New Normal ในปัจจุบัน โดยจะต้องดำเนินการให้ละเอียด และชัดเจนมากที่สุด เพื่อให้การประเมินคุณภาพภายนอกแบบใหม่สามารถสะท้อนผลการจัดการศึกษาและบอกจุดเด่น จุดที่ควรพัฒนาของสถานศึกษาในสถานการณ์ปัจจุบันได้อย่างตรงจุด โดยไม่เป็นการสร้างภาระให้กับสถานศึกษา พร้อมทั้งส่งเสริมให้สถานศึกษานำผลประเมินไปปรับใช้ เพื่อพัฒนาคุณภาพของสถานศึกษาได้อย่างต่อเนื่อง และเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม โดยจะเริ่มการประเมินคุณภาพภายนอกรูปแบบใหม่ในช่วงเดือนธันวาคมปีนี้” นายจรูญ กล่าวทิ้งท้าย
ดร.นันทา หงวนตัด รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา กล่าวว่า ภายหลังจากที่ ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายให้ สมศ. เริ่มดำเนินการประเมินคุณภาพภายนอกในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เบื้องต้นคาดว่าจะสามารถเริ่มประเมินได้ในช่วงเดือนธันวาคม 2563 โดยสถานศึกษากลุ่มแรกที่จะเข้าไปดำเนินการนั้นจะเป็นกลุ่มที่หน่วยงานต้นสังกัดได้จัดส่งรายงานการประเมินตนเองของสถานศึกษา (SAR) มายัง สมศ. แล้ว ซึ่งในส่วนนี้ สมศ.ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้นจากรายงานการประเมินตนเองของสถานศึกษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้เพื่อให้การทำงานเป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด สมศ. ได้เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการประเมินที่จะเริ่มขึ้น ด้วยการพัฒนารูปแบบและวิธีการประเมินคุณภาพภายนอกตามนโยบายของ ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตามมติของคณะกรรรมการ สมศ. เกี่ยวกับการลดขั้นตอนในการประเมินคุณภาพภายนอกด้วยการปรับลดจำนวนวันในการลงพื้นที่ ปรับรูปแบบการวิเคราะห์รายงานการประเมินตนเอง (Pre-Analysis) ให้มีความละเอียด ชัดเจน เพื่อลดการใช้เวลาในการลงพื้นที่ รวมไปถึงการเขียนรายงานการประเมินคุณภาพภายนอกฉบับสมบูรณ์ (Final Report) จะต้องตัดข้อมูลที่ซ้ำซ้อนออกไป และเน้นการสะท้อนผลการประเมินตามสภาพความเป็นจริง
นอกจากนี้ สมศ. ยังได้พัฒนาระบบเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาใช้ในกระบวนการประเมินคุณภาพภายนอก สอดคล้องกับนโยบายดิจิทัลแพลตฟอร์มของดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้กำชับให้หน่วยงานที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการทำงานมากยิ่งขึ้น ประกอบด้วยการอบรมผู้ประเมินภายนอก เพื่อพัฒนาศักยภาพในด้านดิจิทัล เนื่องจากการประเมินคุณภาพภายนอกนั้น สมศ. จะเน้นการนำเอาแพลตฟอร์มออนไลน์เข้ามาใช้มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นระบบการส่งรายงานการประเมินตนเองด้วยระบบ E-SAR ซึ่งเป็นการส่ง SAR บนระบบดิจิทัลแพลตฟอร์ม โดยระบบนี้จะทำให้ สมศ. และหน่วยงานต้นสังกัดเห็นสถานะการส่ง SAR ของสถานศึกษาพร้อมกันแบบเรียลไทม์ และยังเป็นระบบฐานข้อมูลที่สมศ.และต้นสังกัดสามารถใช้ระบบร่วมกันได้ โดยขณะนี้สมศ.ได้พัฒนาระบบร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นการนำร่องก่อน ส่วนต้นสังกัดอื่นๆ สมศ.ได้เตรียมความพร้อมไว้เรียบร้อยแล้ว โดยจะประสานกับแต่ละต้นสังกัดต่อไป นอกจากนี้ สมศ.ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาโมบาย แอปพลิเคชัน เพื่อให้ผู้ประเมินสามารถบันทึกข้อมูลจากการลงพื้นที่ผ่านโทรศัพท์มือถือ พร้อมนำข้อมูลมาใช้ประกอบการจัดทำรายงานได้ในทันที โดยโมบาย แอปพลิเคชันจะช่วยลดระยะเวลา และขั้นตอนในการทำงานได้มากขึ้น เบื้องต้นคาดว่าทั้ง 2 ระบบจะแล้วเสร็จและสามารถทดลองใช้งานได้ประมาณปลายเดือนกันยายน 2563
ดร.นันทา กล่าวต่อว่า และอีกภาคส่วนที่สำคัญในการร่วมยกระดับการประเมินในครั้งนี้ให้มีความสอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงคือ ความร่วมมือกับหน่วยงานวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการศึกษาระดับประเทศ โดยจะนำผลการวิจัยที่ได้ มาอ้างอิงในการพัฒนารูปแบบ วิธีการ และเกณฑ์การประเมินคุณภาพภายนอก รวมไปถึงแพลตฟอร์มการประเมินคุณภาพภายนอกแบบใหม่ ๆ ให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบันมากยิ่งขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาทางกระทรวงศึกษาธิการได้มอบนโยบายให้ สมศ. ไปศึกษาว่าการประเมินในแต่ละรอบที่ผ่านมานั้นตอบสนองต่อความต้องการของสถานศึกษา และผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียหรือไม่ อีกทั้งการนำงานวิจัยมาพัฒนาเกณฑ์ประเมินนั้น จะช่วยให้สมศ. สามารถพัฒนากระบวนการประเมินให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และยังสามารถคาดการณ์แนวโน้มการศึกษาที่จะเปลี่ยนแปลงไปอนาคต รวมไปถึงการวิจัยเรื่องของการนำดิจิทัลแพลตฟอร์มมาใช้ในกระบวนการประเมินอย่างเต็มรูปแบบ สอดคล้องกับต่างประเทศที่มีการใช้ระบบดิจิทัลในกระบวนการประเมิน โดยการให้สถานศึกษากรอกข้อมูลได้ทันทีจากฐานข้อมูลที่มีอยู่ เพื่อช่วยประหยัดเวลาสำหรับผู้ประเมิน รวมทั้งงบประมาณที่ใช้ในการประเมินอีกด้วย
“ในการประเมินภายนอกรูปแบบใหม่นี้ สมศ. จะเน้นการประเมินและส่งเสริมให้สถานศึกษานำผลการประเมินของ สมศ. ไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์มากขึ้น โดยก่อนที่จะลงพื้นที่ สมศ. จะส่งเสริมและทำความเข้าใจกับสถานศึกษา ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 ซึ่งเป็นช่วงปิดภาคเรียนเพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนการทำงาน ของสถานศึกษา และจะเริ่มการประเมินในช่วงเดือนธันวาคม 2563 เบื้องต้นได้ตั้งเป้าหมายว่าเมื่อสิ้นสุดปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 สมศ. จะสามารถประเมินคุณภาพภายนอกให้แก่สถานศึกษาได้กว่า 10,000 แห่งทั่วประเทศ ดร.นันทา กล่าวสรุป
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 0-2216-3955 หรือเข้าไปที่ www.onesqa.or.th