มจธ.ร่วมกับ เทศบาลเมืองมาบตาพุด และ PTTGC ใช้ระบบจัดการน้ำใต้ดิน กู้วิกฤตปัญหาน้ำ “สวนมะม่วง” บนพื้นทราย

ข่าวทั่วไป Monday August 31, 2020 17:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 ส.ค.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ระบบกักเก็บน้ำใต้ดิน หรือธนาคารน้ำใต้ดิน ไม่เพียงช่วยชะลอน้ำท่วม ช่วยกักเก็บน้ำ ในฤดูแล้ง แต่ยังช่วยลดความเค็มและเพิ่มความชุ่มชื้นให้หน้าดินในสวนมะม่วงของชาวสวนในพื้นที่เทศบาลเมืองมาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง ได้อีกด้วย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ร่วมกับบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PPTGC และเทศบาลเมืองมาบตาพุด จัดทำโครงการมาบตาพุดรวมใจฝากน้ำไว้กับแผ่นดิน เพื่อแก้ปัญหาท่วม น้ำแล้ง และน้ำเค็มรุก ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงและพุทราในตำบลเนินพระ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของเทศบาลเมืองมาบตาพุด โดยตั้งเป้าจัดทำระบบน้ำใต้ดินจำนวน 20 บ่อ “โครงการนี้เป็นความร่วมมือกัน 3 ฝ่าย โดย PTTGC ให้การสนับสนุนทุน วัสดุหินถมและการขนส่งส่วนเทศบาลเมืองมาบตาพุด สนับสนุนเรื่องการประสานพื้นที่ เครื่องมือ อุปกรณ์ เช่น รถแม็คโครเพื่อใช้ในการขุด ขณะที่ทาง มจธ. สนับสนุนองค์ความรู้เข้าไปช่วยวิเคราะห์และสำรวจพื้นที่เหมาะสมสำหรับทำบ่อกักเก็บน้ำในแต่ละสวน เนื่องจากเกิดภาวะน้ำท่วมสวนมะม่วงในหน้าฝนและในหน้าแล้งมะม่วงก็ยืนต้นตาย”ดร.ปริเวท วรรณโกวิทหัวหน้าศูนย์วิศวกรรมสารสนเทศภูมิศาสตร์และนวัตกรรม (KGEO) มจธ. กล่าว ดร.ปริเวท กล่าวว่า ทาง มจธ. ได้เข้าไปทำการสำรวจ และจัดทำบ่อกักเก็บน้ำ หรือธนาคารน้ำใต้ดินในสวนมะม่วงของเกษตรกรที่ ต.เนินพระ โดยทำเป็นบ่อระบบปิด ขนาดเล็ก เนื่องจากสภาพพื้นที่ไม่สามารถทำบ่อระบบเปิดได้ ซึ่งได้ดำเนินการเสร็จทันในช่วงหน้าฝนนี้พอดี โดยหลังจากผ่านไป 1 เดือน ก็พบว่า 1.ช่วยระบายน้ำท่วมให้ลดลงเร็ว ไม่ท่วมสวน 2. มวลน้ำเหล่านี้ไปช่วยลดความเค็มที่อยู่ในดิน ให้ชะล้างออกไป ซึ่งถือเป็นการจัดการน้ำชายฝั่งได้อีกด้วย เนื่องจากเทศบาลเมืองมาบตาพุดอยู่ติดทะเลและด้วยสภาพของเมืองที่เปลี่ยนไปพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นผิวคอนกรีตทำให้ความเค็มยิ่งรุกล้ำ และ 3.ทำให้ผิวดินในพื้นที่สวนมะม่วงชุ่มชื้นช่วยให้ต้นมะม่วงเจริญเติบโตในภาวะแล้งได้มากขึ้น ดังสวนมะม่วงต้นแบบการจัดการน้ำใต้ดินของนายบุญส่ง บุญยั่งยืนต.เนินพระ อ.มาบตาพุด จ.ระยอง “พื้นที่ส่วนใหญ่ของสวน ซึ่งมีสภาพเช่นเดียวกับสวนมะม่วงรายอื่นๆ ที่มีเป็นดินทรายเวลาฝนตกมากๆ จะระบายไม่ทัน และพอฝนตกน้ำจะท่วมสูงขึ้นมาประมาณ 15-20 ซม. แต่หลังจากทำระบบกักเก็บน้ำหรือธนาคารน้ำใต้ดิน ก็ไม่มีปัญหาน้ำท่วมหรือน้ำขังอีก ขณะที่มวลน้ำยังถูกเก็บลงไปใต้ดิน ทำให้พื้นดินชุ่มชื้นมากขึ้น สังเกตได้จากการเปลี่ยนแปลงของต้นมะม่วงที่เขียวสดขึ้นต่างจากก่อนหน้าที่ใบเริ่มเหลือง และไม้ยืนต้นตายอีก จึงตัดสินใจทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิดจากเดิมทำไว้เพียง 1 บ่อ เพิ่มขึ้นอีก 2 บ่อบริเวณท้ายสวน” นายบุญส่ง กล่าว จากความสำเร็จดังกล่าว ทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ร่วมกับเทศบาลเมืองมาบตาพุด และบริษัท PTTGC จึงจัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำใต้ดินหรือธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิดให้กับเกษตรกรชาวสวนในพื้นที่ตำบลเนินพระที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ เมื่อวันเสาร์ที่ 22 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ เกษตรกรชาวสวนในพื้นที่มาบตาพุดประสบปัญหากับภัยแล้ง น้ำท่วม และน้ำเค็มลุกล้ำเข้าไปในพื้นที่สวนทำให้มะม่วงยืนต้นตายเนื่องจากภัยแล้งและความเค็ม ขณะเดียวกันยังต้องมีค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำเพื่อนำมารดสวนมะม่วงในช่วงฤดูแล้ง นางสาววรรณธิดา แสนศิริ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาชุมชน กองสวัสดิการสังคม เทศบาลเมืองมาบตาพุด จังหวัดระยอง ให้ข้อมูลว่าพื้นดินที่นี้เป็นดินทราย และมีชั้นทรายลึกถึง 5 เมตร ไม่สามารถเก็บกักความชื้นไว้ได้ ชาวสวนมะม่วงจะประสบปัญหาเรื่องน้ำท่วม น้ำแล้งเกือบทุกปี โดยเฉพาะปี 2562 ที่ผ่านมา เกิดภัยแล้งรุนแรง เกษตรกรประสบปัญหาอย่างมาก ไม่มีน้ำรดสวน ทำให้เกษตรกรต้องมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น จากเดิมที่อาศัยเพียงน้ำฝนสำหรับการทำเกษตรของชาวบ้านเท่านั้น “แม้สภาพพื้นดินซึ่งเป็นพื้นทราย แต่ชาวบ้านที่นี้ทำสวนมะม่วงกันมากว่า 50 ปีแล้ว การที่มาทำธนาคารน้ำใต้ดิน เพราะเกิดปัญหาภัยแล้งอย่างหนักเมื่อปีที่ผ่านมา ทำให้ต้นมะม่วงยืนต้นตายไปเป็นจำนวนมาก ถือเป็นภัยแล้งที่หนักที่สุด เกษตรกรต้องหาซื้อน้ำมารดสวน พออาจารย์เข้ามาให้คำแนะนำว่ายังมีหนทางที่จะสามารถเอาน้ำลงไปไว้ในใต้ดิน ไม่ให้ระเหยหายไปหมด เพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ได้บ้าง ดีกว่าไหลลงคลองลงทะเล ซึ่งยอมรับว่าเรื่องนี้ถือเป็นองค์ความรู้ใหม่ของเราเลย เพราะไม่เคยคิดว่าสภาพพื้นดินที่เป็นดินทรายจะสามารถทำอะไรแบบนี้ได้ หลังจากได้ผลทดลองที่ได้จากสวนต้นแบบ ทำให้เราเกิดความมั่นใจมากขึ้น จึงต้องการให้มีการจัดทำบ่อหรือธนาคารน้ำใต้ดินกระจายไปให้ทั่วทุกสวน” นางสาววรรณธิดา กล่าว อย่างไรก็ตาม นอกจากปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วมและน้ำเค็มที่รุกล้ำพื้นที่สวนมะม่วงแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เทศบาลฯ ยังมีความกังวลคือ ภาคอุตสาหกรรมมีการดึงน้ำจากคลองชลประทานไปใช้ ขณะที่ชาวบ้านไม่ได้ใช้น้ำเพื่อภาคการเกษตร แต่ใช้เพื่อรักษาระดับน้ำผิวดิน เพื่อให้ดินชุ่มชื้น และช่วยในการระบายน้ำเท่านั้น สำหรับพื้นที่ปลูกมะม่วงตั้งอยู่ตำบลเนินพระบนพื้นที่กว่า 121 ไร่ เป็นส่วนที่อยู่ในความรับผิดชอบของเขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด มีลักษณะพิเศษ คือเป็นเกษตรพื้นทราย ในอดีตมีการปลูกพุทรามากว่า 70-80 ปี ปัจจุบันเหลือเพียง 1 รายที่ยังปลูกอยู่ในพื้นที่ 5 ไร่ ที่เหลือปลูกเพียงไม่กี่ต้นไว้เก็บกินในครอบครัวเท่านั้น เนื่องจากราคาถูก จึงหันมาปลูกมะม่วงมากขึ้น การปลูกมะม่วงกลายมาเป็นอาชีพหลักของชาวบ้านตำบลเนินพระ ซึ่งจุดประกายมาจากลุงทวน วงษ์เนิน ที่เห็นในพื้นที่มีต้นมะม่วงป่าขึ้นสามารถเติบโตบนพื้นทราย และให้ลูก ออกผล ได้โดยไม่ต้องรดน้ำ จึงได้ทดลองนำกิ่งพันธุ์มะม่วง เช่น อกร่อง เขียวเสวย น้ำดอกไม้มาเสียบยอดลงบนตอมะม่วงป่าเก่า ซึ่งผลผลิตที่ได้รสชาติหวานอร่อย จึงได้นำมาถ่ายทอดให้กับลูกหลานและเพื่อนบ้าน จนกระทั่งขยายเพิ่มขึ้นจนถึงปัจจุบันกลายเป็นความพิเศษเฉพาะของพื้นถิ่นนี้ที่ไม่เหมือนที่ไหน โดยมะม่วงที่ปลูกจากพื้นทราย นอกจากผิวจะสวย รสชาติอร่อย ไม่เหมือนที่อื่น ยังไม่อมน้ำมากเกินไป เนื้อไม่แฉะน้ำ ทำให้รสชาติมะม่วงอยู่ในเนื้อ ๆ กรอบ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ล่าสุดผลผลิตมะม่วงเขียวเสวยจากสวนลุงชะลอ ได้รับรางวัลที่ 2 จากงานเกษตรแฟร์เมื่อต้นปี 2563 ทั้งที่ไม่ได้เจาะจงหรือคัดเลือกต้นที่จะใช้ในการประกวดแต่อย่างใดที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ ด้วยลักษณะเฉพาะของมะม่วงที่นี้ ทำให้เทศบาลฯ ให้ความสำคัญเพื่อให้สวนมะม่วงที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะถิ่นนี้ยังคงอยู่ต่อไป ที่สำคัญพื้นที่เกษตรพื้นทรายอยู่ห่างจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเพียง 2 กิโลเมตรเท่านั้น ทำให้ต้องหาทางป้องกันทั้งเรื่องน้ำและอากาศ ซึ่งล้วนมีผลต่อผลผลิตมะม่วงของเกษตรกร ดร.ปริเวท ยังได้กล่าวเสริมในตอนท้ายว่า พื้นที่มาบตาพุด ไม่ไกลจากกรุงเทพ หากมีการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวสวนมะม่วง และสวนพุทรา ก็จะเพิ่มมูลค่าด้านการท่องเที่ยวเชิงเกษตรให้กับคนในพื้นที่ได้อีกด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ