วช. จับมือ AIT ดันโครงการวิจัยสร้างชุดความรู้แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม/ภัยพิบัติ/ผังเมือง 6 จังหวัด กทม.-ปริมณฑล

ข่าวทั่วไป Tuesday September 1, 2020 16:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 ก.ย.--สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) จัดทำโครงการวิจัยใหม่ “การประเมินเชิงบูรณาการเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยใช้ข้อมูลจากการสำรวจโลกในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล” ใช้ระยะเวลา 3 ปี ค้นคว้า ศึกษาวิจัยและรวบรวมข้อมูลสร้างชุดความรู้แบบบูรณาการเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม, ภัยพิบัติ และผังเมือง ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ในพื้นที่ 6 จังหวัด กรุงเทพฯ, นนทบุรี, ปทุมธานี, นครปฐม, สมุทรปราการ และสมุทรสาคร นำไปใช้ได้จริงในระดับชุมชน รศ.ดร. วิลาศ นิติวัฒนานนท์ คณะสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร และการพัฒนา (SERD) สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวว่า โครงการวิจัยครั้งนี้มุ่งเน้นศึกษาพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง เป็นพื้นที่มีความเกี่ยวเนื่องกัน บางปัญหาเชื่อมโยงกัน ขณะที่บางส่วนมีปัจจัยแตกต่างกัน งานวิจัยจะเข้ามาช่วยสร้างตัวชี้วัดที่เฉพาะเจาะจงในแต่ละพื้นที่ให้เห็นภาพมากขึ้น เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างตรงจุดในอนาคต โดยการจำกัดพื้นที่ 6 จังหวัด ทำให้ขอบเขตการทำงานวิจัยแคบขึ้น สามารถสะท้อนปัญหาได้ละเอียดมากขึ้น ทั้งนี้ หัวข้อที่ทีมวิจัยมุ่งเน้นศึกษาจะเป็นปัญหาที่กระทบต่อประชาชนในพื้นที่ เช่น ปัญหาอุทกภัย, ทรัพยากรดินและการใช้ที่ดิน, การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, มลพิษทางอากาศ, การขยายตัวของชุมชน จนถึงปัญหาสาธารณูประโภค เช่น น้ำประปาเค็ม โดยหัวข้อทั้งหมดจะครอบคลุมเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SDGs ที่ 6, 9, 11 และ 13 เป็นต้น โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นผู้สนับสนุนทุนในการวิจัย “โครงการวิจัยครั้งนี้มุ่งเน้นใช้ข้อมูลหลากหลาย ทั้งการใช้เทคโนโลยีดาวเทียม, ข้อมูลในระดับพื้นที่ ตำบล อำเภอ และจังหวัด เพื่อมาวิเคราะห์ร่วมกับพื้นที่ 6 จังหวัด ซึ่งถือเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยโจทย์คือ SDGs ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ชี้วัดการพัฒนาแบบยั่งยืน โดยโครงการวิจัยครั้งนี้จะลงไปศึกษาในระดับท้องถิ่น ซึ่งยังไม่มีใครเซ็ตได้ว่าตัวชี้วัดที่จะนำมาวัดนั้นมีอะไรบ้าง ตัวชี้วัดเหล่านี้จะนำมาจากไหน นำไปใช้ยังไง ทั้งหมดนี้เป็นส่วนที่จะต้องทำในงานวิจัย เพื่อสร้าง “ตัวชี้วัด” สำหรับพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล เป็นสิ่งแรกที่ทีมวิจัยจะเริ่มทำภายในปีนี้” รศ.ดร. วิลาศ กล่าว ในปีแรกจะสร้างตัวชี้วัดที่ทำให้แต่ละพื้นที่ใน 6 จังหวัด เห็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องรีบแก้ไข ก่อนนำเสนอเป็นข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์ นำไปช่วยวางแผนกลยุทธ์เชิงพื้นที่ของแต่ละชุมชนใน 6 จังหวัด เช่น สร้างตัวชี้วัดสะท้อนการแก้ไขและพัฒนาทรัพยากรดิน ให้เห็นภาพรวมของการใช้ที่ดินในชุมชน พื้นที่ไหนควรอนุรักษ์เป็นพื้นที่สีเขียว พื้นที่ไหนเหมาะสมพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว และพื้นที่ไหนเหมาะพัฒนาเป็นเมืองใหม่ ที่อยู่อาศัย ทำให้การใช้ประโยชน์ทรัพยากรดินในท้องถิ่นเหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุด “รศ.ดร. วิลาศ เสริมว่า “ตัวชี้วัดนี้จะต้องทำให้เห็นว่าอนาคตควรปฏิบัติอย่างไร ซึ่งในเชิงวิชาการจะต้องค้นหาให้เจอว่ายังมีสิ่งแวดล้อม หรือธรรมชาติตรงไหนที่ยังต้องรักษาไว้ให้มากที่สุด พร้อมไปกับการบริหารจัดการ แบ่งสัดส่วนพื้นที่ให้ชัดเจนและเหมาะสม เช่น ทุ่งรังสิต ตรงไหนที่เสียไปแล้ว ตรงไหนที่ยังรักษาได้อยู่ ตรงไหนเหมาะพัฒนาเศรษฐกิจ ต้องหาให้เจอ บางพื้นที่สูญเสียไปแล้ว ก็ต้องพัฒนาต่อให้เป็นเชิงเศรษฐกิจ คืออยู่ร่วมกันอย่างมีระบบ ไม่ใช่สะเปะสะปะ เพราะต้นน้ำกระทบสู่ปลายน้ำ” โครงการวิจัยครั้งนี้เกิดขึ้นภายใต้ศูนย์แห่งความเป็นเลิศนานาชาติ ดิจิทัลหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางกรุงเทพฯ (International Center of Excellent, ICoE-Bangkok) นอกจากนี้จะมีการประสานแลกเปลี่ยนข้อมูลและทำงานร่วมกันกับประเทศในภูมิภาค รวมถึงประเทศจีน ตามนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง เพื่อบูรณการแก้ไขปัญหาในระดับกว้างขึ้นต่อไปในอนาคต ทีมโครงการวิจัยประกอบไปด้วย รศ.ดร. วิลาศ นิติวัฒนานนท์ และ ผศ.ดร. เวนเชาว์ ชูเหว่ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย, ร่วมกับ ผศ.ดร. เอกบดินทร์ วินิจกุล, ผศ.ดร. อินดราจิท พอล จากคณะสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร และ การพัฒนา (SERD), รศ.ดร.ชุติพร อนุตริยะ และ ผศ.ดร.ซัลวาตอร์ เวียร์ดิส จากคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี (SET) สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ