กรุงเทพฯ--2 ก.ย.--ทริปเปิล เอท ไอเดียส์
รมว. ดีอีเอส ลงพื้นที่ วิสาหกิจชุมชนบ้านเนินสว่าง จังหวัดระยอง ติดตามความสำเร็จการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีต่อยอดธุรกิจ ลดต้นทุน-เพิ่มช่องทางขาย สร้างรายได้เพิ่มไม่น้อยกว่า 6.5 แสนบาท
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ลงพื้นที่ติดตามความสำเร็จโครงการการพัฒนาการจัดการคลังสินค้าสำหรับวิสาหกิจชุมชนบ้านเนินสว่าง โดย วิสาหกิจชุมชนบ้านเนินสว่าง อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นชุมชนที่ได้รับการส่งเสริมให้เกิดการนำเทคโนโลยีบริหารจัดการร้านค้าและคลังสินค้ามาประยุกต์ใช้ ผ่านมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อชุมชนในชนบท โดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล มุ่งส่งเสริมการเพิ่มศักยภาพด้านการซื้อ-ขายสินค้า ลดต้นทุน และสร้างรายได้ให้กับวิสาหกิจชุมชนไม่น้อยกว่า 650,000 บาทต่อปี
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เผยว่า กระทรวงดิจิทัลฯ โดย สำนักงานส่งเสริมเศษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs หาบเร่ แผงลอย และชุมชน เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล อย่างเหมาะสม เพื่อเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิต ลดต้นทุนการผลิตนำไปสู่การสร้างรายได้เพิ่ม
ด้าน ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าวว่า วิสาหกิจชุมชนเนินสว่าง ได้นำระบบการบริหารจัดการองค์กร (ERP) มาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม ประกอบด้วยกระบวนการรับสินค้าเข้าคลังสินค้า (Inbound Process) การจัดเก็บสินค้าขึ้นชั้นวางในคลังสินค้า (Put away) การเคลื่อนย้ายสินค้าคงคลัง (Inventory Move) การหยิบ-บรรจุลงกล่อง และส่งสินค้าออกจากคลังสินค้า (Outbound Process) การนับสินค้าคงคลัง (Inventory Counting) การปรับจำนวนสินค้าในคลังสินค้า (Inventory Adjustment) และการจัดทำรายงานสินค้าคงคลัง (Inventory Reports) ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้สามารถช่วยเพิ่มศักยภาพด้านการซื้อ-ขายสินค้า และสร้างประสิทธิภาพในการส่งมอบสินค้าได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งช่วยลดต้นทุนในการผลิต ลดการสูญเสีย และเพิ่มรายได้ให้แก่กลุ่มเฉลี่ย 10.5% เป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 650,000 บาทต่อปี
“ดีป้ายึดมั่นในการส่งเสริมให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อให้เกิดการยกระดับคุณภาพชีวิต และเพื่อเพิ่มรายได้ครัวเรือนในชุมชนทั่วประเทศ แต่แนวทางของดีป้านั้น จะไม่คิดแทน ทำแทน หรือ ทำให้ แต่จะใกล้ชิดกับชุมชน ร่วมลงรายละเอียดแนวทางในการพัฒนาธุรกิจของวิสาหกิจชุมชนอย่างแท้จริงและให้ชุมชน ได้เข้าถึงเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อให้ชุมชนได้เรียนรู้เอง เลือกเอง ใช้เอง เกิดเป็นความยั่งยืน เพราะเกิดจากความเข้าใจของชุมชนเอง เช่นเดียวกับ วิสาหกิจชุมชนเนินสว่าง ที่เลือกใช้เทคโนโลยีระบบการบริหารจัดการองค์กร (ERP) เพื่อการจัดการธุรกิจ และทำให้ธุรกิจเป็นที่รู้จักมากขึ้น ลดความซับซ้อนในการจัดการสินค้า รองรับยอดขายที่เพิ่มขึ้นเกิดเป็นรายได้เพิ่ม และทำให้ชุมชนอยู่รอดอย่างเข้มแข็ง” ผอ.ใหญ่ดีป้า กล่าวเสริม
นางสาว ศันสนีย์ เจริญรมย์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านเนินสว่าง เผยว่า วิสาหกิจชุมชน บ้านเนินสว่าง เป็นชุมชนที่ยึดอาชีพทำสวนยางพาราเป็นหลักและต่อยอดด้วยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพต่าง ๆ ภายใต้แบรนด์ Kaika (ไก่กา) อาทิ เบาะนั่งสมาธิ อาสนะ เบาะรองนั่งทำงาน ที่นอนยางพารา หมอนยางพารา เป็นต้น ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนไทยที่มีการบอกต่อกันและกลับมาซื้อสินค้า และจำหน่ายผ่านช่องทางการจำหน่ายทางเว็บไซต์ www.KaikaRubber.com ซึ่งที่ผ่านมาชุมชนประสบปัญหาเกี่ยวกับการบริหารจัดการวัตถุดิบในการผลิต สินค้าคงคลัง การรับสินค้า การจัด ทำสต๊อก การเติมสินค้า การจัดเก็บ การเลือกหรือหยิบสินค้าตามคำสั่ง การจัดส่งและการจ่ายสินค้าออกจากคลัง และกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยดีป้ามีส่วน ในการแนะนำและถ่ายทอดความรู้ในการที่จะเพิ่มการบริหารจัดการหน้าร้านและคลังสินค้า ของวิสาหชุมชนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น