รัฐมนตรีเกษตรฯ กล่าวถ้อยแถลงในการประชุม FAO สมัยที่ 35 ผ่านระบบ VDO Conference มุ่งพัฒนาระบบอาหารและการเกษตรไปสู่ความยั่งยืน ตลอดจนสนับสนุนความร่วมมือกับ FAO ทุกมิติ

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday September 3, 2020 16:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ก.ย.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุมสมัชชา เอฟ เอ โอ ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (FAO Regional Conference for Asia and the Pacific) สมัยที่ 35 ระดับรัฐมนตรี (Ministerial Level Meeting) ในรูปแบบออนไลน์ (Virtual Meeting) ระหว่างวันที่ 3 - 4 กันยายน 2563 ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า การประชุมในครั้งนี้ ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย นอกจากจะเข้าร่วมการประชุมฯ แล้ว ยังมีโอกาสได้กล่าวถ้อยแถลงในวาระประเด็นที่ประเทศสมาชิกและภูมิภาคให้ความสำคัญ (Prioritization of Country and Regional Needs) ซึ่งประเทศไทยได้เน้นย้ำ 6 ประเด็นสำคัญ ดังนี้ 1) ผลกระทบจากโรคCOVID-19 ต่อระบบอาหาร ตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงการบริโภค 2) ความสำคัญของ“เทคโนโลยีดิจิทัล” ที่จะช่วยพัฒนาระบบอาหารและการเกษตร เพื่อให้ประชาชนอยู่ดีกินดี โดยประเทศไทยได้จัดตั้ง “ศูนย์เทคโนโลยีการเกษตรและนวัตกรรม” 77 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อเชื่อมโยงเกษตรกรและผู้ผลิตกับสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัย ในการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตร 3) “โครงการยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์” เพื่อสนับสนุนเกษตรกรรุ่นใหม่ 4) นโยบาย “Four Quick Win” เพื่อปฏิรูปภาคเกษตรใน 4 แผนงาน 5) สนับสนุนการพัฒนาการประมงอย่างยั่งยืนและมีความรับผิดชอบ และ 6) การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและดิน ซึ่งเป็นหัวใจของการพัฒนาระบบอาหารและการเกษตรอย่างยั่งยืน รวมทั้งได้เน้นย้ำถึงความพร้อมที่จะสนับสนุนความร่วมมือกับ FAO และประเทศสมาชิก ผ่านโครงการความร่วมมือ South-South Cooperation และ Hand-in-Hand Initiative เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกันอีกด้วย “กระผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เข้าร่วมการประชุมสมัชชา เอฟ เอ โอ ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก สมัยที่ 35 ในวันนี้ จากสถานการณ์ปัจจุบันเรากำลังเผชิญกับความท้าทายจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วโลก นอกจากความท้าทายจากโรคระบาดแล้ว ถึงเวลาที่ทั่วโลกจะต้องปรับเปลี่ยนระบบอาหาร ตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงการบริโภคอาหาร เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่า เกษตรกรและผู้ผลิตสามารถผลิตอาหารที่ปลอดภัย มีมาตรฐาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการได้ ซึ่งจะนำมาซึ่งความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน ซึ่งประเทศไทยได้ตระหนักดีว่า “เทคโนโลยีดิจิทัล” เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาระบบอาหารและการเกษตร เพื่อทำให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ประเทศไทยได้จัดตั้ง “ศูนย์เทคโนโลยีการเกษตรและนวัตกรรม” 77 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อเชื่อมโยงเกษตรกรและผู้ผลิต กับสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัย ในการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรที่ตรงตามความต้องการของเกษตรกร เช่น การเกษตรแม่นยำ การทำฟาร์มอัจฉริยะสำหรับเกษตรกรรายย่อยและผู้ผลิตขนาดกลาง และในปัจจุบันภาคการเกษตรของไทยกำลังเผชิญกับปัญหาสังคมผู้สูงวัย เกษตรกรรุ่นใหม่จึงเป็นอนาคตของภาคเกษตร โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนิน “โครงการยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์” เพื่อสนับสนุนเกษตรกรรุ่นใหม่ และ SME ที่ต้องการทำการเกษตรในพื้นที่ โดยจัดการฝึกอบรมให้เกษตรกรรุ่นใหม่มีความรู้ในการดำเนินธุรกิจเกษตร นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้วางแผนในการผลิตและการตลาด รวมทั้งน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มาผสมผสาน เพื่อสร้างสมดุลระหว่างระบบเกษตรเชิงนิเวศและนวัตกรรม รวมทั้ง ได้เร่งดำเนิน นโยบาย “Four Quick Win” เพื่อปฏิรูปภาคเกษตรใน 4 แผนงานหลัก ได้แก่ (1) การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในหมู่บ้านประมง และฟาร์มเกษตร) (2) การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ภาคเกษตร (3) การพัฒนาระบบ E-Commerce สำหรับสินค้าเกษตร และ (4) การพัฒนาศูนย์บริการข้อมูล Big Data ด้านการเกษตรแบบครบวงจร ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบข้อมูลการเกษตร ซึ่งจะช่วยทำให้เกษตรกรและผู้ผลิตสามารถตัดสินใจวางแผนการเพาะปลูก การผลิต และการตลาด ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ประเทศไทยยังให้ความสำคัญในนโยบายด้านการประมง และสนับสนุนการพัฒนาการประมงอย่างยั่งยืนและมีความรับผิดชอบ ประเทศไทยต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย IUU Fishing เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรในท้องทะเลของเราให้คงไว้ซึ่งความอุดมสมบูรณ์ ขณะเดียวกันก็ยังคงให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและดิน ซึ่งเป็นหัวใจของการพัฒนาระบบอาหารและการเกษตรอย่างยั่งยืน เพื่อให้มั่นใจว่าทรัพยากรน้ำและดินได้ถูกนำไปใช้อย่างมีคุณค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ประเทศไทย ร่วมกับ FAO และ สมัชชาความร่วมมือทรัพยากรดินโลก (GSP) ขอเชิญชวนประเทศสมาชิก สถาบัน มหาวิทยาลัย หน่วยงานเอกชน หรือหน่วยงานอื่น ๆ ที่สนใจ ส่งผลงานการจัดกิจกรรม “วันดินโลก” วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี เข้าประกวดเพื่อรับ “รางวัลเหรียญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล วันดินโลก” ในโอกาสวันดินโลกประจำปี 2563 กระผมขอเรียนว่า ประเทศไทยได้น้อมนำ “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” มาเป็นแนวทางในการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อมุ่งขจัดความยากจน ยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ปฏิรูปภาคเกษตร เสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการ และความปลอดภัยของอาหาร เพื่อทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทยดียิ่งขึ้น ตามวิสัยทัศน์ของประเทศไทย ที่จะพัฒนาประเทศไปสู่ความ “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” สุดท้ายนี้ ประเทศไทยพร้อมที่จะพัฒนาระบบอาหารและการเกษตรไปสู่ความยั่งยืน ประเทศไทยยินดีที่จะให้การสนับสนุนความร่วมมือกับ FAO และประเทศสมาชิก ผ่านโครงการความร่วมมือ South-South Cooperation และ Hand-in-Hand Initiative เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกัน” รัฐมนตรีเกษตรฯ กล่าว.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ