กรุงเทพฯ--10 ก.ย.--สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
นายณรงค์ แผ้วพลสง เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการ การอาชีวศึกษา (สอศ.) มีนโยบายในการพัฒนาการอาชีวศึกษาให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล สามารถผลิตกำลังคนที่มีทักษะฝีมือป้อนตลาดแรงงานทั้งในประเทศและต่างประเทศได้อย่างมีคุณภาพ สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศให้ก้าวสู่ยุคใหม่ที่เน้นระบบเศรษฐกิจและสังคม ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานขององค์ความรู้ โดยเฉพาะแรงงานจะต้องมีความรู้ ความสามารถในสาขาที่ตรงกับความต้องการของภาคธุรกิจ ซึ่งจำเป็นต้องยกระดับ ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาการสร้างนวัตกรรมเทคโนโลยีทางการผลิต และพัฒนากำลังคนสู่อุตสาหกรรมใหม่ที่ต้องได้รับการพัฒนาอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง จึงได้ร่วมกับ Chongqing Technology and Business Institute (CQTBI) จัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษาไทย-จีนทั้งในรูปแบบการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ และการศึกษาทวิวุฒิ ปวส.ไทย-จีน ซึ่งในปี พ.ศ.2563 ระหว่างรอสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 คลี่คลาย สอศ.จึงได้เตรียมความพร้อมของนักศึกษาก่อนไปศึกษาเรียนรู้และฝึกประสบการณ์วิชาชีพที่สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยได้จัดให้มีการเรียนออนไลน์ และโครงการต่อยอดทักษะภาษาจีนเพื่อการพัฒนาอาชีพ ซึ่งตนได้มอบหมายให้นายอธิปไตย โพแตง ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการอาชีวศึกษาและวิชาชีพ เป็นประธานเปิดอบรม ณ วิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง
ทั้งนี้ ในปีพ.ศ.2563 นี้ มีนักศึกษาทั้งระดับปวช.และปวส.จากสถานศึกษา 14 แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคเพชรบูรณ์ วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ วิทยาลัยเทคนิคลพบุรี วิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษกเชียงราย วิทยาลัยการอาชีพนายายอาม จังหวัดจันทบุรี วิทยาลัยอาชีวศึกษาแพร่ วิทยาลัยเทคนิคเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี วิทยาลัยเทคนิคจันทบุรี วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี วิทยาลัยเทคนิคสระบุรี วิทยาลัยอาชีวศึกษาลำปาง วิทยาลัยเทคนิคสุรินทร์ วิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง และวิทยาลัยอาชีวศึกษาสุรินทร์ ที่ได้ผ่านการคัดเลือกและสมัครใจเข้าร่วมโครงการเดินทางไปฝึกประสบการณ์วิชาชีพ เป็นเวลา 3 เดือนที่ Chongqing Technology and Business Institute (CQTBI) สาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 75 คน 6 กลุ่มสาขาวิชา ได้แก่ 1.กลุ่มสาขาวิชาไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ 2 กลุ่มสาขาวิชาช่างยนต์ ช่างกล และช่างเชื่อม 3. กลุ่มสาขาวิชาช่างก่อสร้าง โยธา สถาปัตยกรรม 4. กลุ่มสาขาวิชาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์กราฟิก และเทคนิคควบคุมและซ่อมบำรุงระบบขนส่งทางราง 5. กลุ่มสาขาวิชาการโรงแรมและท่องเที่ยว และ 6. กลุ่มสาขาวิชาโลจิสติกส์
สำหรับการศึกษาทวิวุฒิรุ่นที่ 1 นำร่องโดย วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุรินทร์ มีนักศึกษาระดับปวส.สาขาวิชาคอมพิวเตอร์กราฟิก จำนวน 10 คนที่ได้เรียนที่ประเทศไทยแล้ว 1.5ปี และผ่านการทดสอบวัดระดับภาษาจีน HSK3 เตรียมพร้อมเดินทางไปศึกษาต่อหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ส่วนรุ่นที่ 2 ได้เปิดเพิ่มอีก 1 สาขา คือ สาขาวิชายานยนต์สมัยใหม่ มีสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ 5 แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุรินทร์ วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานี วิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษกเชียงราย วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี และวิทยาลัยเทคนิคสุรินทร์
“การเปิดโอกาสให้นักเรียนนักศึกษาได้เรียนรู้และเปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ ดังเช่น การไปศึกษาเรียนรู้และฝึกประสบการณ์วิชาชีพในต่างแดน ถือเป็นทักษะชีวิตที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้นักเรียน นักศึกษาได้เรียนรู้ เกิดการตัดสินใจ การปรับปรุงตนเอง การใช้เวลาให้เกิดประสิทธิภาพ ตลอดจนรู้จุดอ่อน จุดแข็งของตนเอง ทำให้เกิดความพร้อมและความมั่นใจในการเข้าสู่โลกอาชีพ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป” เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวทิ้งท้าย