กรุงเทพฯ--11 ก.ย.--กรมที่ดิน
การรังวัดและทำแผนที่เพื่อออกโฉนดที่ดินตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2497) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 49 (พ.ศ. 2544) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 สามารถกระทำได้ 2 วิธี ได้แก่ วิธีแผนที่ชั้นหนึ่งและวิธีแผนที่ชั้นสอง
#การรังวัดโดยวิธีแผนที่ชั้นหนึ่ง : เป็นวิธีการรังวัดและคำนวณค่าพิกัดฉากสืบเนื่องจากหมุดหลักฐานแผนที่ ทำให้รูปแปลงที่ดินมีค่าพิกัดที่อ้างอิงกับพื้นผิวโลกและสามารถระบุตำแหน่งในพื้นที่จริงได้อย่างชัดเจน
#การรังวัดโดยวิธีแผนที่ชั้นสอง : เป็นวิธีการรังวัดที่ใช้แผนที่ระวางเป็นหลัก หรืออาจใช้ระบบพิกัดแบบศูนย์ลอยที่กำหนดขึ้นเองในการขึ้นรูปแผนที่และคำนวณเนื้อที่ ทำให้ผลลัพธ์ของรูปแปลงที่ดินแม้ว่าจะมีรูปแผนที่และเนื้อที่ถูกต้อง แต่ไม่มีค่าพิกัดที่สามารถอ้างอิงกับพื้นผิวโลก จึงไม่สามารถระบุตำแหน่งในพื้นที่จริงได้อย่างชัดเจน
ดังนั้น การรังวัดโดยวิธีแผนที่ชั้นหนึ่ง จึงเป็นวิธีการรังวัดที่มีความละเอียดถูกต้องสูงและสามารถนำค่าพิกัดฉากของหลักเขตที่ดินไปใช้ในการตรวจสอบเชิงตำแหน่งในพื้นที่จริงได้
อย่างไรก็ตาม การรังวัดโดยวิธีแผนที่ชั้นหนึ่งมีข้อจำกัดในทางปฏิบัติ กล่าวคือ ต้องมีการสร้างหมุดหลักฐานแผนที่ในพื้นที่ให้ครอบคลุมเพียงพอ จึงจะสามารถดำเนินการรังวัดในพื้นที่นั้นได้ แต่ด้วยข้อจำกัดทางด้านบุคลากรและเครื่องมืออุปกรณ์ ทำให้การรังวัดที่ดินในอดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันกว่าร้อยละ 90 ต้องดำเนินการรังวัดโดยวิธีแผนที่ชั้นสอง ซึ่งแม้จะมีความละเอียดถูกต้องในเชิงรูปร่างและเนื้อที่ แต่ไม่สามารถตรวจสอบแนวเขตในเชิงพื้นที่ได้อย่างชัดเจนเนื่องจากไม่มีค่าพิกัดที่สามารถอ้างอิงตำแหน่งได้อย่างถูกต้องเป็นเหตุให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับที่ดินตามมาอย่างมากมาย เช่น ข้อพิพาทเกี่ยวกับแนวเขตที่ดิน การออกเอกสารสิทธิในที่ดินผิดพลาดคลาดเคลื่อน การขาดความเชื่อมั่นในเอกสารสิทธิ และการบุกรุกที่ดินของรัฐ เป็นต้น
กรมที่ดิน จึงได้นำเทคโนโลยี “โครงข่ายการรังวัดด้วยดาวเทียมแบบจลน์ (RTK GNSS Network)” มาใช้ในการรังวัดรูปแปลงที่ดิน ซึ่งจะช่วยลดข้อจำกัดของการสร้างหมุดหลักฐานแผนที่ในอดีตที่ต้องใช้การวางโครงหมุดหลักฐานแผนที่หรือการรับสัญญาณดาวเทียมเป็นระยะเวลานาน โดยปัจจุบันช่างรังวัดสามารถสร้างหมุดดาวเทียมหรือรับสัญญาณดาวเทียมโดยตรงที่หลักเขตที่ดิน เพื่อให้บริการรังวัดที่ดินโดยวิธีแผนที่ขั้นหนึ่งด้วยระบบดาวเทียมแก่ประชาชนได้อย่างถูกต้องแม่นยำและสะดวกรวดเร็ว
นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ อธิบดีกรมที่ดิน เปิดเผยว่า ปัจจุบันกรมที่ดิน ได้ยกระดับการรังวัดที่ดินด้วยระบบด้วยดาวเทียมแบบจลน์ (RTK GNSS Network) แล้วทั้งสิ้น 49 จังหวัด ได้แก่ #ภาคกลาง ลพบุรี ชัยนาท นครปฐม สิงห์บุรี สระบุรี อ่างทอง ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ นครนายก ราชบุรี พระนครศรีอยุธยา สมุทรสงคราม สมุทรสาคร #ภาคเหนือ กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ อุทัยธานี นครสวรรค์ ตาก สุโขทัย พิษณุโลก #ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขอนแก่น หนองคาย บึงกาฬ มหาสารคาม สุรินทร์ ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ บุรีรัมย์ สระแก้ว นครราชสีมา ชัยภูมิ เลย หนองบัวลำภู อุบลราชธานี #ภาคใต้ สตูล ภูเก็ต พัทลุง สงขลา นราธิวาส ปัตตานี ยะลา #ภาคตะวันออก จันทบุรี ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ตราด
จากข้อมูลผู้ใช้บริการในปัจจุบัน (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563) มียอดให้บริการรังวัดออกโฉนดที่ดินด้วยระบบ RTK GNSS Network เฉลี่ยรวม 505,000 แปลง แบ่งเป็น
การรังวัดออกโฉนดที่ดินเป็นการเฉพาะราย (มาตรา 59) จำนวน 420,000 แปลงโครงการเดินสำรวจรังวัดรูปแปลงโฉนดที่ดินและเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินด้วยระบบ RTK GNSS Network จำนวน 70,000 แปลงโครงการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 15,000 แปลง
นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ อธิบดีกรมที่ดิน กล่าวทิ้งท้ายว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 กรมที่ดินกำหนดพื้นที่ในการยกระดับการรังวัดด้วยระบบด้วยดาวเทียมแบบจลน์ (RTK GNSS Network) จำนวน 10 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง ลำพูน สุพรรณบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี มุกดาหาร สกลนคร ยโสธร กระบี่ และประจวบคีรีขันธ์ โดยในปีงบประมาณถัดไป จะได้ยกระดับอีก 18 จังหวัด เพื่อให้ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ นี่คือ นวัตกรรมการรังวัดของกรมที่ดิน เพื่อสร้างความมั่นคงและช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ กรมที่ดิน ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาและยกระดับการให้บริการประชาชนอย่างต่อเนื่อง