ม.มหิดล ได้ที่ 1 ของไทย ในภาพรวม (Overall Ranking) และด้านวิจัย (Research Pillar) จากผลการจัดอันดับ Times Higher Education World University Rankings 2021

ข่าวทั่วไป Friday September 11, 2020 15:41 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ก.ย.--มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการประกาศผลการจัดอันดับ Times Higher Education World University Rankings 2021 จากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลกกว่า 1,500 แห่ง จาก 93 ประเทศ โดยมหาวิทยาลัยมหิดลได้รับคะแนนรวมดีที่สุด เป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย ทั้งในภาพรวม (Overall Ranking) และทางด้านการวิจัย (Research Pillar) ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า Times Higher Education (THE) สถาบันจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกจากประเทศสหราชอาณาจักร จัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกต่อเนื่องเป็นปีที่ 17 นับตั้งแต่ปี 2004 โดยพิจารณาจากตัวชี้วัดคุณภาพ 5 ด้าน คือ การเรียนการสอน (Teaching) ร้อยละ 30, การวิจัย (Research) ร้อยละ 30, การอ้างอิงงานวิจัย (Citations) ร้อยละ 30, รายได้ทางอุตสาหกรรม (Industry Income) ร้อยละ 2.5 และความเป็นนานาชาติ (International Outlook) ร้อยละ 7.5 ซึ่งผลจากการจัดอันดับ Times Higher Education World University Rankings 2021 ปรากฏว่า มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นอันดับที่ 1 ของประเทศไทยในภาพรวม (Overall Ranking) โดยอยู่ในอันดับโลกที่ 601 – 800 ในช่วงคะแนน 30.2 – 36.3 และเป็นอันดับที่ 1 ของประเทศไทย ด้านวิจัย (Research Pillar) โดยอยู่ในอันดับโลกที่ 577 ด้วยคะแนน 22.3 (ดูรายละเอียดที่เว็บไซต์ https://www.timeshighereducation.com/news/world-university-rankings-2021-results-announced) ซึ่งในการอบรม “โครงการติดอาวุธให้นักวิจัยรุ่นใหม่ ผ่านโครงการ Multi Mentoring System” รุ่นที่ 5 เมื่อเร็วๆ นี้ ณ ห้องกันภัยมหิดล ศูนย์ประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จัดโดย กองบริหารงานวิจัย สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้กับนักวิจัยรุ่นใหม่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ได้เป็นประธานกล่าวเปิดการอบรมและบรรยายในหัวข้อ “ความสำคัญของ University Ranking และบทบาทของนักวิจัยรุ่นใหม่” โดยได้กล่าวถึงเรื่องการจัดอันดับ (Ranking) ว่า เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการประเมินภาพรวมของมหาวิทยาลัยบนเวทีโลกเท่านั้น ในความเป็นจริงแล้วภารกิจของมหาวิทยาลัยในฐานะสถาบันอุดมศึกษา คือ การเรียนการสอน การผลิตผลงานวิจัย และนวัตกรรม โดยมีการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Knowledge Transfer) และผลิตผลงานวิจัย-นวัตกรรมตามความต้องการของสังคม (Social Contribution) เป็นหลัก เพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศ (Excellence) ซึ่งในด้านการเรียนการสอนมหาวิทยาลัยได้ตระหนักถึง “คุณภาพ” ของหลักสูตรด้วย เนื่องจากในการพัฒนามหาวิทยาลัยตามวิสัยทัศน์ของการมุ่งสู่มหาวิทยาลัยโลกนั้น ต้องมีหลักสูตรที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสให้นักศึกษาในการศึกษาต่อระดับนานาชาติ นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังมีภารกิจในการสร้างโจทย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่มีมาตรฐานสูง ให้ได้รับการตีพิมพ์ในระดับชาติและนานาชาติ และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ เพื่อมุ่งแก้ไขปัญหาของประเทศอีกด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ