นิเทศ นิด้า จับมือภาคีจากภาครัฐและเอกชน 5 แห่ง ร่วมกันพัฒนาระบบการตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลข่าวสาร รับมือข่าวปลอม ด้านสุขภาพ

ข่าวทั่วไป Friday September 11, 2020 16:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ก.ย.--สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ จับมือภาคีเครือข่ายรวม 5 แห่ง ลงนามบันทึกความร่วมมือ “โครงการพัฒนาศูนย์ตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลข่าวสารและสร้างเครือข่ายระดับประเทศในการรับมือกับข่าวปลอม” และร่วมพัฒนาระบบต้นแบบ #เช็กให้รู้ ซึ่งเป็นระบบอัจฉริยะต้นแบบช่วยการตัดสินใจข้อมูลข่าวปลอม ด้านสุขภาพ (Fact Checking Intelligent Platform) หวังกระตุ้นประชาชนให้ตระหนักรู้ และสามารถรับมือข่าวปลอมสุขภาพที่เกิดในสังคมไทยปัจจุบัน สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ จัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ “โครงการพัฒนาศูนย์ตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลข่าวสารและสร้างเครือข่ายระดับประเทศในการรับมือกับข่าวปลอม” โดยมีภาคีร่วมลงนาม จาก 5 องค์กร ได้แก่ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ (ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประธานในพิธี) คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และบริษัท แบ็คยาร์ด จำกัด ณ ห้องดวงกมล ชั้น 2 โรงแรม The SUKOSOL Bangkok โดยภาคีเครือข่ายมีบทบาทร่วมกันในการให้ข้อมูลและร่วมพัฒนาระบบต้นแบบ #เช็กให้รู้ ซึ่งเป็นระบบอัจฉริยะต้นแบบช่วยการตัดสินใจข้อมูลข่าวปลอมด้านสุขภาพ (Fact Checking Intelligent Platform) โดยในระยะแรกจะเป็นการทดลองใช้เพื่อช่วยในการวิเคราะห์โครงสร้างข่าวปลอมด้านสุขภาพ รวมถึงในโครงการภาคีต่าง ๆ จะร่วมกันเผยแพร่องค์ความรู้ ผลการวิจัย จัดอบรม และรายงานผลการตรวจสอบสู่สาธารณชน จึงถือเป็นครั้งแรกในการขยายพรมแดนการศึกษาวิจัยเพื่อป้องกันปัญหาข่าวปลอมด้านสุขภาพ ทั้งด้านนิเทศศาสตร์ ด้านเทคโนโลยี สื่อมวลชน รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไป คุณธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประธานในพิธี เน้นย้ำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภาคส่วนรัฐบาล วิชาการ และเอกชน เล็งเห็นถึงความสำคัญของการตรวจสอบข่าวปลอม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในปัจจุบันข่าวปลอมด้านสุขภาพ ทั้งประเด็นอาหารเสริม ยา และยาสมุนไพร แพร่กระจายเป็นไวรัลเป็นประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง และส่งผลให้ประชาชนที่มีระดับการรู้เท่าทันสื่อต่ำ เกิดความเชื่อและมีพฤติกรรมสุขภาพในทางที่ผิด ภาคีเครือข่ายข่าวปลอมด้านสุขภาพจึงมีความสำคัญในการขับเคลื่อนและเสริมสร้างการรู้เท่าทันข่าวปลอมด้านสุขภาพอันจะนำไปสู่สุขภาวะที่ดีได้ ผศ.ดร.บุหงา ชัยสุวรรณ หัวหน้าโครงการพัฒนาศูนย์ตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลข่าวสารและสร้างเครือข่ายระดับประเทศในการรับมือกับข่าวปลอม และรองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้กล่าวถึงที่มาของโครงการนี้ว่า ข่าวปลอมเป็นปัญหาที่สำคัญส่งผลกระทบต่อผู้คนในสังคม จากผลการวิจัยเบื้องต้นของโครงการจากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ 2,119 ตัวอย่าง พบว่า เกือบร้อยละ 80 ของกลุ่มตัวอย่าง ยังเชื่อว่า สไปรท์ใส่เกลือแก้ท้องร่วงท้องเสีย น้ำกระชายผสมน้ำผึ้งมะนาว ชามะละกอช่วยดีท็อกซ์และล้างไขมันในลำไส้ และน้ำมะขามช่วยลดไขมันและหน้าท้องได้ แม้ว่าทาง อย.จะทำการสื่อสารว่าเหล่านี้ไม่เป็นความจริง จึงมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจของประชาชนเกี่ยวกับข่าวปลอมและการรับมือข่าวปลอมที่เกิดขึ้น จึงได้มีการดำเนินการ “โครงการพัฒนาศูนย์ตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลข่าวสารและสร้างเครือข่ายระดับประเทศในการรับมือกับข่าวปลอม” ด้วยงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประจำปี 2652 ร่วมกับภาคีภาครัฐและเอกชน 5 แห่งที่มุ่งดำเนินการแก้ไขปัญหาข่าวปลอม และดำเนินโครงการด้วยทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประจำปี 2652 เช่นเดียวกัน ได้แก่ โครงการ Fake News Fighter คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โครงการ “เช็ก ชัวร์ แชร์” สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และ บริษัท แบ็คยาร์ด จำกัด ในส่วนของระบบต้นแบบ #เช็กให้รู้ ซึ่งเป็นระบบอัจฉริยะต้นแบบช่วยการตัดสินใจข้อมูลข่าวปลอมด้านสุขภาพ (Fact Checking Intelligent Platform) พัฒนาโดยการร่วมมือกันระหว่างภาคีองค์ความรู้ นิเทศ ฯ นิด้า “เช็ก ชัวร์ แชร์” และ “ชัวร์ก่อนแชร์” ได้ร่วมกันพัฒนาเกณฑ์ 6 มิติ ได้แก่ มิติโครงสร้างข่าว มิติบริบท มิติเนื้อหา มิติด้านภาษา มิติด้านโฆษณาและผู้สนับสนุน และมิติด้านสุขภาพ โดยมี คุณกิตติพงศ์ กิตติถาวรกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท แบ็คยาร์ด จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ Big Data นำข้อมูลการวิเคราะห์โดยมนุษย์ มาสร้างโมเดลการเรียนรู้ให้ระบบคอมพิวเตอร์ วิเคราะห์ แยกแยะโครงสร้างของข้อมูลข่าวด้วยเทคโนโลยี Deep Learning จนนำไปสู่ระบบอัจฉริยะต้นแบบขึ้น โดยผลลัพธ์ระบุ “แนวโน้มความเป็นไปได้ที่เข้าองค์ประกอบข่าวปลอม” (Fake news probability) เพื่อเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจของผู้รับข้อมูลข่าว สำหรับการดำเนินงานต่อไป ภาคีเครือข่าย ภายใต้การสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ยังมีการดำเนินการในกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อร่วมขับเคลื่อนให้เกิดภูมิทัศน์สื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ และประชาชนมีความรู้เท่าทัน และสามารถรับมือกับข่าวปลอม ดังนี้ ผศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม หัวหน้าโครงการ Fake News Fighter: การสร้างเครือข่ายเพื่อสร้างองค์ความรู้และกลไกในการแก้ปัญหาข่าวปลอม คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ข่าวปลอมไม่ใช่เรื่องใหม่แต่ข่าวปลอมที่มากับเทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นเรื่องใหม่ที่มีความซับซ้อน และส่งผลกระทบวงกว้างและรวดเร็วกว่าข่าวปลอมในอดีต ในฐานะที่คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนเป็นสถาบันการศึกษาที่ผลิตนักสื่อสารมวลชนออกไปรับใช้สังคม ต้องปรับตัวและเรียนรู้ที่จะรู้เท่าทันข่าวปลอมที่มากับสื่อออนไลน์ จึงได้พัฒนาหลักสูตร Fake News Fighter ร่วมกับศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ พร้อมกับจัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับนักศึกษาทางด้านสื่อสารมวลชนทั้ง 4 ภาค ภาคเหนือ ใต้ อีสาน และภาคกลาง โดยหลักสูตรเน้นย้ำการเป็นผู้สื่อข่าวที่ต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างถูกถ้วนบนสื่อออนไลน์ก่อนที่จะนำเสนอข่าว เพราะความน่าเชื่อถือคือคุณค่าที่สำคัญที่สุดของคนข่าว ทางด้าน นายกิตติพงษ์ ขันติรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สำนักกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวว่า อสมท มีความมุ่งมั่นเป็นหนึ่งในเสาหลักและเป็นสื่อกลางเพื่อช่วยให้ประชาชนไม่ตกเป็นเหยื่อและเครื่องมือของข้อมูลข่าวสารที่อาจก่อให้เกิดอันตราย โดยได้จัดตั้ง “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์” เพื่อเป็นหนึ่งในกลไกขับเคลื่อนการแก้ปัญหาข่าวปลอมข้อมูลเท็จในสังคมไทย โดยได้ดำเนินงานอย่างต่อเนื่องมากว่า 5 ปี ดังนั้น อสมท จึงมีความยินดีอย่างยิ่งและพร้อมที่จะนำสารสนเทศและฐานความรู้ที่มี เข้ามาร่วมมือเป็นภาคีเครือข่ายกับโครงการ ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญที่นำนวัตกรรมขั้นสูงเข้ามาช่วยแก้ปัญหาข่าวปลอมข้อมูลเท็จที่สร้างความเสียหายต่อสังคมไทยอย่างกว้างขวาง ขณะที่ นายวิษณุ โรจน์เรืองไร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ปัญหาการส่งต่อข้อมูลสุขภาพแบบผิด ๆ ถือเป็นปัญหาระดับประเทศ และเรื่องแชร์ผิด ๆ เดิม ๆ หลายเรื่องมีการกลับมาแชร์ซ้ำอีกหลายครั้ง เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว อย. จึงดำเนินโครงการ “เช็ก ชัวร์ แชร์” โดยรวบรวมข้อมูลที่มีการแชร์กันผิด ๆ มาแก้ไขความเข้าใจให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ เป็นแหล่งข้อมูลสำหรับตรวจสอบความถูกต้องเรื่องผลิตภัณฑ์สุขภาพในรูปแบบบทความ อินโฟกราฟิก และคลิปวิดีโอ สำหรับ “โครงการพัฒนาศูนย์ตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลข่าวสารและสร้างเครือข่ายระดับประเทศในการรับมือกับข่าวปลอม” ยังมีงานส่วนอื่น ๆ ที่ต้องขับเคลื่อนต่อไป ทั้งการวิจัยองค์ความรู้ การพัฒนาระบบตรวจสอบข้อเท็จจริงให้มีความแม่นยำ และครอบคลุมบริบทต่าง ๆ มากขึ้น การจัดอบรม การตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลข่าวสาร การเผยแพร่องค์ความรู้ การตระหนักรู้ และผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งขยายเครือข่ายไปส่วนภูมิภาค ได้แก่ เครือข่ายคณะนิเทศศาสตร์มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนากลไก และเทคโนโลยีช่วยในการตรวจสอบข้อมูลข่าวเท็จ ซึ่งมีผลกระทบต่อสาธารณชนวงกว้าง ต่อไป ผู้ที่สนใจทดลองใช้ระบบ #เช็กให้รู้ ติดตามร่วมเป็นเครือข่ายตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลข่าวสาร และรับข่าวสารหรือร่วมการทดลองระบบ ได้ที่ facebook fanpage : #เช็กให้รู้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ