กรุงเทพฯ--15 ก.ย.--สปาร์ค คอมมิวนิเคชันส์
วันมะเร็งต่อมน้ำเหลืองโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 15 กันยายนของทุกปี เป็นวันที่ประเทศไทยและทั่วโลกร่วมกันรณรงค์ ต่อต้าน และสร้างความตระหนักถึงมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ซึ่งถือเป็นโรคร้ายที่มีอุบัติการณ์สูงทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก โดยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองถือเป็นโรคที่พบได้มากเป็นอันดับหนึ่งในมะเร็งทางโลหิตวิทยา กับการพบจำนวนเคสใหม่กว่า 6,000 รายต่อปี คิดเป็นจำนวนผู้เสียชีวิตกว่า 3,000 รายต่อปี ในประเทศไทย และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
มะเร็งต่อมน้ำเหลืองเป็นมะเร็งเม็ดเลือดชนิดหนึ่ง เกิดจากความผิดปกติของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ (Lymphocyte) ที่ทำหน้าที่สร้างระบบภูมิคุ้มกัน โดยเซลล์เหล่านี้พบได้ในต่อมน้ำเหลือง ม้าม ไธมัส ไขกระดูกและส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย มะเร็งต่อมน้ำเหลืองแบ่งออกเป็นสองประเภทหลัก ได้แก่ Hodgkin Lymphoma (HL) และ Non-Hodgkin Lymphoma (NHL) โดย NHL เป็นชนิดที่พบได้มากที่สุดในไทยและทั่วโลก ด้วยอุบัติการณ์ที่มากถึง 4 ใน 5 รายของผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
นพ.ชวลิต หล้าคำมี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยา โรงพยาบาลยันฮี กล่าวว่า “มะเร็งต่อมน้ำเหลืองเป็นโรคที่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากพันธุกรรม แต่ความเสี่ยงในการเกิดโรคอาจพบได้ หากผู้ป่วยมีประวัติสัมผัสกับสารเคมีเป็นระยะเวลานาน อย่างไรก็ตาม มะเร็งต่อมน้ำเหลืองนับเป็นมะเร็งที่มีโอกาสหายขาดสูง ดังนั้น การสังเกตอาการนับเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก เพราะการได้รับวินิจฉัยในระยะเริ่มต้นจะช่วยเพิ่มโอกาสในการหายขาดให้กับผู้ป่วยได้ โดยอาการที่ต้องสงสัยของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองคือ มีก้อนโตขึ้นตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น คอ รักแร้ หรือขาหนีบ และอาจมีอาการ ไข้ เหงื่อออกตอนกลางคืน และน้ำหนักลดร่วมด้วย”
ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ประกอบไปด้วย อายุ เพศ การติดเชื้อ เช่น เชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องในผู้ป่วย HIV และโรคแพ้ภูมิตัวเอง (Autoimmune disease) และการสัมผัสสารเคมี เช่น ยาฆ่าแมลง โดยอุบัติการณ์ของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองจะเพิ่มขึ้นตามอายุ ส่วนใหญ่จะพบในกลุ่มผู้สูงอายุเพศชายมากกว่าเพศหญิง2
ถึงแม้ว่าโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง จะพบได้มากที่สุดในเพศชายช่วงอายุ 60-70 ปี แต่การเฝ้าระวังและสร้างความรับรู้เกี่ยวกับโรคนี้ ถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับประชากรทั่วไป เนื่องจากมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเป็นโรคที่สามารถพบได้ในผู้ป่วยทุกเพศทุกวัย โดยนางสาวโชติมา เทิดวิกรานต์ ผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองวัย 35 ปีที่พบ ก้อนเนื้อผิดปกติใต้ผิวหนังบริเวณหน้าอกเมื่อห้าปีก่อนด้วยวัยเพียง 30 ปี ถือเป็นตัวอย่างของผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยง แต่ด้วยความตื่นตัวและการสังเกตความผิดปกติในร่างกาย ทำให้เธอรีบเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรักษา จนปัจจุบันสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ
นางสาวโชติมา ได้เล่าถึงประสบการณ์ต่อสู้กับโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองหลังตรวจพบเมื่อปี 2558 ว่า “ส่วนตัวแล้วไม่ได้มีอาการป่วย หรือเข้าข่ายต่อการเป็นโรคร้ายแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม เมื่อเราพบก้อนเนื้อผิดปกติบนร่างกายก็ตัดสินใจไปพบแพทย์โดยด่วนเพื่อความสบายใจ และเมื่อพบว่าเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองก็เริ่มทำการรักษาด้วยเคมีบำบัดทันที เนื่องจากเราเริ่มรักษาตั้งแต่ระยะแรก ทำให้เราไม่ได้แสดงอาการอะไรมาก แต่ในเชิงกลับกันต้องมาประสบกับผลกระทบที่ค่อนข้างร้ายแรงของเคมีบำบัด อีกทั้งยังต้องใช้เวลารักษาที่ค่อนข้างนาน โดยส่วนตัวแล้วใช้เวลากว่า 8 ชั่วโมงในการรับยาเคมีบำบัดชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำในแต่ละรอบ ซึ่งทำให้เกิดความอ่อนเพลียและเสียเวลาไปกับการรักษาเป็นอย่างมาก”
ในปัจจุบันได้มีการรักษาด้วยเคมีบำบัดผ่านการฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังสำหรับการรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองแล้ว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความสะดวกและลดระยะเวลาการรักษาในโรงพยาบาลลง เมื่อเทียบระหว่างการรับยาเคมีบำบัดชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำกับการฉีดยาเข้าใต้ผิวหนัง พบว่าวิธีหลังประหยัดเวลาการรักษาและอยู่ในโรงพยาบาลได้ถึง 32 เปอร์เซ็นต์
“ในแง่ของการรักษา เคมีบำบัดเป็นการรักษามาตรฐานที่สามารถใช้ควบคู่กับวิธีการรักษารูปแบบอื่นได้ อย่างเช่นการให้ยามุ่งเป้า ซึ่งให้ผลการรักษาที่ดีและ มีประสิทธิภาพสูง อีกทั้งยังเป็นการรักษาที่คนไทยทุกสิทธิเข้าถึงได้ทุกคน นอกจากนั้นการรักษาด้วยการฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ก็ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกหนึ่งที่เข้ามาเป็นตัวช่วยสำคัญในการย่นระยะเวลารักษาให้กับผู้ป่วย โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19ในปัจจุบัน ระยะเวลาในการรักษาที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพนั้น นอกจากจะช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วยแล้ว ยังสามารถช่วยให้การทำงานของบุคลากรทางการแพทย์มีความคล่องตัวและรวดเร็วมากขึ้นอีกด้วย” นพ.ชวลิต กล่าวเสริม
“เนื่องในวันมะเร็งต่อมน้ำเหลืองโลก ในฐานะที่ได้ผ่านประสบการณ์กับโรคนี้มาแล้ว ดิฉันขอส่งกำลังใจให้ผู้ป่วยทุกท่าน และขอเป็นกระบอกเสียงในการสร้างความตระหนักเกี่ยวกับโรคนี้ให้แพร่หลายมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนทั่วไปรับรู้เกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงและคอยสังเกตอาการอย่างต่อเนื่อง เพราะโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเป็นโรคที่มีโอกาสหายขาดสูงมาก หากได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที นอกจากนี้ กำลังใจจากคนรอบข้างยังเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ผู้ป่วยมีกำลังใจต่อสู้กับโรคได้สำเร็จ” นางสาวโชติมา กล่าวปิดท้าย