กรุงเทพฯ--16 ก.ย.--เวเบอร์ แชนด์วิค
เมื่อประเทศทั่วโลกแข่งขันกันเพื่อนำระบบชำระเงินดิจิทัลมาปรับใช้กับระบบการเงินของประเทศตัวเอง ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ จึงได้มองถึงอนาคตและมองหาแนวทางสนับสนุนการใช้สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง หรือ Central Bank Digital Currency (CBDC) และนวัตกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในขณะที่ยังต้องรักษานโยบายการเงินและเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ และจากรายงานของธนาคารเพื่อการชำระบัญชีระหว่างประเทศ หรือ BIS เมื่อต้นปีนี้ ธนาคารกลางกว่า 80% กำลังการศึกษาเกี่ยวกับ CBDC ในรูปแบบต่างๆ โดย 40% มีการต่อยอดจากแนวคิดสู่การทดสอบที่เป็นรูปเป็นร่างและมีแบบแผน
เมื่อเร็วๆ นี้ มาสเตอร์การ์ดได้ประกาศเปิดตัวระบบทดสอบเมือนจริงให้กับเหล่าธนาคารกลางในหลายประเทศเพื่อประเมินการใช้ CBDC ของตนในกรณีต่างๆ ซึ่งตัวแพลตฟอร์มนี้จะทำให้ผู้ทดสอบสามารถจำลองได้ตั้งแต่การออกสกุลเงิน (Issuance) การแจกจ่าย (Distribution) ตลอดจนการแลกเปลี่ยนสกุลเงิน CBDC ระหว่างธนาคาร ผู้ให้บริการทางการเงิน และผู้บริโภค และในโอกาสนี้ มาสเตอร์การ์ดขอเชิญชวนธนาคารกลาง ธนาคารพาณิชย์ ตลอดจนบริษัทเทคโนโลยีและบริษัทที่ปรึกษา ร่วมเป็นพันธมิตรเพื่อประเมินสกุลเงิน CBDC ของตนในแง่ของการออกแบบเชิงเทคนิค การใช้งานจริงในกรณีต่างๆ และการรองรับการใช้งานร่วมกับช่องทางชำระเงินต่างๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน
มาสเตอร์การ์ด เป็นผู้นำด้านการทำระบบชำระเงินในรูปแบบต่างๆ และด้านการรวมพันธมิตรเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับทุกฝ่าย ตั้งแต่ธนาคารไปจนถึงธุรกิจและผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ เพื่อให้ผู้คนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ มาสเตอร์การ์ดต้องการใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญที่มีเพื่อพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย
“ธนาคารกลางได้เร่งค้นคว้าเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัลด้วยวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย ตั้งแต่เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงิน ตลอดจนเพื่อพัฒนาระบบชำระเงินให้มีความทันสมัย” นายราช ดาโมดารัน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายทรัพย์สินดิจิทัลและบล็อกเชนด้านผลิตภัณฑ์และความร่วมมือ มาสเตอร์การ์ด กล่าว “มาสเตอร์การ์ดทำงานร่วมกับพันธมิตรจากภาครัฐ ธนาคาร บริษัทฟินเทค และบริษัทที่ปรึกษาที่มีค่านิยมและหลักการตรงกับองค์กรในการค้นคว้าเกี่ยวกับ CBDC เพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรม โดยที่แพลตฟอร์มใหม่นี้จะช่วยสนับสนุนธนาคารกลางในการตัดสินใจเกี่ยวกับการดำเนินงานในปัจจุบันและอนาคตเพื่อเศรษฐกิจของประเทศและในระดับภูมิภาค” นายราช กล่าวเสริม
นางชีลา วอร์เรน หัวหน้าฝ่ายบล็อกเชน ทรัพย์สินดิจิทัล และนโยบายข้อมูล สภาเศรษฐกิจโลก กล่าวว่า “ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการค้นคว้าเกี่ยวกับ CBDC จะช่วยให้ธนาคารเข้าใจถึงโอกาสและศักยภาพด้านเทคโนโลยีที่หลากหลายของ CBDC ได้ดียิ่งขึ้น และผ่านการสนับสนุนต่างๆ ธนาคารกลางจะได้รับประโยชน์จากการค้นคว้าและวิจัยในแนวทางดำเนินงานของ CBDC รวมถึงการมีข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับโอกาสที่จะเกิดขึ้นในอนาคต” CBDC ถูกออกแบบมาเพื่อให้มีมูลค่าและหลักทรัพย์ค้ำประกันจากรัฐบาลเหมือนกันกับการออกธนบัตรของแต่ละประเทศ และนอกเหนือจากการออกธนบัตร ธนาคารกลางจะสามารถออก CBDC ในรูปแบบดิจิทัลเพื่อใช้แทนเงินกระดาษได้
การขับเคลื่อนนวัตกรรมที่สามารถนำไปต่อยอดได้
แม้การดำเนินงานจะมีหลากหลายรูปแบบ แต่แนวทางหลักที่ทุกประเทศจะต้องปฏิบัติตามคือ ธนาคารกลางจะต้องทำหน้าที่เป็นผู้ออกและกระจายสกุลเงินดิจิทัลผ่านธนาคารพาณิชย์และผู้ให้บริการทางการเงินที่ได้รับอนุญาต เฉกเช่นเดียวกันกับธนบัตร มาสเตอร์การ์ดเข้าใจในจุดที่ว่าธนาคารกลางแต่ละแห่งมีแนวทางค้นคว้าเกี่ยวกับ CBDC ที่ต่างกัน ดังนั้น แพลตฟอร์มที่ถูกพัฒนาขึ้นมาจึงมีความพร้อมสำหรับทุกฝ่ายในการทดสอบว่า CBDC ของตนนั้นตรงกับความต้องการของประเทศหรือภูมิภาคหรือไม่ แพลตฟอร์มเสมือนจริงนี้จึงสามารถถูกปรับเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อมของการดำเนินงานของธนาคารกลางแต่ละแห่งได้ ทำให้ธนาคารกลางสามารถ:
จำลองระบบการออก การกระจาย และการแลกเปลี่ยน CBDC ระหว่างธนาคารและผู้บริโภค รวมทั้งวิธีที่จะสามารถใช้ CBDC ร่วมกับเครือข่ายและโครงสร้างระบบชำระเงินที่มีอยู่ เช่น การใช้บัตร และการชำระเงินแบบเรียลไทม์จำลองสถานการณ์ที่ผู้บริโภคสามารถใช้ CBDC จับจ่ายสินค้าและบริการกับร้านค้าและผู้ให้บริการทั่วโลกที่รับชำระด้วยมาสเตอร์การ์ดตรวจสอบการออกแบบเชิงเทคนิคของ CBDC และกรณีการใช้งานในรูปแบบต่างๆ เพื่อกำหนดมูลค่าและความเป็นไปได้ในตลาดได้รวดเร็วยิ่งขึ้นประเมินขั้นตอนการพัฒนา CBDC เช่น การออกแบบเชิงเทคนิค ความปลอดภัย และการทดสอบในช่วงต้นเรื่องการออกแบบและการใช้งาน
CBDC ในอนาคต
มาสเตอร์การ์ดมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนธนาคารกลางในการเลือกเส้นทางเพื่อพัฒนาระบบชำระเงินของตนให้ทันสมัยโดยการมองหาโซลูชันที่จะผนวกกับวิธีการชำระเงินที่มีอยู่ได้อย่างราบรื่น นอกจากนี้ บริษัทยังมุ่งมั่นที่จะสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อร่วมกันเปลี่ยนแปลงวิธีที่ผู้คนและธุรกิจทำธุรกรรมในแต่ละวัน