กรุงเทพฯ--24 ก.ย.--กรมการข้าว
ในช่วงนี้เกิดพายุและฝนตกหนักหลายพื้นที่ สภาพอากาศมีความชื้นสูง ทั้งทางภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคตะวันตก ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ซึ่งทำให้เกิดโรคไหม้ระบาดได้ง่าย และในระยะนี้หลายพื้นที่อยู่ระหว่างข้าวตั้งท้องถึงออกรวง ชาวนาควรหมั่นสำรวจแปลงนาอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบการอาการของโรคไหม้ ให้รีบดำเนินการควบคุมและหาทางป้องกันกำจัดก่อนเกิดการระบาดรุนแรง ซึ่งจะส่งผลกระทบผลผลิตได้
นายสุดสาคร ภัทรกุลนิษฐ์ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า โรคไหม้สาเหตุเกิดจากเชื้อรา โดยในระยะกล้าใบมีแผลจุดสีน้ำตาลคล้ายรูปตา มีสีเทาอยู่ตรงกลางแผล ความกว้างของแผลประมาณ 2-5 มิลลิเมตร และความยาวประมาณ 10-15 มิลลิเมตร แผลสามารถขยายลุกลามและกระจายทั่วบริเวณใบ ถ้าโรครุนแรงกล้าข้าวจะแห้งฟุบตาย อาการคล้ายถูกไฟไหม้ ระยะแตกกอ อาการพบได้ที่ใบ ข้อต่อของใบ และข้อต่อของลำต้น ขนาดแผลจะใหญ่กว่าที่พบในระยะกล้า แผลลุกลามติดต่อกันได้ที่บริเวณข้อต่อ ใบจะมีลักษณะแผลช้ำสีน้ำตาลดำ และมักหลุดจากกาบใบเสมอ และระยะคอรวง (ออกรวง) ถ้าข้าวเพิ่งจะเริ่มให้รวง เมื่อถูกเชื้อราเข้าทำลาย เมล็ดจะลีบหมด รวงข้าวมีสีซีดขาว แต่ถ้าเป็นโรคตอนรวงข้าวแก่ใกล้เก็บเกี่ยว จะปรากฏรอยแผลช้ำสีน้ำตาลที่บริเวณคอรวง ทำให้เปราะหักง่าย รวงข้าวร่วงหล่นเสียหายมาก การแพร่ระบาด พบโรคในแปลงที่ต้นข้าวหนาแน่น ทำให้อับลม ถ้าใส่ปุ๋ยสูงและมีสภาพแห้งในตอนกลางวันและชื้นจัดในตอนกลางคืน มีน้ำค้างยาวนานถึงตอนสายราว 9 โมง ถ้าอากาศค่อนข้างเย็น อุณหภูมิประมาณ 22-25 องศาเซลเซียส ลมแรงจะช่วยให้โรคแพร่กระจายได้ดี
การป้องกันและการกำจัดโรคไหม้ ในระบบการผลิตข้าวแบบอินทรีย์ 1)ให้ใช้พันธุ์ต้านทาน และค่อนข้างต้านทานต่อโรคไหม้ที่เหมาะสมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่พันธุ์ กข22 และ กข33 2)ควรปลูกพืชตระกูลถั่วเพื่อปรับปรุงโครงสร้างของดินและช่วยเพิ่มปุ๋ยพืชสดในดิน เช่น ปลูกปอเทืองช่วงปอเทืองออกดอกสีเหลืองเต็มท้องทุ่งให้ไถกลบเพื่อจะได้ปุ๋ยพืชสด 3)คลุกเมล็ดพันธุ์ข้าวก่อนปลูกด้วยเชื้อราไตรโคเดอร์มาหัวเชื้อสด 4)ไม่ตกกล้าหนาแน่นเกินไป แนะนำให้หว่านเมล็ดข้าวในอัตรา 15-20 กก./ไร่ เพื่อให้แปลงมีการถ่ายเทอากาศดี 5)หากพบสภาพอากาศแห้งและร้อนในตอนกลางวัน มีฝนตกพรำในตอนกลางคืน และช่วงเช้ามีหมอกและน้ำค้างจัด อากาศค่อนข้างเย็น ควรฉีดพ่นเชื้อราไตรโครเดอร์มาหัวเชื้อสดเพื่อป้องกันการเกิดโรค 6)หากพบการระบาดของโรคไหม้ในแปลงข้างเคียง ทำการฉีดพ่นด้วยสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา ชื่อสามัญ ไตรไซคลาโซล หรือ ไอโซโพรไทโอเลน หรือ อิดิเฟนฟอส ตามอัตราที่ระบุหรือตามคำแนะนำของนักวิชาการ และไม่ฉีดพ่นสารไตรไซคลาโซล เมื่อข้าวอยู่ในระยะออกรวง เนื่องจากจะทำให้เกิดการตกค้างของสารเคมีในผลผลิตข้าว
ในระบบการผลิตข้าวแบบ GAP 1)ใช้พันธุ์ต้านทาน และค่อนข้างต้านทานต่อโรคไหม้ที่เหมาะสมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่พันธุ์ กข22 และ กข33 2)คลุกเมล็ดพันธุ์ข้าวก่อนปลูกด้วยสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา ชื่อสามัญ ไตรไซคลาโซล (Tricyclazole) ชื่อการค้า บีม (Beam) บลาสวัน (Blast one) ซีโร (Zero) และเรดบี (Redbee) ตามอัตราที่ระบุหรือตามคำแนะนำของนักวิชาการ 3)ไม่ตกกล้าหนาแน่นเกินไป แนะนำให้หว่านเมล็ดข้าวในอัตรา 15-20 กก./ไร่ เพื่อให้แปลงมีการถ่ายเทอากาศดี 4)หากพบสภาพอากาศแห้งและร้อนในตอนกลางวัน มีฝนตกพรำในตอนกลางคืน และช่วงเช้ามีหมอกและน้ำค้างจัด อากาศค่อนข้างเย็น ควรฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา ชื่อสามัญ ไตรไซคลาโซล ตามอัตราที่ระบุหรือตามคำแนะนำของนักวิชาการ เมื่อข้าวอยู่ในระยะกล้าจนถึงแตกกอสูงสุด เพื่อป้องกันการเกิดโรค 5)หากพบการระบาดของโรคไหม้ในแปลงข้างเคียง ทำการฉีดพ่นด้วยสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา ชื่อสามัญ ไตรไซคลาโซล ตามอัตราที่ระบุหรือตามคำแนะนำของนักวิชาการ และไม่ฉีดพ่นสารไตรไซคลาโซล เมื่อข้าวอยู่ในระยะออกรวง เนื่องจากจะทำให้เกิดการตกค้างของสารเคมีในผลผลิตข้าว