กรุงเทพฯ--24 ก.ย.--สํานักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม
เมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๖๓ นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เดินทางไปติดตามความคืบหน้าผลการดำเนินงานการสร้างความเข้มแข็งของพลังบวร เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนของชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง “บวร On Tour” ณ ชุมชนคุณธรรมวัดฝั่งคลอง ต.เกาะหวาย อ.ปากพลี จ.นครนายก โดยมี พระราชพรหมคุณ เจ้าคณะจังหวัดนครนายก พระครูวิริยานุโยค เจ้าอาวาสวัดฝั่งคลอง นายบัญชา เชาวรินทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก หัวหน้าส่วนราชการจังหวัดนครนายก ผู้นำ “บวร” ชุมชนคุณธรรมวัดฝั่งคลอง คณะกรรมการ และประชาชนชาวจังหวัดนครนายก ให้การต้อนรับ โดยว่าที่ร้อยตรีชาติชาย ยอดมิ่ง ประธานชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนไทยพวน ผู้แทนพลังบวร บรรยายสรุปกระบวนการและปัจจัยแห่งความสำเร็จที่ชุมชนภาคภูมิใจในการขับเคลื่อนชุมชนตามแนวทางคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงขับเคลื่อนด้วยพลังบวร จากนั้นนำชมมิวเซียม “ปะพวนที่ปากพลี” และ “ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชวัดฝั่งคลอง” ชมเรือนไทยพวน และชมการสาธิตวิถีชีวิตของชาวไทยพวน การทอผ้า การถักแห การจักสาน และการแสดงพื้นบ้าน ฟ้าอมรนครนายก ฟ้อนไทยพวน และ ลำตัด รำโทน ลำ พวน
นายอิทธิพล กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้ดำเนินงานส่งเสริมชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงขับเคลื่อนด้วยพลังบวร ตามนโยบายของรัฐบาล โดยนำหลักการ “บวร : บ้าน วัด โรงเรียน” ไปขับเคลื่อนและดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าใจ และเข้าถึงโครงการได้อย่างรวดเร็ว ทั่วถึงและเท่าเทียมกัน โดยเริ่มต้นที่ชุมชนต้นแบบนำร่องจังหวัดละ ๑ ชุมชน รวม ๗๖ ชุมชน และพร้อมขยายเป้าหมายเป็น ๑,๐๐๐ ชุมชนภายในปลายปีนี้ ซึ่งที่ผ่านมา วธ.ได้ดำเนินการขับเคลื่อนในชุมชนต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง อาทิ ชุมชนคุณธรรมวัดสำโรงเกียรติ จ.ศรีสะเกษ ชุมชนคุณธรรมวัดนาหนอง จ.ราชบุรี ซึ่งจังหวัดนครนายกมีชุมชนคุณธรรมฯ ทั้งหมด ๑๒๓ แห่ง และเป็นชุมชนคุณธรรมฯ ต้นแบบ “บวร On Tour” จำนวน ๒๙ แห่ง โดยชุมชนคุณธรรมวัดฝั่งคลอง จ.นครนายก เป็น ๑ ใน ๗๖ ชุมชนต้นแบบนำร่องที่มีความโดดเด่น ที่ได้ใช้ “พลังบวร” ในการนำทุนทางวัฒนธรรมที่ดีงามเป็นอัตลักษณ์ของชาวไทยพวนที่มีการรวมตัวกันของ ๔ ชุมชน ได้แก่ ชุมชนบ้านฝั่งคลอง ชุมชนบ้านท่าแดง ชุมชนบ้านเกาะหวาย และชุมชนบ้านใหม่ มีการอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นด้านภาษาพูด การแต่งกายแบบไทยพวน อาหารพื้นบ้าน การทอผ้า และการอนุรักษ์ประเพณีฮีตสิบสอง คองสิบสี่ เช่น ประเพณีบุญทานข้าวจี่ - วิถีไทยพวน ประเพณีสงกรานต์ไทยพวน และการอนุรักษ์ศิลปพื้นบ้าน อาทิ พิธีบายศรีสู่ขวัญต้อนรับแขกผู้มาเยือน การจัดเลี้ยงอาหารโตกไทยพวน ไปต่อยอดส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน
นอกจากนี้ ชุมชนคุณธรรมวัดฝั่งคลองยังเป็นชุมชนที่มีความเป็นอยู่เรียบง่ายแบบสังคมชนบท คนในชุมชนพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน มีความภาคภูมิใจในวิถีแห่งชาติพันธุ์ไทยพวน ร่วมอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น ดำรงชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การเป็นเจ้าบ้านที่ดีพร้อมต้อนรับผู้มาเยือน และมีการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ของชุมชน โดยร่วมกับพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ พัฒนาปรับปรุงพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยพวน ให้เป็น “มิวเซียม ปะพวนที่ปากพลี” เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ที่สำคัญของ จ.นครนายก รวมทั้งมีการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาพัฒนาต่อยอดเป็นสินค้าและบริการทางวัฒนธรรม เช่น การแสดงทางวัฒนธรรม “ลำตัด รำโทน ลำพวน” ผลิตภัณฑ์และอาหารพื้นบ้าน อาทิ ผ้าทอมือไทยพวน ปลาดูทอดสมุนไพร ขนมข้าวกระยาคู ขนมกระยาสารท เป็นต้น ซึ่งนับว่าเป็นเสน่ห์ชุมชนแก่ผู้มาเยือน สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชนและท้องถิ่นอย่างยั่งยืน