กรุงเทพฯ--25 ก.ย.--โรงพยาบาลจุฬาภรณ์
การมีสุขภาพที่ดี… เป็นเรื่องพื้นฐานของชีวิต ซึ่งการดูแลสุขภาพ การแพทย์ และสาธารณสุข ต่างก็เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการดูแลสุขภาพ จากสภาพสังคม สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ได้ยกระดับการรักษาพยาบาลของผู้คนทั่วโลกให้ดีขึ้น ขณะเดียวกันก็นำมาซึ่งความท้าทายใหม่ๆ ทั้งโรคระบาด โรคอุบัติใหม่ หรือแม้แต่ชีวิตความเป็นอยู่ที่เปลี่ยนไปของประชากรโลก ที่จำเป็นต้องพึ่งพาการอุปโภคบริโภคในปริมาณอันมหาศาล และส่งผลเสียต่อสุขภาพ นำมาซึ่งความต้องการบุคลากรทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข ที่ต้องมากด้วยจำนวนและคุณภาพที่ดีพร้อมจะดูแลสุขภาพของผู้คน ความท้าทายนี้ไม่เพียงจำกัดอยู่แค่เฉพาะในโรงพยาบาลเท่านั้น แต่ด้วยเทรนด์การดูแลสุขภาพของคนในปัจจุบัน การรักษาทางเลือก หรือ การออกกำลังกายในฟิตเนส ก็กลายมีบทบาทสำคัญต่อการดูแลสุขภาพ รวมไปจนถึงสถานศึกษาที่ทำหน้าที่ผลิตบุคลากรให้แก่สังคมด้วย
นักรังสีเทคนิค…ดาวรุ่งของของวงการแพทย์
แม้ว่าเราจะมีเทคโนโลยีด้านสุขภาพมากมาย แต่การจะใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงนั้น จำเป็นต้องอาศัยความรู้ความชำนาญของบุคลากร ศ.พญ.จิรพร เหล่าธรรมทัศน์ คณบดีคณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เล่าว่า “เรื่องบุคลากรก็ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่ประเทศไทยต้องแก้ อย่างเช่น ประเทศเราควรต้องมีนักรังสีเทคนิค 6,000 – 7,000 คน จึงจะเพียงพอ ซึ่งปัจจุบันที่เรียนจบทางนี้มีอยู่ราว 5,000 คน แต่อยู่ในอาชีพนี้จริงๆ เพียง 4,000 กว่าคนเท่านั้น เกือบครึ่งอยู่ในโรงพยาบาลเอกชน ที่เหลือประจำอยู่ในโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในโรงพยาบาลศูนย์ของจังหวัดต่างๆ แต่โรงพยาบาลขนาดรองลงไปยังขาดแคลนอยู่มาก หลายที่จำเป็นต้องใช้บุคลากรที่ไม่ได้จบด้านนี้โดยตรงมาทำหน้าที่”
“รังสีเทคนิคมีบทบาทในการวินิจฉัยโรคอย่างมาก อย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือการใช้ผลเอ็กซ์เรย์และเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ ประกอบการวินิจฉัยและรักษาโรคโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ปัจจุบันผลจากการทำเอ็กซ์เรย์ CT หรือ MRI สามารถอ่านผลแบบดิจิทัลได้ ทำให้รังสีแพทย์สามารถดูผลจากระยะไกลได้ สามารถส่งผลไปยังโรงพยาบาลศูนย์หรือโรงพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อวินิจฉัยโรคและวางแผนการรักษาได้ แต่การจะได้ภาพที่เหมาะสมเพียงพอต่อการวินิจฉัย ก็จำเป็นต้องอาศัยความเชี่ยวชาญของนักรังสีเทคนิค ในการทำให้ภาพเหล่านั้นออกมา การแพทย์ยุคนี้เรามีเครื่องมือที่ดีขึ้นมาก แต่หากไม่มีทักษะและความชำนาญ ต่อให้เครื่องมือที่ใช้จะแพงแค่ไหน หรือมีเทคโนโลยีดีแค่ไหน ก็อาจกลายเป็นความเปล่าประโยชน์”
“ปัจจุบันประเทศไทยผลิตนักรังสีเทคนิคได้เพียงปีละ 500 คน และจะมีเพิ่มขึ้นเป็น 700-800 คนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ขณะที่ความต้องการบุคลากรเติบโตขึ้นทุกปี ราวปีละ 5-8% จากความต้องการ 7000 คน ซึ่งหากเรายังผลิตได้เท่านั้นก็ทิ้งห่างจากความต้องการจริงๆของสังคมอยู่หลายปี พอมองกลับไปที่ปัญหา ในฐานะที่เราเป็นหน่วยงานการศึกษา เราพบว่าปัจจัยสำคัญที่จะแก้ปัญหา คือ ต้องสร้างครูอาจารย์ที่จะมาสอนให้มากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาทางคณะเราเองก็ให้ทุนนักศึกษาเต็มจำนวน มีมาตรการในการจูงใจให้นักรังสีเทคนิคอยากศึกษาต่อ เพื่อมาเป็นอาจารย์ มีการปรับปรุงค่าตอบแทนให้เหมาะสม อีกปัจจัยหนึ่งคือการปรับในเชิงนโยบายหรือกฎหมายของรัฐ เนื่องจากมีการกำหนดไว้ว่าอัตราส่วนครู 1 คนจะสอนนักศึกษาได้ 8 คน หากรัฐมีการผ่อนปรน โดยที่ไม่กระทบคุณภาพการเรียนการสอน ก็จะช่วยติดปีกให้เราสร้างนักรังสีเทคนิคได้พอกับความต้องการ”
Sonographer-นักอัลตราซาวด์ อาชีพต่อยอด…อนาคตรุ่ง
Sonographer อีกอาชีพหนึ่ง ที่มีการเติบโตอย่างมากในต่างประเทศ เป็นอาชีพที่ผสานความเชี่ยวชาญของนักรังสีเทคนิค กับนักอัลตราซาวด์ ซึ่งในประเทศที่นักรังสีเทคนิคไม่ขาดแคลน ก็จะมาศึกษาและฝึกฝนการทำอัลตราซาวด์ เพื่อเป็น Sonographer เพราะนักรังสีเทคนิคนั้นจะมีความเชี่ยวชาญในเรื่องกายวิภาคและพยาธิสภาพเป็นพื้นฐานอย่างดี ซึ่งอาชีพนี้เป็นอาชีพที่ได้รับค่าตอบแทนสูง และกลายมาเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ได้รับความนิยมในออสเตรเลีย อเมริกา ประเทศในยุโรป รวมทั้งประเทศในเอเชีย อย่างสิงคโปร์
“อัลตราซาวด์ มีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างมากในการรักษา เดี๋ยวนี้เครื่องอัลตราซาวด์มีราคาไม่แพง และถูกใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น ไม่จำกัดเฉพาะในสูตินารีแพทย์อีกต่อไป อย่างเช่น ศัลยแพทย์หลอดเลือด วิสัญญีแพทย์ แพทย์ที่รักษาหูคอจมูก แพทย์รักษาต่อมไร้ท่อ การผ่าตัดช่องท้อง เป็นต้น แต่การจะทำอัลตราซาวด์ให้ดี ต้องอาศัยการเรียนรู้และฝึกฝน โรงเรียนนักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ ของคณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ เป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในเมืองไทย ที่เราเปิดขึ้นเพื่อให้พร้อมรับมือกับความต้องการบุคลากรที่เพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้ ด้วยความร่วมมือกับ Monash University ประเทศออสเตรเลีย เราหวังว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า จะสามารถเติมเต็มความต้องการนักอัลตราซาวด์ 1,250 อัตรา ให้กับโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศไทยได้ ลดภาระของแพทย์ในการตรวจรักษา รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์สามารถมาเรียนเพื่อต่อยอดความรู้ได้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในวินิจฉัยและการรักษาผู้ป่วย ทั้งในด้านบริการรักษา และเชิงรุกในการค้นหาโรคระยะเริ่มต้น ทำให้ป้องกันและรักษาให้หายขาดได้ ” ศ.พญ.จิรพร กล่าว
โอกาสอาชีพ…จากสังคมสูงวัย
โรงเรียนวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวและสุขภาพ ภายใต้คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ ก็เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่มุ่งสร้างบุคลากรให้ตอบรับกับโจทย์แห่งอนาคตของประเทศไทย นั่นคือ สังคมสูงวัย
ศ.พญ.จิรพร กล่าวว่า “หลายสถาบันในเมืองไทยมุ่งเน้นในเรื่องวิทยาศาสตร์การกีฬา แต่โรงเรียนแห่งนี้จะมุ่งเน้นที่จะสร้างบุคลากรเพื่อรับมือกับสังคมสูงวัยที่กำลังมาถึง ซึ่งในอนาคตจะมีบทบาทอย่างมากในการช่วยลดความเจ็บป่วยของผู้คน มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสรีรศาสตร์และการเคลื่อนไหว สามารถออกแบบการเคลื่อนไหวที่ถูกต้องให้กับผู้สูงวัยได้ มีความรู้ที่สามารถเป็นนักกายภาพบำบัดได้ เป็นโค้ชให้นักกีฬาได้ และเป็นเทรนเนอร์ออกกำลังกายได้”
นอกเหนือจากหลักสูตรระดับปริญญาตรี โรงเรียนวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวและสุขภาพ ยังมีหลักสูตรระยะสั้นที่ได้การตอบรับเป็นอย่างดี มีบุคลากรในวิชาชีพที่เกี่ยวกับสุขภาพให้ความสนใจและเข้ามาอบรม เพื่อนำความรู้ในการดูแลผู้สูงวัยไปปรับใช้ในหน้าที่การงานเป็นจำนวนมาก สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการปรับตัวในอาชีพ ให้สอดรับกับสถาการณ์ที่เปลี่ยนไปของสังคมที่มีความเป็นรูปธรรม
นอกจากนี้ ทางคณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพยังมีโรงเรียนฉุกเฉินการแพทย์(ต่อเนื่อง) ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับเหตุฉุกเฉินต่างๆ นอกโรงพยาบาลโดยการผลิตเจ้าหน้าที่ฉุกเฉิน และหน่วยกู้ภัยที่มีศักยภาพพร้อมในการดูแลผู้ป่วยระหว่างที่นำส่งโรงพยาบาล และโรงเรียนนวัตกรรมการบริหารจัดการสถานพยาบาล ที่จะมุ่งสร้างบุคลากรที่ช่วยในการบริหารจัดการและสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ในสถานพยาบาล ที่มีความรู้ความเข้าใจความลำบากของผู้ป่วยและความต้องการของแพทย์ พยาบาลและเภสัชกร และทำการสนับสนุนงานของบุคคลเหล่านี้ ให้ผู้ป่วยรู้สึกอุ่นใจเวลามาโรงพยาบาล และแพทย์ พยาบาล เภสัชกรมีเวลาทุ่มเทในการดูแลผู้ป่วยให้มากขึ้น