กรุงเทพฯ--25 ก.ย.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
เทศบาลเมืองบ้านฉาง อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง เป็นพื้นที่หนึ่งในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC และมีโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ทั้งโครงการสนามบินอู่ตะเภา โครงการรถไฟความเร็วสูง และเมืองใหม่ ดังนั้น เพื่อเตรียมพร้อมรองรับความเจริญเติบโตที่กำลังจะมีขึ้นในอนาคต และเพื่อให้การพัฒนาเมืองบ้านฉางสอดคล้องกับโครงการพัฒนาย่านนวัตกรรมอู่ตะเภา-บ้านฉาง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ จึงได้มีการจัดตั้ง “ศูนย์นวัตกรรมวิชาการเทศบาลเมืองบ้านฉาง” ขึ้น ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างเทศบาลเมืองบ้านฉาง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA
อาจารย์ไมเคิลปริพล ตั้งตรงจิตร คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในฐานะหัวหน้าโครงการพัฒนาย่านนวัตกรรมอู่ตะเภา-บ้านฉาง กล่าวว่า การเกิดขึ้นของศูนย์ฯ ดังกล่าว เป็นความต่อเนื่องมาจากยุทธศาสตร์การพัฒนานวัตกรรมเชิงพื้นที่ (Area-based Innovation) ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) โดยมีโครงการพัฒนาย่านนวัตกรรม (Innovation District) และมีการลงนามร่วมกันระหว่าง สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสนเทศ (GISDA) เทศบาลเมืองบ้านฉาง อ.บ้านฉาง จ.ระยอง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา โดยมี concept ว่า การพัฒนาย่านนวัตกรรมจะต้องมีปัจจัยองค์ประกอบคือ หนึ่งต้องมีผู้ประกอบการรายใหม่ หรือหน่วยธุรกิจที่จะเร่งรัดให้มันเติบโตขึ้นมาได้ สองต้องมีการทำธุรกิจนวัตกรรม สามพื้นที่ต้องมีการพัฒนา มีความต่อเนื่องของกิจกรรมต่างๆ เพื่อที่จะช่วยธุรกิจใหม่ๆ มีความเจริญเติบโตได้เร็วขึ้น
“เพราะเทศบาลเมืองบ้านฉาง ตั้งอยู่ในเขต EEC ซึ่งจะทำให้บ้านฉางได้รับผลกระทบจาการพัฒนาเกิดการเติบโตอย่างรวดเร็ว จึงกังวลว่าเมื่อความเจริญเข้ามาจะส่งผลกระทบกับวิถีชีวิตได้ ถ้าไม่มีการพัฒนาเมืองอย่างเป็นระบบหรือการวางแผนการจัดการที่ดี อาจส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมของเมืองที่เป็นเมืองสงบและคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนได้ จึงเป็นสาเหตุที่ มจธ.เข้ามาร่วมกับเมืองบ้านฉางเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ในการรองรับการเจริญเติบโตที่กำลังจะมีขึ้น หลังจากทำงานในพื้นที่มากว่าสามปี เราเป็นที่รู้จักของคนในชุมชน ดังนั้น การมีศูนย์ฯ จะเป็นสัญลักษณ์ให้ชาวบ้านเห็นว่าเรายังอยู่ และใช้เป็นพื้นที่ที่นี้ติดต่อระหว่างมหาวิทยาลัย และชุมชน แม้ขนาดจะไม่ใหญ่แต่เสมือนเป็นเมล็ดพันธุ์ของกิจกรรมที่เกิดจากความร่วมมือและความตั้งใจของนายกเทศมนตรีเมืองบ้านฉาง ที่จะพัฒนาเมืองบ้านฉางให้เป็นเมืองที่มีคุณภาพชีวิตและเป็นเมืองของการเรียนรู้ ซึ่งได้ถูกบรรจุไว้ในแผนการพัฒนาเทศบาลเมืองบ้านฉางแล้ว” อาจารย์ไมเคิลปริพล กล่าว
คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ฯ มจธ. กล่าวต่อว่า ศูนย์ฯ แห่งนี้ จะเป็น Platform ของ มจธ.ในการขับเคลื่อนกิจกรรมการให้ความรู้ด้านนวัตกรรมต่างๆ ที่ตรงกับความต้องการของกลุ่มผู้ประกอบการ นักเรียน นักศึกษาในท้องถิ่น พร้อมทั้งเชื่อมโยงย่านนวัตกรรมระหว่างเครือข่ายและคนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC และต่อยอดการพัฒนาด้านกายภาพเมืองผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งกับหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ ภาคเอกชน และชุมชน ตามแผนดำเนินการพัฒนาย่านนวัตกรรมอู่ตะเภา-บ้านฉาง ระยะที่ 2 ในฐานะที่ มจธ.เป็นสถาบันการศึกษาที่ประกอบด้วยหน่วยงานต่างๆ ในการให้ความรู้เฉพาะด้านที่สำคัญต่อการพัฒนานวัตกรรมในอุตสาหกรรมเป้าหมายของกลุ่มผู้ประกอบการ และเป็นภาคีหนึ่งที่สำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาย่านนวัตกรรม จึงจำเป็นต้องมีการดำเนินการตามแผนพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดการพัฒนาย่านนวัตกรรมได้สำเร็จตามที่ตั้งเป้าหมายไว้และทันกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
นายไพโรจน์ เรืองธุรกิจ นายกเทศมนตรีเมืองบ้านฉาง กล่าวว่า บ้านฉางเป็นพื้นที่หนึ่งของ EEC และเป็นศูนย์กลางการเจริญเติบโตของการพัฒนาย่านนวัตกรรมอู่ตะเภา-บ้านฉาง ฉะนั้น จึงต้องเตรียมพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรมใหม่ๆ ที่กำลังเข้ามา จึงได้จัดตั้ง“ศูนย์นวัตกรรมวิชาการเทศบาลเมืองบ้านฉาง” ขึ้น ภายในพื้นที่ของสำนักงานเทศบาลเมืองบ้านฉาง อ.บ้านฉาง จ.ระยอง ทำหน้าที่ในการสื่อสารเรื่องของนวัตกรรมต่างๆ เนื่องจากทุกวันนี้เรื่องการสื่อสารเทคโนโลยีก็มีส่วนสำคัญในการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้คนในชุมชน ทางเทศบาลจึงมีแนวคิดที่ให้เด็กเยาวชน และประชาชนทุกช่วงวัยได้มาใช้บริการและเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องการสื่อสาร เทคโนโลยีใหม่ๆ และนวัตกรรมต่างๆ โดยการดำเนินงานของศูนย์ฯ จะเป็นสถานที่ประสานงานและบ่มเพาะความรู้ด้านนวัตกรรม เทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ การจัดแสดงผลงานที่มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน การอบรมต่างๆ หรือสิ่งประดิษฐ์ด้านนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับบริบทของชุมชน สถาบันการศึกษา และหน่วยงานในท้องถิ่น รวมถึงพัฒนาความรู้ด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมในการประกอบอาชีพและการพัฒนาเมืองในพื้นที่ นอกจากนี้ ยังเป็นพื้นที่เปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา ครูอาจารย์ ประชาชน และบุคลากรของภาครัฐและเอกชน ได้มีโอกาสเรียนรู้ นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และต่อยอดทางความคิด สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานต่างๆ ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองชุมชน และองค์กร เพื่อทำให้บ้านฉางเป็นเมืองที่น่าอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป”
ด้านนายจิรศักดิ์ ตะปะโจทย์ นายอำเภอบ้านฉาง กล่าวว่า ในอนาคตบ้านฉางจะมีความเปลี่ยนแปลงอย่างมากโดยเฉพาะความเจริญที่กำลังเข้ามาในพื้นที่ การพัฒนาคนจึงเป็นเรื่องสำคัญ จึงหวังว่า ศูนย์ฯ แห่งนี้จะเป็นที่ให้ผู้ที่ใฝ่รู้ใฝ่หาจะได้มาเรียนรู้แลกเปลี่ยนกันในเรื่องของนวัตกรรมและเป็นพื้นที่จุดประกายให้คนในพื้นที่ทั้งคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่าได้เรียนรู้และเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ
อาจารย์ไมเคิลปริพล กล่าวเสริมว่า “เพื่อให้ประชาชนเข้ามาใช้บริการศูนย์นวัตกรรมฯ ทาง มจธ.ได้จัดกิจกรรมคู่ขนาน อาทิ การจัดนิทรรศการแนะนำโครงการต่างๆ ของมหาวิทยาลัย โดยมีการนำเทคโนโลยีใหม่มาจัดแสดง เช่น Interactive Multimedia หรือการนำหุ่นยนต์ภาคสนามเข้ามาทำจัดกิจกรรม เพื่อให้ประชาชนคุ้นชินกับระบบกลไก และเรื่องการพัฒนาเมือง เช่น การนำหุ่นยนต์“น้องโอม”จากสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มาสอนเด็กนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งอนาคตเตรียมจัดหาผู้ที่มีความรู้มาฝึกให้เด็กๆได้เรียนรู้กลไกบังคับการเคลื่อนไหวต่อไป หรืออาจต่อยอดจัดเป็นชมรม หรือจัดประกวด เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เทคโนโลยีของเยาวชนในพื้นที่
นอกจากกิจกรรมที่จะสร้างความคุ้นชินในเรื่องของกลไกหุ่นยนต์แล้ว สิ่งที่คนในชุมชนต้องการองค์ความรู้ ก็คือเรื่องของการเกษตร ซึ่งบางทีชาวบ้านไม่รู้จะไปปรึกษาใครก็สามารถมาขอคำปรึกษาได้โดยผ่านศูนย์ฯ เช่น กรณีชาวบ้านที่ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ประสบปัญหาเรื่องแมลงหรือสภาพอากาศ ทำให้ผลผลิตไม่ได้ออกมาตามที่คาดคิด เขาจะแก้ปัญหาอย่างไร เราก็ต้องไปทำให้ชาวบ้านมีความรู้ ทำอะไรที่จับต้องได้
นอกจากนี้ทางมหาวิทยาลัยได้มีคณะต่างๆ อาทิ บัณฑิตวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมขนส่ง คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมการส่องสว่าง และศูนย์วิศวกรรมสารสนเทศภูมิศาสตร์และนวัตกรรม ได้ลงพื้นที่ในการเก็บข้อมูลทางด้านกายภาพของเทศบาลเมืองบ้านฉาง เพื่อนำมาจัดทำแผนพัฒนาเชิงกายภาพด้านการพัฒนาเทศบาลเมืองบ้านฉางให้เป็นเมืองน่าอยู่ โดยมหาวิทยาลัยฯ ได้มีการศึกษาพื้นที่เมืองบ้านฉาง พบว่า บ้านฉางเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของคนที่ทำงานในนิคมอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่โดยรอบเขตเทศบาลฯเบื้องต้น ได้กำหนดแนวทางพัฒนาสภาพแวดล้อมเมืองบ้านฉางให้สอดคล้องกับศักยภาพของสภาพแวดล้อมเดิมและดึงดูดกลุ่มคนในระบบนิเวศความรู้นวัตกรรม (Knowledge Exchange) เข้ามาอยู่อาศัยและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนในท้องถิ่นให้ดีขึ้น
อาจารย์ไมเคิลปริพล ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า “Concept การพัฒนาเมืองของเราที่มองบ้านฉางเป็น Innovative Learning & Living เป็นเมืองอยู่อาศัยและเรียนรู้ เพราะเห็นศักยภาพของบ้านฉางที่มีสภาวะแวดล้อมที่ค่อนข้างดี จึงมองเรื่องศักยภาพของการพัฒนาที่อยู่อาศัย เพื่อพัฒนาให้บ้านฉางเป็นที่อยู่อาศัยที่เหมาะสำหรับคนบ้านฉางและคนที่ทำงานในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งส่วนใหญ่มีที่พักที่บ้านฉาง แต่ด้วยพื้นที่บ้านฉางอยู่ใกล้สนามบินอู่ตะเภา ทำให้ที่ดินในชุมชนมีราคาแพงขึ้นหลายคนจึงมีความคิดจะขายตึกขายที่ดินแล้วย้ายออกไปอยู่ที่อื่น ทางมหาวิทยาลัยฯ จึงมีแนวคิดที่จะทำโครงการเปลี่ยนบ้านให้เป็นที่พักเพราะมองว่าในพื้นที่เทศบาลเมืองบ้านฉาง แม้ไม่ได้มีแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ แต่สามารถใช้เป็นจุดพักค้างแรมของนักท่องเที่ยวในราคาที่ไม่แพงได้ เพราะจุดเด่นของบ้านฉางที่เป็นเมืองสงบ และอาหารทะเลสด นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปในพื้นที่อื่นรอบๆ ได้สะดวก เช่น เกาะเสม็ด บ้านเพ ระยอง หรือ พัทยา”
สำหรับการจัดฝึกอบรมให้กับชาวบ้านที่สนใจเปลี่ยนบ้านเป็นที่พั?กนักท่องเที่ยวราคาไม่แพงนั้น ขั้นแรกเริ่มต้นจากการพาไปศึกษาดูงานการทำธุรกิจที่พักตามแหล่งต่างๆ ใกล้เคียง เพื่อใช้เป็นแนวทางเบื้องต้น ขั้นที่สองจัดโปรแกรมฝึกอบรมการทำธุรกิจที่พักจะต้องทำอย่างไร ลูกค้าเป็นใคร และทำการตลาดอย่างไร เพื่อให้ชาวบ้านที่สนใจได้มาเรียนรู้ ตั้งเป้าเริ่มต้นที่ 20 คน แต่สุดท้ายอาจเหลือคนที่อยากทำจริงๆ เพียง 1-2 คน ทางมหาวิทยาลัยฯ ก็พร้อมที่จะมาเทรนแบบเจาะลึกมากขึ้น เพื่อให้เขาสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปดำเนินธุรกิจให้ได้เป็นการนำร่องหรือต้นแบบให้กับคนอื่นๆ ถ้าเห็นแล้วอาจเกิดแรงกระเพื่อมมีคนอยากทำเพิ่มขึ้น ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นตอนที่สองแล้ว
นอกจากแผนการพัฒนาให้เกิดธุรกิจเปลี่ยนบ้านเป็นที่พักแล้ว ในส่วนของแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยในอนาคตให้เป็นเมืองน่าอยู่นั้น ในฐานะที่มหาวิทยาลัยฯ ได้รับแต่งตั้งเป็นหนึ่งในคณะทำงานพัฒนาย่านที่อยู่ตามแผนพัฒนาเมืองบ้านฉาง ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นที่ปรึกษาของเมือง ทาง มจธ.จะได้เข้าไปช่วยปรับผังพื้นที่ให้เหมาะสม ซึ่งทางเทศบาลเมืองบ้านฉางเองได้เริ่มดำเนินการไปบ้างแล้ว อาทิ การเอาสายไฟลงใต้ดิน การทำพื้นที่สีเขียว การทำพื้นที่ให้ผู้สูงอายุกับเด็กได้มาออกกำลังกายเหมือนเป็น civic space ของเมือง แต่การจัดทำพื้นที่ civic space นั้น ไม่ใช่จะสร้างที่ไหนก็ได้หรือมีที่ว่างที่ไหนก็ทำได้ เพราะต้องคิดถึงการเข้ามาใช้บริการด้วยว่าคนจะเข้ามาใช้อย่างไร เป็นต้น