การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดตัวยางพาราไทยพันธุ์ใหม่ เป็นลูกผสมระหว่าง RRII 203 และ PB 235 ลักษณะเด่น ปลูกง่าย โตไว ให้ผลผลิตน้ำยางสูง

ข่าวทั่วไป Friday September 25, 2020 17:21 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ก.ย.--การยางแห่งประเทศไทย ดร.กฤษดา สังข์สิงห์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง การยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า กยท. โดยสถาบันวิจัยยาง ได้คิดค้นและพัฒนาพันธุ์ยางพาราใหม่ตามกระบวนการขั้นตอนของการปรับปรุงพันธุ์อย่างต่อเนื่อง และประสบผลสำเร็จได้ยางพาราพันธุ์ RRIT 3904 เข้าสู่คำแนะนำพันธุ์ยาง พร้อมขยายส่งมอบสู่เกษตรกร โดยยางพันธุ์นี้ปลูกง่าย เจริญเติบโตดี รวมถึงให้ผลผลิตสูงเฉลี่ย 400 กิโลกรัม ต่อไร่ต่อปี ซึ่งสูงกว่าพันธุ์ยาง RRIM 600 ถึง 2 เท่าตัว โดยพันธุ์ RRIT 3904 นี้ ได้จากการผสมระหว่างพันธุ์ RRII 203 และ PB 235 นอกจากมีความโดดเด่นด้านผลผลิตน้ำยางแล้ว ยังเด่นด้านการเจริญเติบโต ลำต้นตรงแตกกิ่งน้อยทำให้ได้ปริมาณเนื้อไม้มากเมื่อตัดโค่น ใบเขียวเข้ม ค่อนข้างต้านทานต่อโรคทางใบ เช่น โรคราแป้ง โรคไฟทอปธอร่า เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีรายงานจากประเทศมาเลเซียว่ายางพันธุ์ PB 235 ซึ่งเป็นพ่อของยางพันธุ์นี้ได้รับผลกระทบจากโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา น้อยกว่าเมื่อเทียบกับยางพันธุ์อื่นๆ ซึ่ง อยู่ระหว่างสำรวจและติดตามผลกระทบของโรคใบร่วงชนิดใหม่ต่อยางพันธุ์นี้ด้วย และหวังว่าลักษณะเด่นด้านการต้านทานโรคใบร่วงชนิดใหม่จากพันธุ์พ่อ จะถ่ายทอดมาสู่ลูก ดร. กฤษดา กล่าวด้วยว่า ยางพันธุ์ RRIT 3904 ได้ผ่านการคัดเลือกพันธุ์เบื้องต้น เปรียบเทียบพันธุ์ขั้นต้น และเปรียบเทียบพันธุ์ขั้นปลายมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 แหล่งปลูก และมีการปลูกทดสอบสาธิตในหลายพื้นที่ รวมแล้วใช้เวลาไม่น้อยกว่า 20 ปี ตามขั้นตอนของการปรับปรุงพันธุ์ ข้อมูลผลการวิจัยอยู่ในเกณฑ์ดีทุกพื้นที่ ทีมวิจัยจึงมั่นใจในศักยภาพของยางพันธุ์นี้ ที่จะขยายผลสู่เกษตรกรเพื่อปลูกทดแทนยางพันธุ์เดิม ขณะนี้มีเกษตรกรชาวสวนยางให้ความสนใจและปลูกยางพันธุ์ RRIT 3904 แล้วกว่า 1,000 ไร่ “สำหรับเกษตรกรชาวสวนยางที่ต้องการกิ่งพันธุ์ RRIT 3904 เพื่อนำไปขยาย สามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์วิจัยยางสุราษฎร์ธานี เบอร์โทร 0-7738-1960-1 ศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา เบอร์โทร 0-3813-6225-6 ศูนย์วิจัยยางบุรีรัมย์ เบอร์โทร 0-4466-6079 ศูนย์วิจัยยางหนองคาย เบอร์โทร 0-4249-0924 ได้ในวันและเวลาราชการ หรือติดต่อต้นพันธุ์จากแปลงขยายพันธุ์ยางเพื่อการค้าที่ได้รับอนุญาต” ดร. กฤษดา กล่าวทิ้งท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ