เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2563 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ประกาศ พระราชบัญญัติยุบเลิกบรรษัท ตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย พ.ศ. 2563 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป โดยหลักการของพระราชบัญญัติดังกล่าวคือ ให้ยุบเลิกบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย(บตท.) และโอนกิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้สิน ทุน และภาระผูกพันของ บตท. ให้แก่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการธุรกรรมที่เหลืออยู่ของ บตท. ต่อไป และยังกำหนดให้ บตท. ยังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัติดังกล่าว หรือดำเนินการอื่นใดที่ค้างอยู่ให้แล้วเสร็จ แต่ไม่เกิน 270 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับ และพระราชบัญญัติฉบับนี้ยังมีสาระสำคัญส่วนอื่น อาทิ กำหนดให้พนักงาน บตท. ที่ประสงค์ไปปฏิบัติงานกับ ธอส. ต้องแสดงความจำนงเป็นหนังสือต่อผู้บังคับบัญชาภายใน 60 วัน นับแต่พระราชบัญญัตินี้บังคับใช้ และให้ ธอส. รับโอนพนักงาน บตท. ไปดำรงตำแหน่งที่เหมาะสมกับความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ของแต่ละคนต่อไป ส่วนพนักงาน บตท. ที่ไม่แสดงความจำนงไปปฏิบัติงานกับ ธอส. ให้ถือว่าเป็นการออกจากงานเพราะเลิกจ้างโดยไม่ใช่ความผิดของพนักงาน นั้น
นายกมลภพ วีระพละ รองกรรมการผู้จัดการ กลุ่มงานการเงินและบัญชี ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับการควบรวมกิจการของบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยเข้ากับธนาคารอาคารสงเคราะห์ กล่าวว่า การยุบเลิก บตท. และให้ ธอส. บริหารจัดการธุรกรรม ที่เหลืออยู่ของ บตท. ต่อไปตามพระราชบัญญัติดังกล่าวนั้น เกิดขึ้นตามนโยบายของกระทรวงการคลัง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้นำเสนอร่างพระราชบัญญัติยุบเลิกดังกล่าวแก่คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 และผ่านกระบวนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ก่อนที่จะประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2563 ซึ่งการดำเนินการในครั้งนี้ถือเป็นการเพิ่มศักยภาพในการดำเนินกิจการให้กับ ธอส. มากยิ่งขึ้น เพราะ ธอส. และ บตท. ต่างดำเนินธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลัก จึงเชื่อว่าจะสามารถนำจุดแข็งของทั้ง 2 หน่วยงานมาร่วมกันสนับสนุนพันธกิจของ ธอส. ?ทำให้คนไทยมีบ้าน? ด้วยการนำความเชี่ยวชาญของ บตท. ในด้านการออกตราสารทางการเงินที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยหนุนหลังมาออกเป็นหุ้นกู้ หรือ Mortgage-Backed Securities : MBS มาเป็นส่วนหนึ่งในการปรับให้อายุของหนี้สินและสินทรัพย์ (Maturity Mismatch) ให้มีความสัมพันธ์กันได้ยิ่งขึ้น นำไปสู่การปล่อยสินเชื่อในระยะยาวให้กับประชาชนสามารถสนับสนุนนโยบายของภาครัฐ เกิดประโยชน์กับเศรษฐกิจโดยรวมและประเทศชาติ ซึ่งที่ผ่านมา ธอส. ได้ประสานงานกับ บตท. อย่างใกล้ชิด เพื่อให้การดำเนินการในครั้งนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยให้ความสำคัญกับการดูแลผู้ปฏิบัติงานและลูกค้าของทั้ง 2 องค์กรอย่างเท่าเทียม และทั้ง 2 หน่วยงานจะร่วมกันดำเนินการทุกอย่างที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 270 วันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับต่อไป
?ด้วยความแข็งแกร่งของ ธอส. ในปัจจุบัน ซึ่ง ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563 ธนาคารมียอดสินเชื่อคงค้างรวม 1,256,305 ล้านบาท สินทรัพย์รวม 1,300,881 ล้านบาท และอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ยังอยู่ที่ระดับแข็งแกร่งโดย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563 อยู่ที่ 15.26% ซึ่งสูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำ ที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ทำให้เชื่อว่าการควบรวมกิจการกับ บตท. ในครั้งนี้ แม้อาจทำให้ธนาคารมีต้นทุนการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นด้วยจำนวนบุคลากรที่เพิ่มขึ้นจำนวนประมาณ 90 อัตรา และการตั้งสำรองจากกรณีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) ซึ่ง ณ ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 2,600 ล้านบาท จากพอร์ตสินเชื่อรวมกว่า 14,000 ล้านบาท แต่ในขณะเดียวกันกิจการหรือธุรกรรมต่าง ๆ ของ บตท. จะมีส่วนช่วยให้ ธอส. มีรายได้ จากการดำเนินธุรกิจ ฐานลูกค้า และสินทรัพย์รวมที่เพิ่มมากขึ้นได้เช่นกัน? นายกมลภพกล่าว
นายกรพล ชินพัฒน์ รักษาการผู้จัดการบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) กล่าวว่า บตท. ก่อตั้งขึ้นตามพระราชกำหนดบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย พ.ศ. 2540 ด้วยทุนประเดิมจากกระทรวงการคลัง 1,000 ล้านบาท ซึ่งในปี 2540 เป็นช่วงที่สถาบันการเงินส่วนใหญ่ประสบปัญหาการ ขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง บตท. จึงมีหน้าที่หลักในการเข้าไปช่วยสนับสนุนสภาพคล่องและลดภาระในการดำรงอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ด้วยการรับซื้อสินเชื่อที่อยู่อาศัยจากสถาบันการเงินเพื่อนำมาเข้าสู่กระบวนการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (Securitization) โดยการออก MBS ซึ่งเป็นการ ช่วยพัฒนาตลาดตราสารหนี้ และตลาดทุน รวมถึงเป็นการสนับสนุนการพัฒนาภาคอสังหาริมทรัพย์ ในทางอ้อม โดย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563 บตท. มีสินทรัพย์รวม 15,339 ล้านบาท อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ที่ 16% และมีตราสารหนี้โครงการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์คงค้างที่เป็น หุ้นกู้มีหลักประกันจำนวน 9,455.33 ล้านบาท โดยเชื่อว่าการที่ บตท. เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ ธอส. ในครั้งนี้ จะเกิดประโยชน์ต่อลูกค้า ประชาชน ภาคอสังหาริมทรัพย์ เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และจะไม่เกิดผลกระทบใด ๆ กับลูกค้าสินเชื่อบ้าน นักลงทุน และ คู่ค้า ของ บตท. เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวเป็นการ โอนกิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้สิน ทุน ภาระผูกพัน และบุคลากรของ บตท. ไปยัง ธอส.
สำหรับการติดต่อธุรกรรมกับ บตท. ยังสามารถติดต่อได้ผ่านช่องทางออนไลน์ที่ Line Official Account : @smc.or.th, Facebook : บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย SMC, เว็บไซต์ www.smc.or.th, อีเมล contactcenter@smc.or.th ส่วนลูกค้าของ ธอส. สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ (Call Center) โทร 0-2645-9000 หรือ Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และเว็บไซต์ www.ghbank.co.th