32 องค์กรภาคีเครือข่าย ผนึกกำลังประกาศเจตนารมณ์ปกป้องเด็กและเยาวชนจากภัยออนไลน์

ข่าวทั่วไป Tuesday September 29, 2020 16:40 —ThaiPR.net

รมว.ดีอีเอส หนุน 32 องค์กรภาคีเครือข่ายประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือเพื่อการปกป้องเด็กและเยาวชนจากภัยออนไลน์ หลังขับเคลื่อนครบปีจนได้แนวทางปฏิบัติเพื่อดำเนินงานอย่างเป็นระบบพร้อมขยายผล แนะเพิ่มควรดึงเยาวชนเข้าร่วมแก้ไขปัญหา ด้านนักวิชาการเผยสถานการณ์เด็กกับภัยออนไลน์ปี 63 พบเยาวชนไทยเข้าถึงเนื้อหาความรุนแรง การพนัน สื่อลามก สารเสพติด สูงสุด และใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่า 10 ชม.ต่อวัน 22% เล่นเกมออนไลน์เกิน 10 ชม.ต่อวันสูงถึง 30% ส่วนมากใช้ผ่านแท็บเล็ตและสมาร์ทโฟนเพื่อความบันเทิงมากถึง 61% โดย 89% เชื่อออนไลน์ไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยแต่สามารถแก้ไขเองได้

มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ร่วมกับ สมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (สสดย.) และเครือข่าย อาทิ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย กรมกิจการเด็กและเยาวชน สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดเวทีนโยบายสาธารณะ ชวน 32 องค์กรภาคี ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และเครือข่ายเด็กและเยาวชน ร่วม ?ประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือเพื่อการปกป้องเด็กและเยาวชนจากภัยออนไลน์? พร้อมวางแนวทางความร่วมมือในการปกป้องเด็กและเยาวชนจากภัยออนไลน์ ที่นำไปสู่การขยายผลในการป้องกันและลดผลกระทบจากภัยออนไลน์อย่างเป็นระบบ โดยได้รับเกียรติจาก นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวปาฐกถาพิเศษ ?สื่อโลกดิจิทัล กับโอกาสสร้างสรรค์เด็กและเยาวชนไทย? ร่วมด้วย นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นายไมตรี อินทุสุต ประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ น.ส.สราญภัทร อนุมัติราชกิจ รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ณ อาคารหอประชุม ชั้น 2 กสทช. เมื่อเร็วๆ นี้

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดีอีเอส กล่าวว่า ปัจจุบันภัยออนไลน์คุกคามเด็กและเยาวชนอย่างรุนแรงและกว้างขวาง กระทรวงดีอีเอสได้ออกแบบและสร้างกลไกการป้องกันภัยคุกคามทางออนไลน์ในทุกพื้นที่ รวมถึงเฝ้าระวังและระงับข้อมูลคอมพิวเตอร์และเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม มีการจัดตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ทั้งยังมีโครงการรณรงค์การหยุดกลั่นแกล้งออนไลน์ ฯลฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เด็กและเยาวชนในโลกดิจิทัล แต่ไม่สามารถทำสำเร็จได้ด้วยเพียงหน่วยงานเดียว แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคม ฉะนั้น การจัดเวทีนโยบายสาธารณะประกาศเจตนารมณ์ในครั้งนี้ ได้แสดงให้เห็นถึงพลังอันยิ่งใหญ่ของการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ที่จะช่วยกันผสานแนวคิดแนวทางและการทำกิจกรรมร่วมกัน เป็นเครือข่ายความร่วมมือที่มีพันธกิจในการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากภัยออนไลน์

?ทุกวันนี้เด็ก 80 เปอร์เซ็นต์ รู้ว่าระบบออนไลน์นั้นใช้ประโยชน์ได้ดี มีเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ ที่ใช้ไปในทางไม่ดี และเด็กไทยทุกคนสามารถคิดได้ด้วยตัวเอง เพียงแต่วันนี้เราปลูกฝังให้พวกเขาเป็นคนคิดหรือยัง และทางแก้ไขปัญหาภัยออนไลน์ในเด็กและเยาวชน ต้องให้เด็กมาร่วมคิดร่วมทำ เราห้ามเขาไม่ได้ เพราะยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ จึงต้องดึงให้เขามามีส่วนร่วมกับเรา ต้องเอาเพื่อนเขาๆ มาคิดมาเป็นเครือข่ายกับเรา? รมว.ดีอีเอส ให้แง่คิดเพิ่ม

ด้าน นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. ระบุว่า จากการทำงานร่วมมือขององศ์กรภาคีเครือข่ายพบว่า เด็กและเยาวชนยังขาดความรู้เท่าทันและมีความเสี่ยงสูงจากภัยสื่อออนไลน์ และประเด็นปัญหาสำคัญที่พบ เช่น การถูกกลั่นแกล้งทางออนไลน์ การถูกคุกคามทางออนไลน์ การติดต่อสื่อสารเรื่องเพศที่ไม่เหมาะสม การถูกแบล็คเมล์ทางเพศ และการถูกล่อลวงทางเพศ เป็นต้น ซึ่งทุกปัญหาล้วนส่งผลต่อพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนในระยะยาว และภัยโลกออนไลน์ยังหล่อหลอมทัศนคติของเด็กและเยาวชนไปในทางที่ถูกต้องหรือไม่ถูกต้องก็ได้ ถ้าเรามีจัดการให้เด็กและเยาวชนเดินสู่เส้นทางการใช้โลกออนไลน์ที่เหมาะสม เราก็จะได้อนาคตของชาติที่ดี และเป็นกำลังลังสำคัญของประเทศ

?ช่วง 1 ปี ที่ผ่านมา หลายภาคส่วนได้ดำเนินการปกป้องเด็กและเยาวชนจากภัยออนไลน์ ทั้งในการขับเคลื่อนงานผ่านยุทธศาสตร์ส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ พ.ศ. 2560 ? 2564 ผ่านการจัดทำแผนปฏิบัติการ การติดตามและประเมินผลตามตัวชี้วัด สิ่งสำคัญคือการมีพื้นที่ปฏิบัติงานจริง ทำให้เห็นภาพการทำงานที่เชื่อมโยงจากระดับนโยบายสู่พื้นที่การปฏิบัติงาน รวมทั้งมีการร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน สำหรับสิ่งที่ท้าทายการทำงานในอนาคต เห็นว่าจะต้องให้ความสำคัญต่อการสร้างความรู้ ความเท่าทันต่อสื่อออนไลน์ และพัฒนากลไกให้มีประสิทธิภาพ พร้อมกับเชื่อมโยงเครือข่ายให้เป็นระบบปกป้องและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากสื่อออนไลน์ได้อย่างแท้จริง รวมถึงการเสริมสร้างศักยภาพเด็ก เยาวชน และบุคคลแวดล้อม ให้ตระหนักถึงการใช้สื่อยุคใหม่อย่างสร้างสรรค์ เท่าทัน และชาญฉลาด? กรรมการ กสทช. กล่าว

เช่นเดียวกับ นายพงศ์ธร จันทรัศมี ผู้จัดการโครงการฯ มสช. กล่าวว่า ปัญหาสื่อออนไลน์ในช่วงหลัง มีผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนอย่างมาก โดยเฉพาะในมิติด้านสุขภาพ ซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศในระยะยาว ดังนั้น นอกจากการเสริมศักยภาพกลไกในพื้นที่เพื่อแก้ปัญหา ผ่านการสนับสนุนองค์ความรู้และงบประมาณแล้ว มสช.จึงร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดเวทีนโยบายสาธารณะในครั้งนี้ขึ้น เพื่อต้องการสร้างความตระหนักอย่างจริงจังให้เกิดขึ้นในสังคม พร้อมทั้งเชื่อมร้อยเครือข่ายพันธมิตร ให้ทุกฝ่ายทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยกันปกป้อง ป้องกัน การใช้สื่อออนไลน์ในเด็กและเยาวชนอย่างเป็นระบบ ด้วยการผลักดันให้เป็นวาระสำคัญของทุกองค์กร

ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะเอนก นายกสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (สสดย.) กล่าวว่า ปัจจุบันเด็กและเยาวชนจำนวนมากกำลังได้รับผลกระทบจากภัยออนไลน์ ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และสติปัญญา ส่งผลให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาอีกมาก ดังนั้น เวทีการประกาศเจตนารมณ์ครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญของการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนของไทยจากภัยออนไลน์ เป็นครั้งแรกที่องค์กรต่างๆ ในสังคมจะมาร่วมขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาให้ครบทุกมิติ

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการ สสส. และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า ระบบนิเวศสื่อนับเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาวะของคนในสังคม โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนไทยที่ปัจจุบันพบว่าใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในโลกออนไลน์ นับเป็นความท้าทายของ สสส. และภาคี

เครือข่าย ที่จะมาร่วมกันขับเคลื่อนประเด็นนี้อย่างเข้มแข็ง ผลักดันให้เกิดการทำงานอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้เด็กและเยาวชนตระหนักและรู้เท่าทันสื่อ กลายเป็นพลเมืองที่มีศักยภาพในการนำสื่อและเทคโนโลยีมาใช้อย่างสร้างสรรค์ อันนำไปสู่การสร้างสังคมสุขภาวะที่ดีและยั่งยืน

ขณะที่ นางวรินรำไพ ปุณย์ธนารีย์ รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ที่ระบุว่า องค์กรต่างๆ ในสังคมต้องเปิดโอกาสและส่งเสริมบทบาทของเด็กและเยาวชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาและสร้างสรรค์สื่อที่ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ตั้งแต่การวางแผน การดำเนินกิจกรรม การประเมินผล การเฝ้าระวัง และการติดตามสื่อ ซึ่งจะทำให้เด็กและเยาวชนเกิดการเรียนรู้ พัฒนาตัวเองและครอบครัวอย่างเท่าทัน ไม่ตกเป็นเหยื่อแห่งการถูกล่อลวงหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์จากภัยออนไลน์

นายธนวัฒน์ พรหมโชติ รองประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตัวเด็กและเยาวชนเองคือคนที่รู้ปัญหาที่ดีที่สุด ทั้งเจอปัญหา รู้สถานการณ์ และสามารถทบทวนแนวทางแก้ไขด้วยตัวเอง เพราะต้องหาหนทางเอาตัวรอดให้ได้ ซึ่งการจะเอาความคิดของเด็กมาช่วยแก้ไขปัญหา มาเป็นเครื่องมือให้กับหน่วยงานต่างๆ ต้องให้ความสำคัญกับเยาวชนเข้าร่วมคิดร่วมทำตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ ในลักษณะเด็กคิด เด็กทำ เด็กนำ ผู้ใหญ่หนุน เพื่อให้เยาวชนอยากเดินหน้าและส่งต่อสิ่งดีๆ กับเพื่อนเยาวชนและสังคมสืบไป ส่วนตัวเชื่อว่าเป็นไปได้แบบนี้จะทำให้การแก้ปัญหาภัยออนไลน์ในเด็กและเยาวชนมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ภายในงาน ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนา ได้เผยผลสำรวจสถานการณ์เด็กกับภัยออนไลน์ ประจำปี 2563 ซึ่งร่วมกับ ศูนย์ประสานงานส่งเสริมการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ (ศปอ.) หรือ โคแพท (COPAT) โดยได้รับความอนุเคราะห์จาก สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เก็บข้อมูลระหว่าง พ.ค.-ก.ค. 2563 พบว่า กลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นเด็กมัธยมศึกษา อายุ 12-18 ปี จำนวน 14,945 คน มีอิสระในการใช้สื่อออนไลน์ค่อนข้างมาก และเด็กร้อยละ 89 เชื่อว่าในโลกออนไลน์มีภัยอันตรายหรือความเสี่ยงต่างๆ ส่วนอีกร้อยละ 61 เชื่อว่าหากเผชิญภัยอันตรายดังกล่าวจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยตัวเอง ในประเด็นนี้ถือว่าน่าเป็นห่วง นอกจากนี้ผลสำรวจยังพบด้วยว่า เว็บไซต์หรือเนื้อหาที่ผิดกฎหมายเป็นอันตรายที่เด็กเข้าถึงมากที่สุด 4 อันดับแรกคือ ความรุนแรง ร้อยละ 49 การพนัน ร้อยละ 22 สื่อลามกอนาจาร ร้อยละ 20 และ สารเสพติด ร้อยละ 16

ส่วนพฤติกรรมเสี่ยงภัยออนไลน์ 6 อันดับแรกของเยาวชน คือ 1.ซื้อสินค้าจากร้านค้าออนไลน์ที่ไม่รู้จัก ร้อยละ 44 2.รับคนแปลกหน้าเป็นเพื่อน ร้อยละ 39 3.ใส่ข้อมูลตัวตนบนสื่อโซเชียลมีเดีย ร้อยละ 26 4.แชร์ข้อมูลโดยไม่ได้ตรวจสอบ และ 5.นำข้อมูลมาใช้โดยไม่รับอนุญาตหรืออ้างอิงแหล่งที่มา ร้อยละ 24 เท่ากัน และ 6. เข้าถึงสื่อลามก ร้อยละ 14 โดยในส่วนของสื่อลามก มีเด็กถึง 641 คน บันทึกและดาวน์โหลดสื่อลามกอนาจารเด็ก (ต่ำกว่า 18 ปี) มาไว้ในอุปกรณ์ไอทีหรือพื้นที่ส่วนตัวบนอินเทอร์เน็ต ขณะที่อีกร้อยละ 45 มีการส่งต่อหรือแบ่งปันสื่อลามกอนาจารเด็กที่ได้มากับเพื่อนและสังคมออนไลน์

ดร.ศรีดา กล่าวต่อถึงผลการสำรวจการเล่นเกมออนไลน์ของเยาวชน พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่ทำการสำรวจ มีเด็กมากถึง 11,384 คน ที่เล่นเกมออนไลน์ โดยเล่น 1-2 ชั่วโมงต่อวัน ร้อยละ 26 เล่น 3-10 ชั่วโมงต่อวัน ร้อยละ 30 เล่นมากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน มีร้อยละ 5 และแจ้งว่ามีการพนันในเกมที่เล่น ร้อยละ 10 ส่วนเติมเงินซื้อของในเกม มีร้อยละ 34 โดยในจำนวนนี้ราวร้อยละ 7 มีการเติมเงินเดือนละ 201-500 บาท ขณะที่ผลของการเล่นเกมออนไลน์ทำให้เยาวชนไทย สนใจทำ

กิจกรรมมอย่างอื่นน้อยลงมาก ร้อยละ 43 การเรียนแย่ลงมาก ร้อยละ 20 และ คววามสัมพันธ์กับคนในครอบครัวแย่ลงมาก ร้อยละ 13

?ปัจจุบันเยาวชนไทย ร้อยละ 26 ใช้อินเทอร์เน็ตวันละ 3-5 ชั่วโมง มีจำนวนพอๆ กับกลุ่มที่ใช้วันละ 6-8 ชั่วโมงต่อวัน และมีเยาวชน ร้อยละ 15 ใช้อินเทอร์เน็ตวันละ 8-10 ชั่วโมงต่อวัน ส่วนอีกร้อยละ 22 ใช้อินเทอร์เน็ตต่อวันมากกว่า 10 ชั่วโมง ซึ่ง ร้อยละ 81 ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านแท็บเล็ตหรือสมาร์ทโฟน และวัตถุประสงค์ที่เยาวชนใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุดคือเพื่อพักผ่อนหรือความบันเทิง ร้อยละ 61? ดร.ศรีดา ให้ข้อมูลเพิ่มและกล่าวว่า ผลการสำรวจทำให้เห็นว่า เด็กมีความเชื่อและพฤติกรรมออนไลน์ที่สุ่มเสี่ยง อาจนำภัยมาถึงตัวได้ ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรนำข้อมูลเหล่านี้ไปประกอบการกำหนดนโยบาย และวางแนวทางปฏิบัติ เพื่อให้เกิดมาตรการ เครื่องมือ กลไก ที่จะช่วยเหลือเด็กจากภัยออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน


แท็ก การพนัน  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ