สจด. เปิดตัว “คณะเทคโนโลยีดิจิทัล” รองรับตลาดอุตสาหกรรมดิจิทัลประเทศไทยในอนาคต

ข่าวทั่วไป Wednesday September 30, 2020 16:36 —ThaiPR.net

ในปัจจุบันเราคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าเทคโนโลยีดิจิทัลได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันไปจนถึงธุรกิจอุตสาหกรรมแขนงต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้เกิดขึ้นกับประเทศไทยเท่านั้นแต่การเปลี่ยนผ่านนี้ได้ส่งผลไปทั่วโลก

หลายประเทศได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในการสร้างนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้มนุษย์มากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับประเทศไทยที่กำหนดให้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่ต้องได้รับการพัฒนา สำหรับรองรับการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยในอนาคต โดยรากฐานเริ่มแรกในการสร้างกำลังคนและความเข้มแข็งทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลคือสถานศึกษาที่ต้องพัฒนาหลักสูตรให้ตรงต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ จากความสำคัญดังกล่าวทำให้สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดาจัดตั้งคณะเทคโนโลยีดิจิทัลในการผลิตกำลังคนด้านดิจิทัลโดยเฉพาะ

รศ.ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดากล่าวว่า องค์ความรู้ที่ประเทศไทยต้องการเป็นอันดับต้นๆ ในการพัฒนาประเทศคือองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีฐานชีวภาพ เทคโนโลยีฐานฟิสิกส์

และฐานดิจิทัล อันเป็นองค์ประกอบในการยกระดับศักยภาพของทุกภาคส่วนให้แข่งขันได้ เห็นได้จากการส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่แห่งอนาคต (New S-curve) โดยการจัดตั้งเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ประกอบด้วย 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next-generation Automotive) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี

และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Affluent, Medical and Wellness Tourism) การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ (Agriculture and Biotechnology) อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร (Food for the Future) อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม (Robotics) อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Biochemicals) อุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital) และอุตสาหกรรมการแพทย์

ครบวงจร (Medical Hub) จากรายงานการศึกษามีการประมาณการว่า จำนวนแรงงานทั้งประเทศเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 3.5 แสนคน ในขณะที่ความต้องการแรงงานจริงเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 4.2 แสนคน ระหว่างปี พ.ศ. 2562-2566 มีความต้องการกำลังคนระดับปริญญาตรี ของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะจำนวน 29,028 คน อุตสาหกรรมหุ่นยนต์จำนวน 14,277 คน อุตสาหกรรมดิจิทัลจำนวน 67,066 คน และอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคตจำนวน 9,155 คน ทำให้สถาบันต้องสร้างกำลังคนมาเพื่อรองรับกับความต้องการดังกล่าว

รศ.ดร.วรา วราวิทย์ คณบดีคณะเทคโนโลยีดิจิทัล กล่าวว่า คณะเทคโนโลยีดิจิทัล สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดาเปิดสอนในหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มีเป้าหมายเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับผู้เข้าศึกษาเพื่อประกอบวิชาชีพวิศวกรปฏิบัติการด้านคอมพิวเตอร์หลังจากสำเร็จการศึกษา โดยหลักสูตรมุ่งเน้นการเรียนการสอนทางด้านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronic Devices) ระบบสมองกลฝังตัว (Embedded Systems) อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things : IoT) ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence : AI) วิทยาการข้อมูล (Data Science) และระบบการคำนวณบนกลุ่มเมฆ (Cloud Computing) มีรูปแบบการจัดการศึกษา ที่สอดรับกับความต้องการที่เป็นเฉพาะ ได้แก่ คุณลักษณะของผู้เข้าศึกษาจากระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานและอาชีวศึกษา การจัดการเรียนการสอนแบบโมดูล การจัดการศึกษาบนฐานสมรรถนะ การจัดศึกษาร่วมระหว่างสถานศึกษา และผู้ประกอบการ และการจัดการศึกษาที่มีความยืดหยุ่นสามารถเปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้ามาศึกษาพัฒนาตนเองได้ ในลักษณะของการเรียนรู้ตลอดชีวิต ดำเนินการสอนโดยอาจารย์ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ มีจุดเด่นคือให้ผู้สำเร็จการศึกษามีความเข้าใจ แนวคิดของเทคโนโลยีดิจิทัลและระบบคอมพิวเตอร์เน้นกระบวนการ การกำหนดความต้องการ การออกแบบ การพัฒนา การวิเคราะห์ประสิทธิภาพ ดูแลบำรุงรักษาระบบคอมพิวเตอร์ และมีความตระหนักเรื่องความสำคัญของความปลอดภัยไซเบอร์ มีคุณธรรมและเข้าใจถึงจริยธรรมในวิชาชีพที่มีความรับผิดชอบต่องาน บุคคลอื่น และสังคม มีความรู้ด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ นักศึกษาที่จบการศึกษาแล้วสามารถประกอบอาชีพด้านเทคโนโลยีดิจิทัลได้หลากหลาย อาทิ วิศวกรคอมพิวเตอร์ นักพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ นักพัฒนาระบบสมองกลฝังตัว เจ้าหน้าที่ผู้บูรณาการระบบคอมพิวเตอร์เครือข่ายและข้อมูล เจ้าหน้าที่ดูแลระบบบริการข้อมูลขนาดใหญ่ เจ้าหน้าที่ดูแลระบบคอมพิวเตอร์และศูนย์ข้อมูล ผู้ช่วยนักวิจัย/นักวิชาการ ด้านคอมพิวเตอร์ บุคลากรทางการศึกษาด้านคอมพิวเตอร์ หรือผู้ประกอบการอิสระเป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ