ประเทศเนเธอแลนด์เป็นประเทศที่มีการเติบโตของตลาดเฟอร์นิเจอร์แบบ DIY (Do It Yourself) เติบโตต่อเนื่องแบบน่าสนใจแม้ตลาดจะอิ่มตัว เพราะชาวดัตช์นิยมปรับปรุงบ้านและตกแต่งบ้านด้วยตัวเองมากกว่าการใช้บริการมืออาชีพหรือสถาปนิก จากปัจจัยเรื่องราคาที่ถูกกว่าและรสนิยมที่แตกต่างกัน รวมทั้งอิสระในการเลือกซื้อที่ทำได้ง่าย ปัจจุบันจำนวนร้านค้า DIY ในประเทศเนเธอร์แลนด์มีจำนวนเกือบ 1,100 ร้าน โดยมีร้านค้า DIY รายใหญ่ ๆ ยอดนิยม ได้แก่ Gamma, Karwei, Praxis, Formido และ Hornbach เป็นต้น ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอแลนด์ พบว่าในเดือนมิถุนายน 2563 ยอดขายจากร้านค้าปลีกเพิ่มขึ้นเกือบ 10% เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายนปีที่ผ่านมา นับเป็นการเติบโตที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตั้งแต่ปี 2548 นอกจากนี้ข้อมูลจาก Statista ยังได้ตอกย้ำให้เห็นถึงแนวโน้มการเติบโตของตลาด DIY ในเนเธอร์แลนด์ว่าในปี 2563 รายได้ของร้านค้า DIY, Gift & Toys, Hobby, เฟอร์นิเจอร์ และของใช้ในบ้านในเนเธอร์แลนด์ คาดว่าจะมีมูลค่า 2.8 พันล้านยูโร ขณะที่กลุ่ม DIY ของแต่งสวนและสัตว์เลี้ยง คาดว่าจะทำรายได้ถึง 8.46 หมื่นล้านยูโร
นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ตลาด DIY สินค้าตกแต่งบ้านและสวนในเนเธอแลนด์มีแนวโน้มที่เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากราคาบ้านที่ถูกลง และการปล่อยกู้จากธนาคารเพิ่มขึ้น ทำให้ชาวดัตช์ในวัยเริ่มทำงานสามารถเป็นเจ้าของบ้านได้ง่ายขึ้น รวมถึงอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 2-4% ส่งผลให้ความต้องการในการตกแต่งบ้านเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ผู้บริโภคในเนเธอร์แลนด์มีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายไปกับการแต่งบ้านและสวนมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับประเทศรอบข้าง โดยเฉพาะยอดขายที่เติบโตขึ้นหลังเดือนมีนาคม อีกทั้งชาวดัตช์ยังนิยมการสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ด้วย
จากข้อมูลพบว่าปี 2563 สินค้าเฟอร์นิเจอร์และของใช้ในบ้าน สร้างรายได้จากตลาดออนไลน์ได้ถึง 13% และมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ โดยร้านค้าออนไลน์ที่ทำรายได้จากการขายเฟอร์นิเจอร์และของใช้ในบ้านมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ BOL, IKEA, Coolblue, Fonq และ Leenbakker ซึ่งสินค้าเฟอร์นิเจอร์ของไทย หากพัฒนาให้ตามทันเทรนด์ DIY จะมีศักยภาพในการส่งออกมาในตลาดนี้ได้มากขึ้น รวมถึงสินค้าที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ การสาน สิ่งทอ เครื่องใช้ในครัว และของแต่งสวน มักได้รับความนิยมในตลาด
ขณะเดียวกัน นายจิรชัย ตั้งกิจงามวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อุตสาหกรรม ดีสวัสดิ์ จำกัด ผู้ผลิตแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ไม้ ?ดีสวัสดิ์? (DEESAWAT) ซึ่งได้เข้าร่วมกิจกรรมจับคู่เจรจาการค้าสินค้าไลฟ์สไตล์และแฟชั่นผ่านช่องทางออนไลน์ (Style Bangkok Telematching in Lifestyle Online Virtual Exhibition : L.O.V.E.) ได้ให้มุมมองตลาดเฟอร์นิเจอร์ในช่วงนี้ว่า ตลาดเฟอร์นิเจอร์ได้รับผลกระทบทั่วโลกในช่วงวิกฤตการณ์โควิด-19 (COVID-19) เกิดการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมค่อนข้างมาก หลังจากนี้การทำตลาดจะไม่เหมือนเดิมอีกแล้วเพราะโควิด-19 สร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมมนุษย์แทบจะทุกด้าน แต่ในสถานการณ์วิกฤตก็จะมีกลุ่มที่ได้โอกาสและเสียโอกาส เมื่อช่วงต้นปีนั้นดีสวัสดิ์ยังไม่ได้รับผลกระทบเท่าไร เพราะเป็นออเดอร์ที่ถูกสั่งไว้ล่วงหน้าแล้ว และผู้ประกอบการบางรายยังมีออเดอร์เพิ่มเพราะจีนยังส่งสินค้าให้ไม่ได้แต่ก็เป็นออเดอร์ที่ต้องการด่วนใครจัดส่งสินค้าให้ได้ก็คว้าโอกาสตรงนี้ไป
?ออเดอร์ที่บริษัทฯ ได้รับในช่วงนี้จะเน้นการรีโนเวทเป็นส่วนใหญ่ โรงแรมต่าง ๆ ในไทยหลายแห่งทำการรีโนเวทสถานที่เพื่อต้อนรับลูกค้าให้ได้มากขึ้นโดยเฉพาะกับคนไทยด้วยกันเอง ผู้ประกอบการในตลาดเฟอร์นิเจอร์ควรเปลี่ยนความคิดเดิม ๆ และเข้าใจตลาดปัจจุบันให้มากที่สุด ใช้โอกาสนี้ในการพัฒนาตัวเอง เตรียมอาวุธและความพร้อม เพราะการค้ารูปแบบเดิมอาจจะใช้ไม่ได้ในอนาคต ช่องทางออนไลน์เข้ามามีบทบาทมากแม้แต่การเจรจาธุรกิจ ซึ่งทางกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ หรือ DITP ก็พยายามช่วยเหลือผู้ประกอบการในหลายด้าน ทั้งการให้ความรู้และสร้างโอกาสเพื่อให้ผู้ประกอบการพร้อมเข้าสู่การค้าในรูปแบบใหม่ ซึ่งการเข้าร่วมกิจกรรมจับคู่ธุรกิจออนไลน์อาจจะไม่ได้ผลในทันที แต่อย่างน้อยคือการสร้างคอนเนคชั่นที่เราสามารถต่อยอดได้ในอนาคต?
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้เตรียมการจัดงานแสดงสินค้า STYLE Bangkok 2021 ในวันที่ 10 - 14 มีนาคม 2564 เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการในกลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์และแฟชั่น ตลอดจนผู้ประกอบการในกลุ่ม Niche Market ได้แก่ สินค้าผู้สูงอายุ (60 +) สินค้าแม่และเด็ก (Mom & Kids) สินค้าสัตว์เลี้ยง (PET) ได้พบปะเจรจาการค้ากับผู้ซื้อ / ผู้นำเข้าทั้งจากต่างประเทศและในประเทศ ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โทร. 02 507 8363 และ 8364