สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ออกมาตรการเร่งอัดฉีดสภาพคล่อง SMEs ด้วยโครงการ F.T.I. Faster PAYMENT : ส.อ.ท. ช่วยเศรษฐกิจไทย นำร่องจากคณะกรรมการบริหาร ส.อ.ท. วาระปี 2563-2565 ซึ่งเป็นผู้บริหารทั้งบริษัทขนาดกลางและขนาดใหญ่กว่า 100 บริษัท ที่ยินดีเข้าร่วมโครงการฯ โดยบริษัทดังกล่าวได้ร่วมสนับสนุนมาตรการการชำระหนี้ให้แก่คู่ค้าภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้ตรวจรับสินค้าหรือบริการครบถ้วนและได้รับเอกสารเรียบร้อยแล้ว เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ไปจนถึง วันที่ 31 ธันวาคม 2563 ถือเป็นหนึ่งในกลไกการแก้ไขและบรรเทาปัญหาสภาพคล่องให้แก่ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs ช่วยลดความเหลื่อมล้ำอำนาจ การต่อรองระหว่าง SMEs และบริษัทขนาดใหญ่
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยว่า จากสถานการณ์ COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของทุกภาคส่วน หลายธุรกิจประสบปัญหายอดขายลดลงและขาดสภาพคล่องทางการเงิน เนื่องจากมีระยะเวลาในการรับชำระเงินจากการขายสินค้าช้ากว่าปกติ โดยภาครัฐกำลังพยายามผลักดันและกำหนดให้มีเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้า (ระยะเวลา credit term) ส.อ.ท. ในฐานะองค์กรภาคเอกชนจึงเชิญบริษัทเอกชนรายใหญ่ที่เป็นสมาชิกเข้าร่วมโครงการ F.T.I. Faster PAYMENT : ส.อ.ท.ช่วยเศรษฐกิจไทย โดยขอความร่วมมือให้ชำระหนี้ค่าสินค้าหรือบริการให้แก่คู่ค้าของบริษัทโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้ตรวจรับสินค้าหรือบริการครบถ้วนและได้รับเอกสารเรียบร้อยแล้ว เป็นระยะเวลา 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563
โครงการนี้เกิดจากความร่วมแรงร่วมใจของบริษัทเอกชนที่เป็นสมาชิกของ ส.อ.ท. โดยนำร่องจากคณะกรรมการบริหาร ส.อ.ท. วาระปี 2563-2565 ซึ่งเป็นผู้บริหารมีทั้งบริษัทขนาดกลางและขนาดใหญ่กว่า 50 บริษัท อาทิ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน), บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน), บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน), บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน), บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), บริษัท บางจากคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน),บริษัท เอฟเอ็น แฟคตอรี่ เอ๊าท์เลท จำกัด, บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท บางกอกคริสตัล จำกัด, บริษัท แปซิฟิคแปรรูปสัตว์น้ำ จำกัด, บริษัท ซินเน็ค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), บริษัท ทีบีเอสพี จำกัด (มหาชน), บริษัท ที.เค.เอส เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยซัมมิท ฮาร์เนส จำกัด (มหาชน), บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน), บริษัท อีโนเว รับเบอร์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), บริษัท ทีอาร์ซี คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท ปัญจวัฒนา พลาสติก จำกัด (มหาชน), บริษัท สายไฟฟ้าบางกอกเคเบิ้ล จำกัด, บริษัท ควอลิตี้ แมชชีนทูล จำกัด, บริษัท ทักษิณปาล์ม (2521) จำกัด, บริษัท ศรีเชียงใหม่อุตสาหกรรม จำกัด, บริษัท โอเชี่ยน เค.เฟอร์นิเทรด จำกัด, บริษัท เอส.พี.เอส.อินเตอร์เทค จำกัด, บริษัท เซ็นเตอร์ คอนเทนเนอร์ จำกัด, บริษัท บีสไพพ์ฟิตติ้งอินดัสตรี จำกัด,และบริษัท ศรีไทยโอโตซีทส์ อินดัสตรี จำกัด เป็นต้น ซึ่งเล็งเห็นถึงสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันและพร้อมยินดีที่จะให้ความช่วยเหลือดังกล่าว
นายวิเชาวน์ รักพงษ์ไพโรจน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานคณะผู้บริหารด้านองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์ COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อหลายธุรกิจของ SMEs ทำให้ขาดสภาพคล่องทางการเงินนั้น เครือซีพี ได้รับทราบและตระหนักถึงผลกระทบดังกล่าว โดยได้ให้ความสำคัญ พร้อมให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการกลุ่มนี้ โดยมีการดำเนินการของแต่ละบริษัทในเครือซีพี ดังเช่น ซีพี เอฟ, ซีพี ออลล์, สยามแม็คโคร, บมจ. ทรูฯ อีกทั้ง เครือซีพียังพร้อมส่งเสริมและสนับสนุนโครงการ F.T.I. Faster PAYMENT : ส.อ.ท.ช่วยเศรษฐกิจไทย ให้ประสบผลสำเร็จ เพราะเชื่อมั่นว่าจะนำไปสู่การแก้ไขและบรรเทาปัญหาสภาพคล่องให้แก่ภาคธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs ต่อไป
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ?จะใหญ่จะเล็ก เราช่วยกัน เพื่อฝ่าฝัน COVID-19 และสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจไทย?
นิยามใหม่ของ SME
ราชกิจจานุเบกษา ได้ประกาศกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ. 2562 เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2563 ดังนี้
วิสาหกิจรายย่อย (Micro) คือ กลุ่มที่มีรายได้ ต่อปีไม่เกิน 1.8 ล้านบาท มีการจ้างงานไม่เกิน 5 คน (หมายเหตุ: วิสาหกิจรายย่อยเป็นส่วนหนึ่งของวิสาหกิจขนาดย่อม)
วิสาหกิจขนาดย่อม (Small) คือ กิจการในภาคการผลิตสินค้าที่มีจำนวนการจ้างงานไม่เกิน 50 คน หรือมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 100 ล้านบาท ส่วนกิจการในภาคการค้า (ค้าส่งหรือค้าปลีก) และภาคบริการ มีจำนวนการจ้างงานไม่เกิน 30 คน หรือมีรายได้ต่อปี ไม่เกิน 50 ล้านบาท
วิสาหกิจขนาดกลาง (Medium) คือ กิจการในภาคการผลิตสินค้าที่มีจำนวนการจ้างงานเกิน 50-200 คน หรือมีรายได้ต่อปีเกินกว่า 100?500 ล้านบาท ส่วนกิจการในภาคการค้า (ค้าส่งหรือค้าปลีก) และภาคบริการ มีจำนวนการจ้างงานเกิน 30?100 คน หรือมีรายได้ต่อปีเกิน 50?300 ล้านบาท