WHA Group สุดแกร่ง ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรที่ระดับ “A-” โชว์พลังฝ่าวิกฤตโควิด ตอกย้ำศักยภาพธุรกิจและโครงสร้างการเงินมั่นคง

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday October 5, 2020 17:22 —ThaiPR.net

บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น หรือ WHA Group ปลื้ม ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรที่ระดับ ?A-? ท่ามกลางสถานการณ์โควิด สะท้อนความแข็งแกร่งของบริษัทฯ ด้วยประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในฐานะผู้นำด้านการให้บริการโลจิสติกส์และนิคมอุตสาหกรรมแบบครบวงจรของไทย ตลอดจนโครงสร้างรายได้ที่มั่นคงจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้เช่า รายได้ค่าบริการสาธารณูปโภค เงินปันผลจากธุรกิจโรงไฟฟ้า และกำไรจากการขายสินทรัพย์เข้ากองทรัสต์ตามนโยบายการลงทุนของบริษัททุกปี

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ความท้าทาย เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกและขยายตัวเป็นวงกว้างในช่วงที่ผ่านมาซึ่งธุรกิจทั้ง 4 ของ ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ปได้รับผลกระทบที่แตกต่างกันโดยธุรกิจโลจิสติกส์ได้รับอานิสงส์ทางบวกจากการเติบโตของธุรกิจ E-Commerce ในขณะที่ธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบระยะสั้นเนื่องจากการปิดประเทศที่ส่งผลทำให้นักลงทุนต่างชาติไม่สามารถเดินทางเข้ามาทำธุรกรรมได้ แต่ทั้งนี้ธุรกิจที่ดินและการขายอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทฯ ก็ไม่ได้มีเพียงรายได้จากการขายและโอนที่ดินเพียงอย่างเดียวโดยยังมีรายได้จากการให้บริการประเภทอื่นๆ ที่จะทยอยรับรู้ในปีนี้อีกเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดทาง ทริสเรทติ้งได้มีการคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?A-? ที่สะท้อนถึงความแข็งแกร่งของธุรกิจพัฒนาและบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ (Logistics) และธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม (Industrial Estate) ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจหลักของบริษัทที่เติบโตอย่างต่อเนื่องจากการเป็นผู้นำในธุรกิจพัฒนาคลังสินค้าคุณภาพสูงเพื่อให้บริการแก่บริษัทข้ามชาติที่มีชื่อเสียงตลอดจนบริษัทขนาดใหญ่ในประเทศ โดยบริษัทฯ มีพื้นที่ให้เช่ารวมมากกว่า 2.4 ล้านตารางเมตร ภายใต้การเป็นเจ้าของและบริหารจัดการและเป็นผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทย และเวียดนามรวมกว่าอีก 12 แห่ง

ปัจจุบัน ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป มีฐานลูกค้ารวมกันมากกว่า 900 บริษัท และทำให้บริษัทเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศทั้งด้านการดึงดูดเงินลงทุนทางตรงของนักลงทุนต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) การลดต้นทุนโลจิสติกส์จากผู้ผลิตไปสู่ผู้บริโภค รวมถึงการสนับสนุนการพัฒนาประเทศที่มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว

?จากประสบการณ์ที่ยาวนานทำให้บริษัทฯ มีรายได้ประจำจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้เช่า รายได้จากการให้บริการสาธารณูปโภค และเงินปันผลจากธุรกิจโรงไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าในปีนี้จะมีสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจแต่ความต้องการคลังสินค้าและศูนย์กระจายสินค้าคุณภาพสูงก็ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของธุรกิจ E-Commerce โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ส่งผลทำให้แนวโน้มความต้องการ และพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคเปลี่ยนช่องทางเป็น Online Shopping มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ? นางสาวจรีพรกล่าว

สำหรับธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมที่แม้ว่าจะได้รับผลกระทบในระยะสั้นจากการที่นักลงทุนต่างชาติไม่สามารถเดินทางเข้ามาในประเทศได้แต่ความต้องการยังมีอยู่มากเนื่องจากการเคลื่อนย้ายฐานทุนจากประเทศจีนตามยุทธศาสตร์ China Plus One เพื่อกระจายความเสี่ยงที่เป็นผลจากสงครามการค้าสหรัฐฯ กับจีน และการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน โดยบริษัทก็ยังคงได้รับการติดต่อจากกลุ่มนักลงทุนชาวจีน ไต้หวันและญี่ปุ่นที่แสดงความสนใจเข้ามาลงทุนอย่างสม่ำเสมอ

ส่วนธุรกิจสาธารณูปโภคและพลังงานได้รับอานิสงส์จากสถานการณ์ภัยแล้งและ COVID-19 ที่เริ่มคลี่คลายเช่นกัน โดยธุรกิจโซล่าร์รูฟท็อบมีแผนเริ่มเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้นราว 15 ? 20 เมกะวัตต์ในช่วงครึ่งปีหลังและส่งผลให้สิ้นปี 2563 บริษัทฯ จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้นรวมกว่า 590 เมกะวัตต์ ในขณะที่ลูกค้ารายใหญ่ของธุรกิจสาธารณูปโภคก็เริ่มกลับมาดำเนินการผลิตตามปกติ รวมถึงลูกค้าใหม่ก็มีการเดินเครื่องจักรทำให้ความต้องการใช้น้ำโดยรวมกลับมาอยู่ในระดับปกติ ซึ่งการปรับอัตราค่าบริการและสัดส่วนรายได้จากผลิตภัณฑ์สาธารณูปโภค การใช้นวัตกรรมสมัยใหม่สร้างมูลค่าเพิ่ม รวมถึงการได้รับผลตอบแทนจากเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอจากการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าก็สร้างความสมดุลของโครงสร้างรายได้ระหว่างรายได้ประจำ (Recurring) และรายได้แบบครั้งเดียว (Non-Recurring) ที่ทำให้บริษัทฯ มีความยืดหยุ่นและสามารถเผชิญวิกฤตรวมถึงสถานการณ์ความไม่แน่นอนต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

ขณะเดียวกันในช่วงไตรมาส 4 /2563 บริษัทฯ จะมีการขายทรัพย์สินเข้ากอง WHART มูลค่าไม่เกิน 3,234 ล้านบาท และ HREIT มูลค่าไม่เกิน 1,357 ล้านบาท โดยรวมเป็นมูลค่าการขายทรัพย์สินทั้งสิ้นไม่เกิน 4,591 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันร่างหนังสือชี้ชวนได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แล้วโดยบริษัทคาดว่าจะสามารถโอนทรัพย์สินเข้ากองทรัสต์ในเดือนธันวาคม 2563 ซึ่งเป็นตัวการันตีการบริหารจัดการด้านผลการดำเนินงานของบริษัทได้เป็นอย่างดี

อีกทั้งในปี 2564 บริษัทได้จัดเตรียมกระแสเงินสดจากการดำเนินงานและวงเงินกู้ยืมที่ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการเงินเพื่อรองรับการชำระคืนหุ้นกู้ ตลอดจนการดำเนินงานและการลงทุนในอนาคตของบริษัทไว้เรียบร้อยแล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ