สศก. แทคทีม กรมปศุสัตว์ เร่งติดตามโครงการพัฒนาศักยภาพโคเนื้อรองรับ FTA หลังประเดิมโครงการปีแรก

ข่าวทั่วไป Tuesday October 6, 2020 16:42 —ThaiPR.net

นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึง การดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพการผลิตและการตลาดโคเนื้อรองรับ FTA ซึ่งกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (กองทุน FTA) ได้สนับสนุนงบประมาณจำนวน 161.79 ล้านบาท เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 มีระยะเวลาการดำเนินโครงการ 8 ปี จนถึงปี 2571 เพื่อรองรับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าไทย - ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ที่จะสิ้นสุดมาตรการ SSG ภายใต้ความตกลง TAFTA ในวันที่ 1 มกราคม 2564 ซึ่งโครงการนี้สามารถให้การช่วยเหลือเกษตรกรที่เลี้ยงโคเนื้อ ได้มากกว่า 1,000 ราย ใน 26 จังหวัด โดยเป็นสมาชิกของ 4 กลุ่มเครือข่ายได้แก่ 1.กลุ่มเครือข่ายโคเนื้อล้านนาเชียงราย (เชียงราย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำปาง น่าน แพร่ พะเยา ลำพูน) 2.กลุ่มเครือข่ายโคเนื้อนครสวรรค์ (นครสวรรค์ ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี เพชรบูรณ์ พิจิตร พิษณุโลก อุตรดิตถ์) 3.กลุ่มเครือข่ายโคเนื้อตาก (ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร อุทัยธานี) และ 4.กลุ่มเครือข่ายโคเนื้อราชบุรี (สุพรรณบุรี กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์)

สศก. ได้ร่วมกับกรมปศุสัตว์ ติดตามการดำเนินงานกับผู้ที่เกี่ยวข้องของโครงการฯ ได้แก่ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดบริษัท พรีเมี่ยมบีฟ จำกัด และประธานพร้อมด้วยกรรมการวิสาหกิจชุมชนฯ ทั้ง 4 กลุ่ม ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ตาก นครสวรรค์ สุพรรณบุรี และราชบุรี พบว่า การดำเนินโครงการตลอด 7 เดือนที่ผ่านมา บริษัทพรีเมี่ยมบีฟ จำกัด ได้มีการรับซื้อโคจากสมาชิกเครือข่ายเนื้อไทยเข้าคอกขุน จำนวน 635 ตัว คิดเป็นมูลค่า 37,044,631.16 บาท และโคขุนเพื่อแปรสภาพ ณ โรงงาน ของบริษัทฯ จำนวน 1,114 ตัว คิดเป็นมูลค่า 80,191,976.28 บาท ซึ่งจากการสนับสนุนของโครงการในการปรับปรุงฟาร์มโค พร้อมโรงเรือนและอุปกรณ์ ปรับปรุงระบบไฟฟ้า สร้างการผลิตห้องเย็น และอาคารจอดรถ ทำให้บริษัท พรีเมี่ยมบีฟ จำกัด ได้รับมาตรฐานฟาร์ม ในด้านต่างๆ ได้แก่ การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (GFM) ฟาร์มปลอดโรคปากและเท้าเปื่อย (FMD) คอกกักมาตรฐานเอกชนสำหรับการนำเข้า การส่งออก และปลอดโรค FMD นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุง จัดหาครุภัณฑ์ อุปกรณ์จากโครงการฯ ส่งผลให้มีผลิตภัณฑ์จำหน่ายได้มากกว่า 30 ผลิตภัณฑ์ เช่น สันนอกสเต็กแช่แข็ง ลิ้นแองกัสสไลด์แช่แข็ง เนื้อหมักกระเทียมพริกไทยเสียบไม้ โดยจำหน่ายให้กับผู้ประกอบการรายใหญ่ และส่งไปจำหน่ายยังสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่าอีกด้วย

รองเลขาธิการ กล่าวต่อไปว่า ล่าสุดเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา สศก. และกรมปศุสัตว์ ได้ลงพื้นที่วิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยง โคเนื้อคุณภาพตากฟ้า อ.ตากฟ้า จ.นครสวรรค์ ฟาร์มเลี้ยงโคขุน อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท และโรงแปรสภาพโค อ.หนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรี ของบริษัท พรีเมี่ยม บีฟ จำกัด เพื่อติดตามความคืบหน้า ซึ่งพบว่า กรมปศุสัตว์ได้มีการลงพื้นที่ให้คำแนะนำ เป็นพี่เลี้ยงแก่เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง โดยโคขุนของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนตากฟ้า จำนวน 30 ตัว จะถูกส่งไปเลี้ยงที่ฟาร์มโคขุนของบริษัท พรีเมี่ยม บีฟ จำกัด ซึ่งเป็นฟาร์มที่ได้รับรองมาตรฐานฟาร์มปลอดโรคปากและเท้าเปื่อย นอกจากนี้ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนตากฟ้า จะส่งสัตวบาลและกรรมการไปดูแลโคของตัวเอง จนได้น้ำหนักและช่วงอายุตามเกณฑ์มาตรฐาน จึงจำหน่ายโคขุนให้กับบริษัท พรีเมี่ยม บีฟ จำกัด ซึ่งประกันราคารับซื้อไว้ที่กิโลกรัมละ 110 บาท

ด้านการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เนื้อโคขุน กระทรวงเกษตรฯ ได้ผลักดันช่องทางการตลาดอย่างหลากหลายตามนโยบายรณรงค์บริโภคสินค้าเกษตรไทยที่มีคุณภาพ (Eat Thai First) โดยร่วมกับเครือข่ายและภาคส่วนต่างๆ สำหรับบริษัท พรีเมี่ยม บีฟ จำกัด มีการรับซื้อโคขุนจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อแปรสภาพโคเป็นผลิตภัณฑ์เนื้อโคขุน เกรดพรีเมียม และผลิตภัณฑ์เนื้อโคขุนต่างๆ จำหน่ายไปยังห้างแมคโคร โลตัส รวมถึงมีการส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อโคขุนไปจำหน่ายในประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ กัมพูชา และเมียนมา นอกจากนี้ ในช่วงปัจจุบันที่สังคมการปรับเปลี่ยนไปสู่ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ผลิตภัณฑ์เนื้อโคขุนของบริษัทฯ ยิ่งมียอดขายในช่องทางตลาดออนไลน์เพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดอีกด้วย

ทั้งนี้ กองทุน FTA ยินดีให้คำแนะนำปรึกษาแก่กลุ่มเกษตรกร หรือกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่มีข้อเสนอโครงการต่างๆ เพื่อร่วมกันพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับสินค้าเกษตรไทย ซึ่งกองทุนจะพิจารณาโครงการด้วยความรวดเร็วและสมเหตุสมผล หากโครงการที่เสนอมีหลักการ เหตุผล วิธีการดำเนินการ และความเป็นไปได้ในการที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยกองทุนพร้อมให้คำปรึกษาปรับปรุงโครงการ จนได้รับการอนุมัติ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 0 2561 4727 หรือ อีเมล fta.oae@gmail.com


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ