กรมทางหลวง - กรมทางหลวงชนบท - เอสซีจี - กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย - มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมมือศึกษาและพัฒนาการนำพลาสติกเหลือใช้ เพื่อนำมาเป็นส่วนผสมในแอสฟัลต์คอนกรีตสำหรับงานก่อสร้างทาง ซึ่งช่วยเพิ่มความแข็งแรง และยืดอายุการใช้งานของถนน หวังสร้างมาตรฐานใหม่ให้การทำถนนของประเทศ ตอบโจทย์การส่งเสริมการบริหารจัดการขยะอย่างถูกวิธี และการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) สอดคล้องตามนโยบาย BCG Economy (Bio - Circular - Green Economy) ของรัฐบาล
โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือด้านวิชาการ ทรัพยากร และการบริหารจัดการที่ภาคเอกชน โดยเอสซีจี และกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย จะนำประสบการณ์และองค์ความรู้จากการวิจัยและพัฒนาการทำถนนพลาสติกรีไซเคิลที่ได้ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งผ่านกระบวนการทดสอบตามมาตรฐานในห้องปฏิบัติการ และใช้งานจริงในพื้นที่ของภาคเอกชนต่าง ๆ เช่น นิคมอุตสาหกรรมอาร์ ไอ แอล จ.ระยอง และนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี เป็นต้น มาใช้ศึกษาและพัฒนาโครงการนี้ โดยมีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เข้าร่วมศึกษางานวิชาการ รวมถึงผลกระทบเชิงสิ่งแวดล้อม ตลอดจนกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท ได้เข้ามาร่วมศึกษาและสนับสนุนการจัดทำมาตรฐานการนำพลาสติกเหลือใช้มาเป็นส่วนผสมในแอสฟัลต์คอนกรีต ซึ่งหากโครงการฯ สำเร็จ จะสามารถขยายผลไปสู่การทำถนนในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศไทยได้จริง ช่วยส่งเสริมการบริหารจัดการขยะ โดยเฉพาะพลาสติกได้อย่างยั่งยืนตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ ถนนจากพลาสติกรีไซเคิลความยาว 1 กิโลเมตร ที่มีหน้ากว้างถนน 6 เมตร จะสามารถนำขยะพลาสติกไปใช้ประโยชน์ได้ถึงประมาณ 3 ตัน หรือเท่ากับถุงพลาสติกเกือบ 900,000 ใบ ปัจจุบันเอสซีจีและกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ได้ร่วมกับภาคเอกชนทำถนนแอสฟัลต์คอนกรีตต้นแบบที่มีพลาสติกเหลือใช้เป็นส่วนผสม รวมความยาวถนน 7.7 กิโลเมตร สามารถนำพลาสติกเหลือใช้หมุนเวียนกลับมาสร้างคุณค่าได้รวม 23 ตัน
นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า ?กรมทางหลวงเป็นหน่วยงานที่ก่อสร้าง และบำรุงรักษาทางหลวงทั่วประเทศกว่า 70,000 กิโลเมตร ต่อ 2 ช่องจราจร ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ และหนึ่งในประเด็นยุทธศาสตร์ของกรมทางหลวง คือ การพัฒนาและส่งเสริมการวิจัยพัฒนา การสร้างนวัตกรรม การใช้เทคโนโลยี การสร้างระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และการผสานเทคโนโลยีดิจิทัลด้านการพัฒนาระบบทางหลวง
กรมทางหลวงมีองค์ความรู้ทั้งด้านงานวิจัย งานวิเคราะห์และตรวจสอบ และมีมาตรฐานต่าง ๆ ด้านงานทางมามากกว่า 108 ปี การที่กรมทางหลวงได้ร่วมมือกับกรมทางหลวงชนบท เอสซีจี กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการร่วมกันวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างมาตรฐานทางใหม่ ๆ โดยนำพลาสติกเหลือใช้มาเป็นส่วนผสมแอสฟัลต์คอนกรีต เพื่อตอบโจทย์การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ อีกครั้งหนึ่งในอนาคต ที่จะนำพลาสติกเหลือใช้ดังกล่าวมาใช้ในงานก่อสร้าง และบำรุงรักษาเส้นทางของกรมทางหลวง ซึ่งจะเกิดประโยชน์ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวิศวกรรม ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายในการร่วมกันพัฒนาประเทศชาติ เพื่อสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี?
นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท เปิดเผยว่า ?การบันทึกความร่วมมือในครั้งนี้ จะช่วยให้การศึกษาพัฒนาการใช้ประโยชน์จากพลาสติกเหลือใช้ (ขยะพลาสติก) บรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้เกิดเป็นนวัตกรรมที่จะสร้างมาตรฐานในการก่อสร้างและบำรุงรักษาถนน ในอนาคต ที่สามารถลดปริมาณการใช้แอสฟัลต์ และสามารถนำขยะพลาสติกนำกลับมาใช้ใหม่ (รีไซเคิล) ในโครงการก่อสร้างถนนได้ เป็นการสร้างคุณค่าให้กับขยะพลาสติกประเภทบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วที่ไม่มีราคาได้อย่างคุ้มค่า ช่วยลดขยะพลาสติกตกค้าง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เกิดประโยชน์สูงสุดในการใช้ทรัพยากร ตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ทั้งยังช่วยเสริมสร้างวิสาหกิจชุมชนในการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี ซึ่งสอดคล้องตามนโยบายของรัฐบาลในเรื่อง BCG (Bio ? Circular - Green Economy) ที่เป็นการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนต่อไป?
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า ?เอสซีจีมุ่งนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน มาประยุกต์ใช้ทั้งในองค์กรและสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนมากว่า 2 ปี ด้วยเห็นถึงความสำคัญของการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าสูงสุด เพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่โลกกำลังเผชิญ โดยเฉพาะปัญหาขยะพลาสติกที่ยังขาดการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ หนึ่งในนั้นคือการร่วมกับกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย เพื่อทำต้นแบบถนนที่มีส่วนผสมของพลาสติกที่เหมาะสมต่อการใช้งานถนนในประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสังคมให้ดีขึ้นได้อีกด้วย
เอสซีจี จึงยินดีอย่างยิ่งที่กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท เห็นถึงประโยชน์ในการนำประสบการณ์และองค์ความรู้จากการทำถนนจากพลาสติกรีไซเคิลของเอสซีจี และกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย มาต่อยอดพัฒนาโครงการนี้ร่วมกันกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเอสซีจีจะให้คำปรึกษาด้านเทคนิคเกี่ยวกับการจัดหาเศษพลาสติกเหลือใช้ อาทิ ชนิดและคุณภาพ รวมทั้งวิธีการแปรรูป อาทิ การล้าง บดย่อย และบรรจุ เพื่อให้พร้อมต่อการใช้งาน และยังจะเดินหน้ารณรงค์ส่งเสริมให้เกิดการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี เพื่อให้สามารถนำขยะพลาสติกจากองค์กรและชุมชนมาใช้ประโยชน์ในโครงนี้ได้ โดยมุ่งหวังว่าจะสามารถผลักดันโครงการดังกล่าวไปสู่การเป็นมาตรฐานการทำถนนของภาครัฐ เพื่อใช้งานจริงในพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศได้ต่อไป?
นายฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่า ?กลุ่มบริษัทดาว ได้ริเริ่มโครงการถนนพลาสติกรีไซเคิลมาแล้วในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย อินเดีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทางออกให้กับขยะพลาสติกที่รีไซเคิลได้ยาก ให้เกิดการนำกลับมาใช้ประโยชน์ รวมทั้งยังสร้างความตระหนักในด้านการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาได้ช่วยลดขยะเทียบเท่ากับบรรจุภัณฑ์พลาสติกกว่า 50 ล้านถุงแล้ว
โครงการถนนพลาสติกนี้เป็นประโยชน์อย่างมากต่อการก่อสร้างถนนซึ่งช่วยให้มีความแข็งแรงทนทานมากขึ้นกว่าการใช้ยางมะตอยตามปกติ และยังเป็นประโยชน์ต่อการจัดการขยะ เพราะช่วยนำพลาสติกเหลือใช้กลับมาใช้ประโยชน์และสร้างมูลค่า ช่วยลดปริมาณพลาสติกที่จะต้องถูกทิ้งเป็นขยะ
เป้าการทำงานด้านความยั่งยืนของ ดาว คือ หยุดขยะพลาสติกไม่ให้หลุดรอดออกสู่สิ่งแวดล้อม และเรารู้ดีว่า การร่วมมือกับหน่วยงานที่มีแนวคิดแบบเดียวกันจะสามารถเพิ่มผลกระทบเชิงบวกได้เป็นอย่างมาก กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย จึงมีความภาคภูมิใจที่ได้นำเทคโนโลยีนี้เข้ามาในประเทศไทยโดยร่วมมือกับเอสซีจี และยิ่งมีความยินดีที่กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท รวมทั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เห็นความสำคัญ และเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการอันจะสร้างโอกาสให้เกิดการขยายผล เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นกำลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนของพลาสติกอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อช่วยลดปัญหาขยะในประเทศไทยได้อย่างยั่งยืนต่อไป?
ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ?มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นมหาวิทยาลัยภูมิภาคแห่งแรกของประเทศไทย มุ่งสร้างผลกระทบเชิงบวกสู่ภาคประชาสังคม โดยมุ่งเน้นเป้าหมายการพัฒนาที่ยังยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals; SDG ) และพัฒนาสู่การเป็นเมืองต้นแบบอัจฉริยะ พลังงานสะอาด สร้างสภาพแวดล้อมที่ดี ส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือก ขยายผลสู่การพัฒนาชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัยและจังหวัดเชียงใหม่อย่างยั่งยืน
ตัวอย่างต้นแบบด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมหนึ่งของมหาวิทยาลัย คือ โครงการศูนย์บริหารจัดการชีวมวลครบวงจร เนื่องจากขยะมูลฝอยเป็นเหตุที่สำคัญประการหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม และมีผลกระทบต่อประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งนับเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องมีการจัดการอย่างเป็นระบบและถูกต้องตามหลักวิชาการ ทั้งนี้ ศูนย์บริหารจัดการชีวมวลครบวงจรได้ใช้เทคโนโลยีแบบบูรณาการ (Integrated Solid Waste Management) ที่เน้นการนำขยะมูลฝอยกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อเป้าประสงค์ของกระบวนการการจัดการขยะมูลฝอยแบบครบวงจรโดยปราศจากของเสีย (Zero Waste) ซึ่งสามารถนำไปขยายผลในหน่วยงานและชุมชนต่าง ๆ ได้ต่อไป นอกจากการแปรรูปขยะเป็นพลังงานทดแทน (Waste to Energy) ที่มหาวิทยาลัยประสบความสำเร็จในการดำเนินการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ริเริ่มโครงการนำขยะพลาสติกที่เหลือจากโรงคัดแยกขยะต้นแบบของมหาวิทยาลัย มาเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตแอสฟัลต์คอนกรีต เพื่อการก่อสร้างและซ่อมแซมโครงข่ายถนนในมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยได้ลงทุนในส่วนของห้องปฏิบัติการและโรงงานผลผลิตไปบางส่วนแล้ว
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความยินดีที่ทราบว่ากรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท ได้เล็งเห็นถึงปัญหาการจัดการขยะพลาสติกนี้เช่นกัน และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่พร้อมที่จะให้ความร่วมมือและสนับสนุนในด้านวิชาการและทำงานร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อจะส่งเสริมและผลักดันให้เกิดมาตรฐานถนนใหม่ที่มีส่วนผสมของขยะพลาสติก สำหรับประเทศไทยต่อไป?